New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 28 เม.ย. 68
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 28 เมษายน 2568 ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำไต้หวัน ได้ให้การต้อนรับ “Ms. Takaichi Sanae สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและอดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงความมั่นคงทางเศรษฐกิจแห่งชาติญี่ปุ่น และคณะตัวแทน รวม 6 คน” ที่มีกำหนดการเดินทางเยือนไต้หวันในช่วงระหว่างวันที่ 27 – 29 เมษายน 2568 โดยปธน.ไล่ฯ ได้แสดงความขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่แสดงจุดยืนเน้นย้ำความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันบนเวทีนานาชาติที่สำคัญหลายเวที พร้อมทั้งระบุว่า เมื่อเผชิญหน้ากับวิกฤตที่เกิดจาก “ระบบห่วงโซ่อุปทานสีแดง” (Red Supply Chain) ของจีน ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ปธน.ไล่ฯ คาดหวังที่จะเห็นทั้งสองฝ่ายเสริมสร้างความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ในด้านเซมิคอนดักเตอร์ พลังงานและเทคโนโลยี AI เป็นต้น ควบคู่ไปกับการสร้าง “ระบบห่วงโซ่อุปทานที่เป็นอิสระจากการพึ่งพาจีน” (Non – red Supply Chain) เพื่อยกระดับความทรหดทางเศรษฐกิจ และศักยภาพการแข่งขันทางอุตสาหกรรมแบบทวิภาคี
ระหว่างนี้ คณะตัวแทนมีกำหนดการเข้าร่วมกิจกรรมการแลกเปลี่ยนหลายรายการ ซึ่งก่อนหน้านี้ Ms. Sanae ได้เข้าร่วมแสดงปาฐกถาในการประชุมด้านการเมืองและเศรษฐกิจนานาชาติ ประจำปี 2568 ที่จัดขึ้นโดยคลังสมองในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก (Indo-Pacific Thinktank) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อมิตรภาพระหว่างไต้หวัน - ญี่ปุ่น นอกจากนี้ ปธน.ไล่ฯ ยังกล่าวอีกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างภาคประชาชนชาวไต้หวัน – ญี่ปุ่น เปรียบเสมือนพี่น้องในครอบครัวเดียวกัน ที่ไว้วางใจซึ่งกันและกันอย่างหนักแน่น ซึ่งนอกจากจะยึดมั่นในค่านิยมสากลด้านประชาธิปไตย เสรีภาพและสิทธิมนุษยชนร่วมกันแล้ว ยังมุ่งมั่นสร้างคุณูปการด้านสันติภาพและเสถียรภาพในระดับภูมิภาคให้คงอยู่อย่างยั่งยืนด้วยเช่นกัน
ปธน.ไล่ฯ แถลงว่า นับตั้งแต่ที่ตนขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นต้นมา ก็มุ่งเสริมสร้าง “ความยืดหยุ่นในการป้องกันประเทศของภาคประชาสังคม” อย่างกระตือรือร้น ควบคู่ไปกับการดำเนินการตาม “แผนปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ 4 มิติ” โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในระดับภูมิภาคและช่องแคบไต้หวัน ผ่านการยกระดับแสนยานุภาพทางกลาโหม การจัดตั้งความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การเสริมสร้างศักยภาพผู้นำความสัมพันธ์สองฝั่งช่องแคบไต้หวันที่มีเสถียรภาพและเป็นไปตามหลักการ ตลอดจนรวมไปถึงการกระชับความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนกับพันธมิตรด้านประชาธิปไตย อย่างเช่นญี่ปุ่น
ปธน.ไล่ฯ ระบุว่า ในอนาคต ไต้หวันจะมุ่งมั่นสวมบทบาทที่สำคัญในประชาคมโลก พร้อมอุทิศคุณูปการที่สำคัญ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับเชิญให้เข้าร่วม “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership, CPTPP) ภายใต้การสนับสนุนของคณะตัวแทน พร้อมร่วมลงนามใน“ความตกลงเชิงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ” (EPA) ระหว่างไต้หวัน – ญี่ปุ่น โดยเร็ววัน
Ms. Sanae ระบุว่า ทั้งไต้หวัน – ญี่ปุ่น ต่างก็เป็นประเทศที่ล้อมรอบด้วยมหาสมุทร ซึ่งต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตและปัญหาที่คล้ายคลึงกัน กลไกการส่งออกของญี่ปุ่นจำเป็นต้องพึ่งพาการขนส่งทางทะเล ด้วยเหตุนี้ หากพื้นที่รายรอบเกิดปัญหา ส่งผลให้เส้นทางการเดินเรือได้รับผลกระทบ จะมีส่วนเกี่ยวพันโดยตรงกับการดำรงอยู่ของญี่ปุ่น นอกจากนี้ พวกเรายังมีอีกหลายส่วนที่คล้ายคลึงกัน ทั้งการเผชิญหน้ากับความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงด้านพลังงาน หรือแม้กระทั่งการที่ระบบห่วงโซ่อุปทานได้รับผลกระทบที่เกิดจากภัยคุกคาม เป็นต้น
เมื่อกล่าวถึงความร่วมมือระหว่างไต้หวัน - ญี่ปุ่น Ms. Sanae กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องรักษาและเสริมสร้างความยืดหยุ่นของระบบห่วงโซ่อุปทาน ปธน.ไล่ฯ เคยกล่าวไว้ว่า จะมุ่งผลักดันให้ไต้หวันเป็นเกาะเทคโนโลยี AI เนื่องจากไต้หวันมีเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ที่ครองอันดับ 1 ของโลก ปธน.ไล่ฯ เชื่อว่า ไต้หวัน – ญี่ปุ่น สามารถเปิดบริบททางความร่วมมือกันในด้านต่างๆ มากมาย ทั้ง AI และเซมิคอนดักเตอร์ ควอนตัมคอมพิวเตอร์ อุตสาหกรรมที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งการทหารและภาคพลเรือน รวมไปถึงอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ อันจะนำไปสู่การจัดตั้งระบบห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่น หากเมื่อใดที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น พวกเราก็ยังสามารถมั่นใจได้ว่า จะยังคงสามารถรักษามาตรฐานการดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างไร้กังวล
Ms. Sanae กล่าวว่า ความร่วมมือทางกลาโหมก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน การประสานความร่วมมือระหว่างไต้หวัน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย รวมไปถึงกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันในทวีปยุโรป จะสามารถก่อเกิดเป็นเครือข่ายที่มั่นคงแข็งแกร่ง เพื่อเป็นหลักประกันในการรักษาความมั่นคงของพวกเรา ให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน
Ms. Sanae หวังว่าจะเห็นทั้งสองฝ่ายมุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์นอกภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง อาทิ การเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างเจ้าหน้าที่ การร่วมแบ่งปันทรัพยากรข้อมูล เพื่อที่เมื่อเกิดวิกฤต พวกเราจะสามารถเผชิญหน้าและรับมือร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในวันเดียวกันนี้ นายหลินเจียหรง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน ได้จัดเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อให้การต้อนรับคณะตัวแทนที่นำโดย Ms. Sanae พร้อมกล่าวแสดงความขอบคุณที่ Ms. Sanae กำหนดให้ “การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมกรอบความตกลง CPTPP และองค์การอนามัยโลก (WHO)” เข้าสู่วิสัยทัศน์นโยบายการเลือกตั้งในสภาพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party, LDP) ในช่วงระหว่างที่ Ms. Sanae ยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย นอกจากนี้ ยังได้ระบุว่า ไต้หวัน - ญี่ปุ่น มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างใกล้ชิด หากอ้างอิงจากรายงานการสำรวจความคิดเห็นของภาคประชาชนล่าสุด จะเห็นได้ว่า กว่าร้อยละ 70 ของภาคประชาชนชาวไต้หวัน – ญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดเท่าที่ได้มีการบันทึกเป็นต้นมา นอกจากนี้ รมว.หลินฯ ยังได้หยิบยกหลักการ “อินโด - แปซิฟิกที่มีเสรีและเปิดกว้าง” (FOIP) ที่ยื่นเสนอโดยอดีตนรม.อาเบะ ในการเรียกร้องให้ประชาคมโลกเฝ้าจับตาต่อสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ซึ่งปัจจุบันได้กลายมาเป็นเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ร่วมกันของกลุ่มพันธมิตรด้านประชาธิปไตย ซึ่งส่งผลกระทบในเชิงลึกต่อความมั่นคงในช่องแคบไต้หวัน โดยไต้หวันยินดีที่จะร่วมสร้าง “เกราะป้องกันประชาธิปไตย” กับพันธมิตรด้านประชาธิปไตยอย่างญี่ปุ่น และหวังที่จะจับมือกันสร้างความยืดหยุ่นของ “ระบบห่วงโซ่อุปทานที่เป็นอิสระจากการพึ่งพาจีน” เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ต่อไป
Ms. Sanae กล่าวว่า ไต้หวัน – ญี่ปุ่นมีความคล้ายคลึงกันทางการเมืองเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามที่เกิดจากการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ เช่นเดียวกัน จึงได้ยื่นเสนอว่า ไต้หวัน - ญี่ปุ่น ควรเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกัน ทั้งในด้านความมั่นคงทางอาหาร ระบบกักเก็บพลังงาน การวิจัยผลิตภัณฑ์ยาและความยืดหยุ่นของระบบห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้น ตลอดจนบูรณาการข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีทันสมัยของทั้งสองฝ่ายในด้านเซมิคอนดักเตอร์ ควอนตัมคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีอวกาศและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อสร้างความร่วมมือในรูปแบบที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันต่อไป