New Southbound Policy Portal

ปธน.ไล่ชิงเต๋อให้การต้อนรับคณะตัวแทนเจ้าหน้าที่แห่งพรรครีพับลิกันในสภาแอตแลนติก

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 2 พ.ค. 68
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนเจ้าหน้าที่แห่งพรรคริพับลิกันในสภาแอตแลนติก (The Atlantic Council)” ซึ่งเป็นคลังสมองของกรุงวอชิงตัน ดีซี โดยปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า ขณะนี้ ไต้หวันได้ยื่นเสนอแนวทางการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าในเชิงลึก ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ เพื่อมุ่งพิชิตเป้าหมายการลดทอนภาษีศุลกากรแบบทวิภาคี ขณะเดียวกัน พวกเราก็พุ่งเป้าไปที่การลงทุนในแต่ละพื้นที่มลรัฐของสหรัฐฯ โดยอาศัยกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าในรูปแบบ “ไต้หวัน + สหรัฐฯ” มาเอื้อผลประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย พร้อมกันนี้ ปธน.ไล่ฯ ยังเน้นย้ำว่า ไต้หวันนอกจากจะเป็นป้อมปราการด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพแล้ว ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ไม่สามารถขาดได้ในระบบห่วงโซ่อุปทานโลก จึงหวังที่จะเห็นไต้หวัน - สหรัฐฯ ร่วมสำแดงศักยภาพ “1+1 มากกว่า 2” ภายใต้พื้นฐานผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคง ทั้งนี้ เพื่อเป็นเกราะสนับสนุนที่แข็งแกร่งแก่กัน
 
ปธน.ไล่ฯ แถลงว่า ไต้หวันยืนอยู่แนวหน้าในพื้นที่ระยะห่วงโซ่ที่ 1 เมื่อเผชิญหน้ากับภัยคุกคามทางกลาโหมและกลยุทธ์พื้นที่สีเทา พวกเรายังคงสำแดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการปกป้องประเทศด้วยการพึ่งพาตนเองอย่างต่อเนื่อง พร้อมเน้นย้ำว่า ขณะนี้ ไต้หวันอยู่ระหว่างการผลักดันศักยภาพการทางกลาโหมในภาพรวมอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณพิเศษ เพื่อส่งเสริมให้งบประมาณกลาโหม เพิ่มสูงขึ้นในสัดส่วนร้อยละ 3 ของ GDP จากเดิมที่ร้อยละ 2.5% สิ่งเหล่านี้นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไต้หวันในการปกป้องประเทศแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในระดับภูมิภาคอีกด้วย
 
ปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า ไต้หวันได้จัดซื้อเครื่องบินรบ F-16V รูปแบบใหม่ล่าสุด จำนวน 66 ลำ จากสหรัฐฯในช่วงระหว่างที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำสหรัฐฯ สมัยแรก เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เครื่องบินรบลำแรกได้ถูกเปิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการในรัฐเซาท์แคโรไลนา ซึ่งนับว่ามีความสำคัญต่อไต้หวันในการพิชิตกลยุทธ์ “ศักยภาพนำมาซึ่งสันติภาพ” โดยในอนาคต พวกเราจะติดต่อขอซื้ออุปกรณ์ทางกลาโหมที่มีส่วนช่วยในการปกป้องสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันจากสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นทั้งสองฝ่ายเสริมสร้างความร่วมมือทางความมั่นคง พร้อมทั้งยกระดับความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนจาก “การอนุมัติจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์” ไปสู่ “การร่วมวิจัยและผลิต”  
 
ปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า ไต้หวันยึดมั่นในแนวคิดด้านความเท่าเทียม เสรีภาพและความสัมพันธ์ทางการค้าที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ซึ่งขณะนี้ ไต้หวันได้ยื่นเสนอแนวทางการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าในเชิงลึก ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ แล้ว อาทิ การวางเป้าหมายร่วมกันด้านการลดทอนภาษีศุลกากรแบบทวิภาคี ด้วยการจัดซื้อพลังงาน ผลผลิตทางการเกษตรและสินค้าเชิงอุตสาหกรรมต่างๆ จากสหรัฐฯ ทั้งนี้ เพื่อลดความไม่สมดุลทางการค้า ควบคู่ไปกับการขยายการลงทุนในมลรัฐต่างๆ ของสหรัฐฯ อาศัยมาตรการ “ไต้หวันบวกหนึ่ง” หรือกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าในรูปแบบ “ไต้หวัน + สหรัฐฯ” ในการจัดตั้ง “ระบบห่วงโซ่อุปทานที่เป็นอิสระจากการพึ่งพาจีน” อันจะนำไปสู่ผลประโยชน์ร่วมกันในภายภาคหน้าต่อไป
 
ปธน.ไล่ฯ เน้นย้ำว่า ขณะนี้ สหรัฐฯ กำลังมุ่งสร้างกระบวนการรื้อฟื้นอุตสาหกรรม (Reindustrialization) ซึ่งก็คือความหวังที่จะก้าวสู่การเป็นศูนย์การผลิตเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) แนวหน้าระดับโลก ซึ่งไต้หวันก็หวังที่จะเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าวด้วยเช่นกัน
 
Mr. Matthew Kroenig กล่าวขณะปราศรัยว่า การเดินทางเยือนไต้หวันในครั้งนี้ นับว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากสงครามในประเทศทวีปยุโรปยังคงยืดเยื้อ ประกอบกับสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่เกิดการปะทุขึ้นอย่างต่อเนื่อง บวกกับพฤติกรรมการรุกรานของรัฐบาลจีนในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ จีน รัสเซีย อิหร่านและเกาหลีเหนือ ต่างก็สร้างความเชื่อมโยงกันในการก้าวสู่แกนหลักสำคัญในการรุกราน จึงจะเห็นได้ว่า ความท้าทายที่สหรัฐฯ และบรรดามิตรประเทศและหุ้นส่วนสำคัญที่รวมถึงไต้หวัน กำลังเผชิญอยู่ คือการแสวงหาแนวทางสกัดกั้นอิทธิพลจากอำนาจเผด็จการเหล่านี้ ควบคู่ไปกับการธำรงรักษาสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรืองและเสรีภาพในระดับสากล โดยเฉพาะความมั่นคงและเสถียรภาพของไต้หวัน นอกจากจะมีความสำคัญในระดับประเทศแล้ว ยังมีความสำคัญต่อสหรัฐฯ และทั่วโลกอีกด้วย
 
Mr. Kroenig ได้แสดงจุดยืนหนักแน่นว่าต่อปธน.ไล่ฯ และภาคประชาชนชาวไต้หวันว่า สหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้ของไต้หวัน รัฐบาลทรัมป์จะกำหนดให้การสกัดกั้นอิทธิพลจากจีน บัญญัติเข้าสู่นโยบายที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ นอกจากนี้ ระยะที่ผ่านมา ปธน.ทรัมป์ ได้ประกาศอัดฉีดงบประมาณจำนวนล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าสู่งบประมาณกลาโหม เพื่อให้การสนับสนุนนโยบายข้างต้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นงบประมาณกลาโหมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของสหรัฐฯ
 
Mr. Kroenig ระบุว่า รัฐบาลทรัมป์ที่ยึดมั่นในหลักการ “สหรัฐฯ มาก่อน” จะไม่ช่วยพยุงประเทศที่ไม่ช่วยเหลือตนเอง คณะตัวแทนต่างรู้สึกชื่นชมต่อการที่ปธน.ไล่ฯ และรัฐบาลไต้หวันประยุกต์ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งการยกระดับงบประมาณกลาโหม การเสริมสร้างความยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคม และการประยุกต์ใช้ระบบอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีล้ำสมัยในการผลักดันการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ทางกลาโหม ภายในประเทศ
 
Mr. Kroenig ชี้แจงว่า เมื่อเผชิญหน้ากับประเทศเพื่อนบ้านที่มีอำนาจและเลือดเย็น การที่มีทุนทรัพย์และอาวุธ ไม่เพียงพอต่อการปกป้องไว้ซึ่งประชาธิปไตย ประวัติศาสตร์ย้ำเตือนให้เราตระหนักเห็นว่า “มนุษย์” ต่างหากที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ ความมุ่งมั่นตั้งใจของภาคประชาชนชาวไต้หวันในการรับมือกับแรงกดดันและการร่วมปกป้องประเทศชาติ เป็นตัวกำหนดของชะตาชีวิตในอนาคตของไต้หวัน และเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดชะตาชีวิตด้วยตนเองของภาคประชาชนชาวไต้หวัน สหรัฐฯ ยินดีให้การสนับสนุนไต้หวัน แต่ถึงกระนั้น ผู้ที่ยืนอยู่แนวหน้าในการรับมือกับแรงกดดันเหล่านี้ คือภาคประชาชนชาวไต้หวันและผู้นำไต้หวัน โดยสหรัฐฯ จะเป็นเกราะให้การสนับสนุนที่แข็งแกร่งแก่ไต้หวันอย่างต่อเนื่องต่อไป