New Southbound Policy Portal

ขอเชิญชวนคุณร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ท้องทะเลด้วยภาษาแม่ ผ่านการส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดในแคมเปญ Ocean Challenge ประจำปี 2568

คณะกรรมการกิจการทางทะเล วันที่ 7 พ.ค. 68

กิจกรรมการประกวดในชื่อแคมเปญ Ocean Challenge ประจำปี 2568 เปิดรับสมัครผลงานแล้ว ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2568 โดยในปีนี้ได้ก้าวข้ามกรอบจำกัดด้านภาษา ด้วยการเปิดรับสมัครผลงานภาษาแม่จากกลุ่มเยาวชนในช่วงอายุ 12 – 35 ปี ไม่ว่าคุณจะมาจากที่ใด พูดภาษาอะไร เพียงแค่มีใจรักท้องทะเล ก็สามารถร่วมเป็นนักส่งเสริมความยั่งยืนของระบบนิเวศทางท้องทะเลได้
 
เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนนำเสนอจินตนาการหรือคำมั่นสัญญาที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนทางทะเล ในรูปแบบที่จริงใจและเป็นธรรมชาติ กิจกรรมในปีนี้จึงได้เปิดรับสมัครผลงานที่ไม่มีกรอบจำกัดทางภาษา หรือภูมิหลังทางวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นทุกคนมีโอกาสเข้าร่วมเท่าเทียมกัน โดยแคมเปญครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่ประเด็นใน 3 มิติหลัก ได้แก่ “การรักษาความสะอาดของท้องทะเล” (Clean Ocean) “ความมั่นคงทางทะเล” (Safe Ocean) และ “การใช้ประโยชน์จากท้องทะเลอย่างชาญฉลาด” (Smart Utilization of the Ocean) เพื่อเข้าชิงเงินรางวัลรวมสูงสุด 500,000 เหรียญไต้หวัน จึงขอเชิญชวนให้เยาวชนผู้สนใจร่วมบอกเล่าอนาคตสีฟ้าในอุดมคติ ด้วยการส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้
 
คณะกรรมการกิจการทางทะเลไต้หวัน (Ocean Affairs Council, OAC) แถลงว่า คุณสมบัติด้านภาษามิใช่หนึ่งในเกณฑ์วัดในการเข้าร่วมแผนปฏิบัติการนานาชาติ จึงหวังที่จะเห็นเยาวชนที่มาจากภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่ต่างกัน อาศัยรูปแบบภาษาที่คุ้นเคยในการแสดงออกซึ่งวิสัยทัศน์ทางทะเลด้วยความจริงใจ อันจะนำไปสู่การเชื่อมโยงเยาวชนทั่วโลกในการร่วมระดมสมอง เพื่อสรรสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้แก่ท้องทะเล
 
กิจกรรมในปีนี้ยังได้เปิดตัวแพลตฟอร์มเชิงการสร้างปฏิสัมพันธ์ ภายใต้ชื่อ “บ่ออธิษฐานเพื่อท้องทะเลที่สวยงาม” โดยทีมที่เข้าร่วมนอกจากจะต้องยื่นเสนอแผนโครงการ (Proposal) อย่างต่ำ 6 หน้ากระดาษและผลงานวีดิทัศน์ในการนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ ในเวลา 3 นาทีแล้ว ยังสามารถร่วมอธิษฐานความคาดหวังหรืออุดมคติที่มีต่อท้องทะเล โดยความหวังเหล่านี้อาจได้รับโอกาสที่หน่วยงานเจ้าภาพจะนำไปแสวงหาหนทางเพื่อทำให้เป็นจริง
 
แคมเปญ Ocean Challenge ริเริ่มเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 ตราบจนปัจจุบัน สามารถดึงดูดเยาวชนนับพันคนจาก 24 ประเทศทั่วโลกให้ความสนใจเข้าร่วม ซึ่งนอกจากจะเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมแผนข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ท้องทะเล อันเป็นที่รู้จักในหมู่เยาวชนแล้ว ยังเป็นการแผ่ขยายอิทธิพลไปสู่ระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่องอีกด้วย