New Southbound Policy Portal

ปธน.ไล่ชิงเต๋อให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าวนิกเกอิ (Nikkei News) ของญี่ปุ่น

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 13 พ.ค. 68
 
เมื่อช่วงที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำไต้หวันได้ให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าวนิกเกอิ (Nikkei News) โดยปธน.ไล่ฯ ได้ตอบข้อซักถามของสื่อในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – ญี่ปุ่น , ไต้หวัน - สหรัฐฯ และความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน รวมไปถึงอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น โดยบทสัมภาษณ์ได้รับการตีพิมพ์จากสำนักข่าวนิกเกอิ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา
 
ต่อประเด็นการค้าเสรีและสงครามภาษีศุลกากร ปธน.ไล่ฯ ระบุว่า ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีในกลุ่มประเทศซีกโลกตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ ได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางการเมืองให้แก่ไต้หวัน – ญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน พวกเราก็ได้เรียนรู้และดำเนินการตามหลักการค่านิยมของโลกตะวันตก
 
ปธน.ไล่ฯ แสดงทรรศนะว่า ทั้งไต้หวันและญี่ปุ่น ล้วนแต่เป็นประเทศต้นแบบของประเทศประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นวิกฤตที่สุด ณ ขณะนี้คือ การที่รัฐบาลจีนฉกฉวยโอกาสในระบบการค้าเสรี เพื่อเข้าทำการลอกเลียนแบบ และละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา หรือแม้กระทั่งการอัดฉีดเงินอุดหนุนจำนวนมหาศาล เพื่อส่งเสริมให้สินค้าถูกจำหน่ายไปสู่ตลาดโลกด้วยราคาที่ต่ำกว่ามาตรฐานของท้องตลาดทั่วไป ส่งผลกระทบรุนแรงต่อหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงไต้หวันและญี่ปุ่นด้วย การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมเช่นนี้ หากมิได้รับการแก้ไข เกรงว่าอาจส่งผลกระทบต่อสังคมที่มีเสถียรภาพ ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งการถูกบ่อนทำลายของค่านิยมบางประการ ที่พวกเรามุ่งมั่นร่วมสร้างกันมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี ซึ่งเมื่อระยะที่ผ่านมา พฤติกรรมของรัฐบาลสหรัฐที่รุกเผชิญหน้ากับระบบการค้าที่ไม่เป็นธรรม ถือเป็นแนวทางที่พวกเราสามารถเฝ้าติดตาม และหากจำเป็น พวกเราก็ควรประสานความร่วมมือในการส่งมอบความช่วยเหลือ
 
ปธน.ไล่ฯ เน้นย้ำว่า แผนกลยุทธ์ทางอุตสาหกรรมระดับชาติของไต้หวัน คือ “วางรากฐานที่มั่นคงในไต้หวัน แผ่ขยายไปสู่ประชาคมโลก ประชาสัมพันธ์สู่เวทีนานาชาติ” แม้ว่าการถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 32% ตามมาตรการภาษีศุลกากรต่างตอบแทน จะสร้างความท้าทายต่อไต้หวันอย่างยิ่งยวด แต่พวกเรายินดีที่จะเผชิญหน้ารับมือด้วยสติ เพื่อแสวงหาโอกาสจากวิกฤตข้างต้น ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้แผนกลยุทธ์ทางอุตสาหกรรมระดับชาติ มุ่งพัฒนาไปสู่ทิศทางที่ครอบคลุมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
 
เมื่อกล่าวถึงการวางรากฐานทางการค้าของไต้หวัน ปธน.ไล่ฯ ชี้แจงว่า ในปี 2553 ยอดเงินลงทุนของไต้หวันที่มีต่อต่างประเทศ กว่าร้อยละ 83.8% อยู่ที่จีน แต่ในปีที่แล้ว คงเหลือเพียง 7.5% ประกอบกับสัดส่วนการส่งออกไปสู่จีน ก็ลดลงร้อยละ 43.9% จากในปี 2563 มาสู่ร้อยละ 31.7% ในปี 2567 โดยรัฐบาลได้ชักจูงให้ผู้ประกอบการไต้หวัน โยกย้ายฐานธุรกิจไปสู่ญี่ปุ่น ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทวีปยุโรปและสหรัฐฯ อย่างมีระบบระเบียบ เพราะฉะนั้นเมื่อปีที่แล้ว ประเทศที่ไต้หวันเข้าลงทุนในมูลค่ามากที่สุดคือสหรัฐฯ ที่ครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 40 แต่ถึงกระนั้น สินค้าจากไต้หวันที่ส่งออกสู่สหรัฐฯ กลับครองสัดส่วนเพียง 23.4% ในขณะที่ร้อยละ 76.6% ได้ส่งออกไปสู่ประเทศ / เขตพื้นที่อื่น ที่นอกเหนือจากสหรัฐฯ
 
ปธน.ไล่ฯ เน้นย้ำว่า พวกเราหวังที่จะแผ่ขยายรากฐานธุรกิจไปสู่ทั่วโลก จึงมีความประสงค์ที่จะประสานความร่วมมือกับญี่ปุ่น ภายใต้ช่วงเวลาสำคัญเช่นนี้ กลุ่มประเทศในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก และประชาคมโลก ล้วนต้องการได้รับอานิสงส์จากบทบาทผู้นำของญี่ปุ่น โดยเฉพาะการผลักดันให้ “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership, CPTPP) สำแดงประสิทธิผลในทิศทางเชิงรุก พร้อมกันนี้ ปธน.ไล่ฯ ยังได้เรียกร้องให้ญี่ปุ่นให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมกรอบ CPTPP อย่างหนักแน่นและกระตือรือร้น
 
ปธน.ไล่ฯ ยังหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเปิดการเจรจาร่วมลงนามใน “ความตกลงเชิงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ” (EPA) ระหว่างไต้หวัน – ญี่ปุ่น โดยเร็ววัน เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนแบบทวิภาคี นับวันยิ่งดำเนินไปอย่างแนบแน่นมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ พวกเรายังหวังที่จะมุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป (EU) หรือแม้กระทั่งภูมิภาคต่างๆ ซึ่งขณะนี้ ได้มีการยื่นเสนอ "โครงการริเริ่มห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ประชาธิปไตยระดับโลก" (Global Semiconductor Democratic Supply Chain Partnership Initiative) โดยพวกเราหวังที่จะอาศัยข้อได้เปรียบทางศักยภาพการผลิตของไต้หวัน บูรณาการเชื่อมโยงเข้ากับข้อได้เปรียบของพันธมิตรประชาธิปไตยทั่วโลก ในการร่วมจัดตั้ง “ระบบห่วงโซ่อุปทานด้านเซมิคอนดักเตอร์โลก ที่เป็นอิสระจากการพึ่งพาจีน” ทั้งนี้ เพื่อสร้างหลักประกันด้านการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองระดับโลกในอีกก้าว อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ระบบการค้าเสรี ยังคงสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่ต้องได้รับผลกระทบจากกลยุทธ์วิธีการทุ่มตลาดด้วยราคาถูกจากจีน
 
เมื่อเผชิญหน้ากับแรงกดดันจากจีน ภายใต้สถานการณ์ที่ไต้หวันมุ่งแสวงหาช่องทางการเข้าร่วม CPTPP หรือการเจรจาลงนาม EPA กับญี่ปุ่น ปธน.ไล่ฯ กล่าวตอบรับว่า ขึ้นอยู่กับว่าพวกเราจะยึดมั่นในทัศนคติเช่นไรในการตอบสนอง ซึ่งพวกเราเลือกที่จะยึดมั่นในแนวคิดระบบการค้าเสรี หรือภายใต้พื้นฐานค่านิยมสากลด้านประชาธิปไตย เสรีภาพและสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกัน พวกเราก็เชื่อว่า การลงนามความตกลงทางการค้าแบบทวิภาคี จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ และหากการเข้าร่วม CPTPP ของไต้หวัน มีส่วนช่วยในการพัฒนาความก้าวหน้าและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ปธน.ไล่ฯ ก็หวังที่จะได้รับการสนับสนุนจากบรรดามิตรประเทศอย่างเต็มกำลัง
 
เมื่อกล่าวถึงนโยบาย “มาตรการภาษีศุลกากรต่างตอบแทน” ที่ยื่นเสนอโดยรัฐบาลทรัมป์ และเจตนารมณ์ในการเรียกเก็บภาษีเซมิคอนดักเตอร์ รวมไปถึงแนวทางการรับมือของไต้หวัน ปธน.ไล่ฯ แถลงว่า ตนได้รวบรวมเจตนารมณ์ของปธน.ทรัมป์ จากเนื้อหาบทสัมภาษณ์ของผู้นำและคณะรัฐบาลของสหรัฐฯ หลังจากที่ปธน.ทรัมป์ ขึ้นดำรงตำแหน่งในสมัยที่ 2 ดังนี้ : ประการแรกคือต้องการแก้ไขปัญหาด้านการคลัง ประการที่สองคือ สหรัฐฯ สัมผัสได้ถึงภัยคุกคามจากจีน จึงคิดเห็นว่า จำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมอย่างเร่งด่วน หากไม่สามารถทำได้ ศักยภาพทางอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ในตอนนี้ เมื่อเทียบกับจีน จะเห็นได้ว่า มีความเหลื่อมล้ำปรากฎขึ้นแล้ว  ประการที่สามคือ ท่ามกลางยุคกระแสอัจฉริยะ ปธน.ทรัมป์ ต้องการนำพาประเทศชาติก้าวสู่ศูนย์รวม AI โลก ส่วนประการสุดท้ายคือ ปธน.ทรัมป์ต้องการส่งเสริมสันติภาพในระดับโลก โดยไม่ต้องการให้เกิดภัยสงครามขึ้น สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ปธน.ทรัมป์ จัดเพิ่มภาษีศุลกากร พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประเทศคู่ค้าจัดซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ ในสัดส่วนเพิ่มขึ้น ตลอดจนเรียกร้องให้มิตรประเทศทั่วโลก เข้าลงทุนในสหรัฐฯ เพื่อพิชิตเป้าหมายข้างต้น
 
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมไต้หวันล้วนแต่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีข้างต้น รัฐบาลไต้หวันนอกจากจะแก้ปัญหาข้างต้นด้วยการเปิดการเจรจาในการขอลดทอนอัตราภาษี และหวังที่จะแสวงหาโอกาสในวิกฤตความท้าทายครั้งนี้แล้ว ยังได้ยื่นเสนอ “โครงการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม” ในมูลค่ารวม 93,000 ล้านเหรียญไต้หวัน อีกทั้งยังได้มีการจัดสรรงบประมาณพิเศษในมูลค่า 410,000 ล้านเหรียญไต้หวัน ซึ่งได้รับการลงมติเห็นชอบจากสภาบริหารแล้ว และจะส่งไปให้สภานิติบัญญัติทำการพิจารณาต่อไป ซึ่งงบประมาณข้างต้นนี้ประกอบด้วย 4 แง่มุมหลัก ได้แก่ การสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม การสร้างเสริมเสถียรภาพในการประกอบอาชีพ การดูแลวิถีชีวิตภาคประชาชน และการเสริมสร้างความยืดหยุ่นในภาคประชาสังคม
 
ส่วนประเด็นเรื่องภาษีไมโครชิปนั้น ปธน.ไล่ฯ เผยว่า บริษัท TSMC ได้ให้คำมั่นแล้วว่า จะเข้าลงทุนในสหรัฐฯ อันเนื่องมาจากความต้องการของฐานลูกค้า เชื่อว่า ระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมของ TSMC ก็จะพ่วงตามไปด้วยเช่นกัน หากว่าสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการภาษีรายสินค้าตามมาตรา 232 ต่อไต้หวัน ในการเรียกเก็บภาษีอุตสาหกรรมไมโครชิปและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าจะไม่เป็นผลดีต่อการเข้าลงทุนในสหรัฐฯ ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศของไต้หวัน ซึ่งในส่วนนี้ พวกเราจะทำการชี้แจงต่อสหรัฐฯ อย่างชัดแจ้งอีกทีในภายหลัง
 
ปธน.ไล่ฯ ระบุว่า สินค้าหลักที่ไต้หวันส่งออกไปยังสหรัฐฯ แบ่งออกเป็น 2 ปะเภทหลัก ได้แก่ สินค้าประเภทเทคโนโลยีสารสนเทศ และชิ้นส่วนอะไหล่อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญอันเป็นที่ต้องการของบริษัทออกแบบเทคโนโลยี AI อย่าง NVIDIA , AMD , Amazon , Google และ Apple นอกจากนี้ พวกเรายินดีที่จะจัดสรรงบประมาณทางกลาโหมและการจัดซื้อทางทหารเพิ่มเติม เนื่องจากไต้หวันมีความมุ่งมั่นในการปกป้องประเทศด้วยตนเอง และมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการประสานความร่วมมือกับบรรดามิตรประเทศทั่วโลก เพื่อสร้างหลักประกันทางสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค ให้คงอยู่ต่อไป
 
สื่อซักถามว่า การก่อสร้างสถานประกอบการในต่างประเทศของ TSMC จะส่งผลให้สถานภาพเชิงยุทธศาสตร์ของไต้หวันในฐานะศูนย์กลางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ อ่อนแรงลงหรือไม่ และจะส่งผลให้แรงจูงใจในการร่วมปกป้องไต้หวันของนานาประเทศทั่วโลก ลดลงหรือไม่ ปธน.ไล่ฯ ชี้แจงว่า ความห่วงใยที่ประชาคมโลกมีต่อไต้หวัน และการสนับสนุนสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน เป็นผลอันเนื่องมาจากการที่ไต้หวันตั้งอยู่ในพื้นที่ระยะห่วงโซ่ที่ 1 ในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ที่ต้องเผชิญหน้ากับจีน โดยตรง หากไต้หวันไม่สามารถรักษาให้คงอยู่ไว้ได้ ความทะเยอะทะยานของจีนที่มีต่อกลุ่มประเทศในภูมิภาค ก็จะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขี้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานกฎกติกาสากล
 
ต่อกรณีที่สื่อซักถามว่า ไต้หวัน – ญี่ปุ่น สวมบทบาทเช่นไรในระหว่างที่จีน - สหรัฐฯ เกิดความขัดแย้งที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความแกร่งกล้า จึงหวังที่จะเห็นญี่ปุ่นก้าวออกมาสวมบทบาทผู้นำในระหว่างสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ เชื่อว่า กลุ่มประเทศในภูมิภาคต่างก็ยินดีที่จะขานรับต่อแนวคิดดังกล่าว โดยปธน.ไล่ฯ คิดเห็นว่า เราสามารถประสานความร่วมมือกันในแง่มุมต่างๆ ดังนี้ : (1) ประชาธิปไตยและสันติภาพ (2) ความเจริญรุ่งเรืองทางนวัตกรรม และ (3) ความเป็นธรรมที่ยั่งยืน
 
เมื่อเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากประเทศลัทธิอำนาจนิยม พวกเราควรมุ่งประสานความร่วมมือกันในด้านนวัตกรรม อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค ควบคู่ไปกับการจับมือกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ในประชาคมโลก อาทิ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เพื่อพิชิตสู่เป้าหมาย “การเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2593”
 
ในประเด็นที่ว่า หวังที่จะให้สหรัฐฯ สวมบทบาทเป็นแกนนำระบอบประชาธิปไตยและเสรีภาพต่อไปหรือไม่นั้น ปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า แม้ว่าสหรัฐฯ – ไต้หวัน จะยุติความสัมพันธ์ทางการทูตลงอย่างเป็นทางการ แต่ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีมานี้ สหรัฐฯ ก็ได้ส่งมอบความช่วยเหลือให้ไต้หวันในด้านต่างๆ บนพื้นฐาน “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” และ “หลักประกัน 6 ประการ” ซึ่งที่ผ่านมา ไต้หวันก็ได้รับอานิสงส์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากสหรัฐฯ ทั้งในด้านการเมือง ประชาธิปไตยและความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น จุดยืนของไต้หวันคือหวังที่จะเห็นสหรัฐฯ สวมบทบาทผู้นำโลกอย่างแกร่งกล้าอย่างต่อเนื่องสืบไป
 
สำหรับประเด็นที่รัฐบาลสหรัฐฯ วิเคราะห์ว่า จีนพร้อมที่จะเข้ารุกรานไต้หวัน ภายในปี 2570 ปธน.ไล่ฯ ตอบว่า ไต้หวันในฐานะที่เป็นประเทศที่ถูกคุกคามและได้รับการรุกรานมาโดยตลอด พวกเราจำเป็นต้องเตรียมการให้พร้อมเสมอต่อสถานการ์ณที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งปธน.ไล่ฯ ได้ยื่นเสนอแผนปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ 4 มิติ ประกอบด้วย (1) เสริมสร้างศักยภาพทางกลาโหม (2) เสริมสร้างความทรหดทางเศรษฐกิจ (3) การจับมือกับบรรดามิตรประเทศและพันธมิตรประชาธิปไตย อย่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ในการสำแดงให้เห็นถึงศักยภาพการสกัดกั้น เพื่อป้องกันมิให้จีนทำการตัดสินใจที่ผิดพลาด (4) พวกเรายินดีที่จะเปิดการแลกเปลี่ยนและร่วมมือกับจีน สร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันในสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ภายใต้พื้นฐานของการเคารพศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน