New Southbound Policy Portal

การนำคณะตัวแทนเดินทางเข้าร่วมการประชุม SelectUSA ของเลขาธิการสภาบริหารไต้หวัน ปิดฉากลงอย่างราบรื่น

สภาบริหาร วันที่ 14 พ.ค. 68
 
เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 ตามเวลาในเขตตะวันออกของสหรัฐฯ นายกงหมิงซิน เลขาธิการสภาบริหารไต้หวัน ได้เดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ดีซี เพื่อเข้าร่วม “การประชุม SelectUSA Investment Summit” โดยเลขากงฯ กล่าวว่า การเข้าร่วมในครั้งนี้ได้รับข้อคิดและอานิสงส์มากมาย ซึ่งนอกจากจะร่วมแลกเปลี่ยนและสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ที่มาเข้าร่วมแล้ว ยังได้เข้าพบปะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานสภาบริหารและสมาชิกรัฐสภาของสหรัฐฯ เพื่อชี้แจงให้เห็นว่า SelectUSA เป็นเวทีที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ด้วยวิธีการที่เป็นรูปธรรม
 
การประชุมเสวนารอบแรกหลังเสร็จสิ้นพิธีเปิดการประชุม SelectUSA ประจำปีนี้ มี Ms. Kelly Loeffler ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของสหรัฐฯ (U.S. Small Business Administration, SBA) ทำหน้าที่เป็นประธานในพิธีฯ โดยมีผู้เข้าร่วมบรรยายที่ประกอบด้วย ตัวแทนภาคธุรกิจที่มาจากบริษัทเมอร์เซเดส-เบนซ์ (Mercedes-Benz) ของเยอรมนี บริษัทซีเมนส์ (Siemens) และบริษัท GlobalWafers โดยเลขากงฯ กล่าวว่า นี่เป็นสัญญาณอันดีที่สื่อให้เห็นว่า ความมุ่งมั่นในการรุกขยายรากฐานการลงทุนสู่สหรัฐฯ ของผู้ประกอบการไต้หวัน ได้รับการมองเห็นและให้ความสำคัญจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ แล้ว พร้อมกันนี้ เลขากงฯ ยังได้ระบุว่า มีผู้ประกอบการไต้หวันหลายรายที่ได้ประกาศแผนการลงทุนรูปแบบใหม่ในสหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้ จึงหวังที่จะเห็นวุฒิสภาสหรัฐฯ ลงมติเห็นชอบญัตติกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าด้วยการหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีซ้ำซ้อน ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ โดยเร็ววัน ซึ่งนอกเหนือจากการลงทุนแล้ว ไต้หวันยังได้เพิ่มการจัดซื้อจากสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมให้เกิดดุลการค้าที่สมดุลแบบทวิภาคี นอกจากนี้ เลขากงฯ ยังได้ชี้ชัดจุดยืนต่อเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ว่า ยิ่งสหรัฐฯ แข็งแกร่งมากขึ้นเพียงใด ไต้หวันก็ยิ่งมีความมั่นคงปลอดภัยเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน หากไต้หวันยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้นเพียงใด ก็จะยิ่งสามารถบรรเทาภาระของสหรัฐฯ ไปได้มากขึ้นเท่านั้น จึงหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นทั้งสองฝ่ายมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือกันในการส่งเสริมให้เกิดความยิ่งใหญ่ต่อไป
 
ในส่วนของความร่วมมือที่เปี่ยมศักยภาพ ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ เลขากงฯ กล่าวว่า หลังจากที่สงครามการค้าสหรัฐฯ - จีน ปะทุขึ้นในปี 2561 ส่งผลให้ทั่วโลกทำการปรับโครงสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานขึ้นใหม่ โดยผู้ประกอบการไต้หวันได้กลับเข้าสู่การลงทุนภายในประเทศ หรือโอนฐานธุรกิจไปสู่กลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากนั้นไม่นาน ทั่วโลกก็ประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ซึ่งก็ทำการปรับโครงสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานให้มีความยืดหยุ่น ตามการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ เลขากงฯ หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจโลก และความทรหดของระบบห่วงโซ่อุปทาน ได้รับการยกระดับเพิ่มขึ้นในวาระสมัยที่ 2 ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาทิ การจัดตั้ง “ระบบห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสำคัญที่เป็นอิสระจากการพึ่งพาจีน” รวมไปถึงการควบคุมการส่งออก การป้องกันการขนถ่ายสินค้าโดยผิดกฎหมาย เป็นต้น ซึ่งไต้หวันสามารถสวมบทบาทสำคัญในการประสานความร่วมมือกับฝ่ายเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ
 
เลขากงฯ แถลงว่า รัฐบาลสหรัฐฯ หวังที่จะฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้สหรัฐฯ ผงาดขึ้นอย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง เชื่อว่าไต้หวันจะสามารถสวมบทบาทในการช่วยสนับสนุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่มีเงื่อนไขที่ว่า ภาคธุรกิจของไต้หวันต้องได้รับโอกาสในการเข้าแข่งขันอย่างเป็นธรรมในเวทีนานาชาติ ควบคู่ไปกับการที่ระบบเศรษฐกิจของไต้หวัน จะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พวกเราจึงจะมีความสามารถในการเข้าลงทุนและจัดซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ ได้อย่างยั่งยืน จึงหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นรัฐบาลสหรัฐฯ นำปัจจัยข้างต้นพิจารณาเข้าสู่การกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นการลบล้างการปล่อยข่าวโคมลอยของผู้ที่ไม่ประสงค์ดี ตลอดจนคาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นการเจรจาด้านภาษี ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ บังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดี
 
ในระหว่างนี้ เลขากงฯ ยังได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ ระหว่างนายลวี่จี๋เฉิง ประธานสมาคมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไต้หวัน และ Mr. Rupert Hammond-Chambers ประธานสภาธุรกิจ สหรัฐฯ - ไต้หวัน (U.S.-Taiwan Business Council) โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นทั้ง 2 หน่วยงานข้างต้นร่วมกันผลักดันความสัมพันธ์ทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป