New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 20 พ.ค. 68
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำไต้หวัน ได้แสดงสุนทรพจน์เนื่องในวาระครบรอบ 1 ปีของการบริหารปกครองประเทศชาติ โดยระบุว่า ไต้หวันในขณะนี้ ได้พัฒนามาเป็นไต้หวันของประชาคมโลกแล้ว ไม่ว่าจะด้านการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสากล การบริหารจัดการในระบบห่วงโซ่อุปทานนานาชาติ การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและการค้าโลก กิจการความมั่นคงในระดับภูมิภาค ไต้หวันต่างก็สวมบทบาทที่สำคัญที่ไม่สามารถขาดได้ในประชาคมโลก
ปธน.ไล่ฯ แถลงว่า รัฐบาลจะจัดตั้งกองทุนส่งเสริมศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจไต้หวัน โดยได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ ริเริ่มทำการวางแผน และจัดเรียบเรียง “รายงานสถานการณ์ความมั่นคงแห่งชาติที่สำคัญ” เพื่อยื่นส่งต่อพรรคฝ่ายค้าน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นผู้นำพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน มุ่งเป้าไปที่ผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก และยึดมั่นในการดำเนินภารกิจการปกป้องความมั่นคงแห่งชาติเป็นจุดตั้งต้น ตลอดจนจับมือกันเผชิญหน้ากับความท้าทายประการต่างๆ ต่อไป
สุนทรพจน์ของปธน.ไล่ฯ มีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้ :
วัตถุประสงค์ของรัฐบาลคือการดูแลและให้บริการภาคประชาชน ปธน.ไล่ฯ ขอใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อภาคประชาชนชาวไต้หวัน ที่มอบหมายภาระหน้าที่อันสำคัญนี้ให้แก่ตน ในปีที่แล้วของวันนี้ ปธน.ไล่ฯ ได้ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งความรับผิดชอบที่สำคัญ ในการนำพาประเทศชาติก้าวไปข้างหน้า
เมื่อเผชิญหน้ากับความท้าทาย 3 ประการสำคัญที่ทั่วโลกเฝ้าจับตาและส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนโดยตรง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมสุขภาพ และความยืดหยุ่นในภาคประชาสังคม ปธน.ไล่ฯ จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการ 3 ชุดขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อแบกรับภาระหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งตราบจนปัจจุบัน ได้บังเกิดผลสัมฤทธิ์ตามขั้นตอนแล้ว
พวกเราเชื่อมโยงสู่โลกนานาชาติ ด้วยการรวบรวมโครงการที่ยื่นเสนอจากแต่ละหน่วยงาน ตามหลักการ “จากระดับล่างขึ้นสู่ระดับบน” ไปสู่การบูรณาการโดย “คณะทำงานด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของสภาบริหาร”ตามหลักการ “จากระดับบนลงสู่ระดับล่าง” ซึ่งนำเสนอออกมาในรูปแบบโครงการต้นแบบการลดก๊าซเรือนกระจก รวม 20 รายการ ใน 6 หน่วยงานหลัก คาดการณ์ว่า ตราบจนปี 2573 รัฐบาลจะอัดฉีดงบประมาณเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในจำนวนมูลค่า 1 ล้านล้านเหรียญไต้หวัน ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนประสิทธิภาพทางการเงินสีเขียวของภาคประชาชน เพื่อพิชิตเป้ามูลค่า 5 ล้านล้านเหรียญไต้หวันเป็นอย่างต่ำ ทั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายใหม่ในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกระดับประเทศ มาสู่ร้อยละ 38 บวกลบ 2
ในปัจจุบัน คุณภาพอากาศของไต้หวันได้รับการปรับปรุงแก้ไขแล้ว ค่าความเข้มข้นโดยเฉลี่ยของ PM 2.5 ลดลงจาก 21.82 ในปี 2558 มาสู่ 12.8 ในปัจจุบัน ประกอบกับ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ไต้หวันได้ประกาศบังคับใช้มาตรการระบบการจัดเก็บภาษีคาร์บอนอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป้าหมายของพวกเรามีความชัดเจน และมีเสถียรภาพในทุกย่างก้าว เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ในการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 ด้วยกลยุทธ์ที่มีความยืดหยุ่น ทั้งนี้ เพื่อร่วมแสวงหาการเติบโตที่ยั่งยืน และการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองไปพร้อมกับประชาคมโลก
ขณะเดียวกัน เพื่อรับมือกับความท้าทายในยุคสมัยหลังสถานการณ์โรคโควิด – 19 ปธน.ไล่ฯ ได้มอบหมายให้มีการจัดตั้งศูนย์ป้องกันโรคระบาดแห่งชาติ เพื่อเสริมสร้างกลไกศักยภาพการป้องกันโรคระบาด นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมสุขภาพของภาคประชาชน และจัดให้มีจุดตรวจคัดกรองเซลล์มะเร็งทั่วทุกพื้นที่ รัฐบาลจึงได้ทำการจัดตั้ง “กองทุนยาต้านมะเร็งตัวใหม่” และเปิดตัว “โครงการสร้างไต้หวันสุขภาพดี” ด้วยงบประมาณรวม 48,900 ล้านเหรียญไต้หวัน ภายในระยะเวลา 5 ปี ประกอบกับในปีนี้ งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น รวมมูลค่า 71,200 ล้านเหรียญไต้หวัน
นอกจากนี้ พวกเรายังมุ่งมั่นเสริมสร้างความยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคม ซึ่งนอกจากจะทำการรวบรวมอาวุธยุทโธปกรณ์ในรายการสำคัญๆ แล้ว ยังได้จัดการฝึกซ้อมรบแบบจำลองสถานการณ์จริง ควบคู่ไปกับการบูรณาการศักยภาพจากทุกหน่วยงาน ในการยื่นเสนอกลยุทธ์การรับมือกับภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ 17 รายการ อย่างไรก็ตาม เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนประสานสามัคคีกันในการปกป้องวิถีชีวิตรูปแบบประชาธิปไตย และเสรีภาพ เมื่อช่วงที่ผ่านมา สภาบริหารได้จัดสรรงบประมาณพิเศษ 410,000 เหรียญไต้หวัน ในจำนวนนี้ ได้จัดสรรไว้สำหรับการยกระดับความยืดหยุ่นของประเทศชาติไว้ที่ 150,000 ล้านเหรียญไต้หวัน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับการสนับสนุนจากพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน
ระยะนี้ นอกจากประเด็นอัตราค่าไฟฟ้าแล้ว ภาคประชาชนยังให้ความสนใจต่อสถานการณ์การเจรจาต่อรองเรื่องมาตรการภาษีศุลกากร ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ โดยรัฐบาลจะยึดมั่นในผลประโยชน์ของประเทศชาติ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรม และจะช่วยพยุงอุตสาหกรรมทุกแขนงให้สามารถไปต่อได้ โดยที่จะไม่มีใครล้มลงระหว่างทาง
ไต้หวันและพันธมิตรประชาธิปไตยโลกต่างยึดมั่นในค่านิยมด้านประชาธิปไตย และเคารพตามหลักการตลาดเสรี เพื่อมุ่งสู่ความเจริญรุ่งเรือง ตลอดระยะเวลาหลายปีมานี้ ไต้หวัน - สหรัฐฯ ได้ประสานการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือกันอย่างกระตือรือร้น จึงส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีพัฒนาการสู่ทิศทางเชิงบวกเช่นเดียวกัน
ปธน.ไล่ฯ ได้ยื่นเสนอแนวทางการวางรากฐานในไต้หวัน แผ่ขยายไปสู่ประชาคมโลกไว้ 3 ประการ ดังนี้ :
ประการแรก เส้นทางเศรษฐกิจของไต้หวันมีความชัดเจน พวกเราตั้งเป้าหมายในทิศทางการตลาด ด้วยการผลักดันการวางรากฐานในไต้หวัน แผ่ขยายไปสู่ประชาคมโลก พร้อมกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ หลายปีมานี้ ไต้หวันนอกจากจะลงนามข้อตกลงว่าด้วยหลักประกันด้านการลงทุน ฉบับล่าสุดกับฟิลิปปินส์ อินเดีย เวียดนามและไทยแล้ว ยังได้ร่วมลงนาม “ข้อตกลงว่าด้วยหลักประกันและการส่งเสริมการลงทุน” กับแคนาดา ในอนาคต เราจะติดต่อเจรจาเพื่อการลงนามข้อตกลงเหล่านี้กับบรรดามิตรประเทศทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงข้อตกลงว่าด้วยการยกเลิกการเก็บภาษีซ้ำซ้อน
ประการที่สอง กลยุทธ์ทางการค้าของไต้หวันมีความชัดเจน โดยพวกเราจะมุ่งสร้างความเชื่อมโยงทางการตลาดกับพันธมิตรด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพทั่วโลก ที่นอกเหนือจากสหรัฐฯ ซึ่งนอกจากจะร่วมลงนามความตกลงฉบับแรก ภายใต้ “แผนริเริ่มทางการค้า ไต้หวัน - สหรัฐฯ แห่งศตวรรษที่ 21” แล้ว รัฐบาลไต้หวันยังได้ร่วมลงนาม “ความตกลงว่าด้วยการยกระดับความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางการค้า” กับรัฐบาลอังกฤษไปเมื่อช่วงที่ผ่านมา โดยจะมุ่งผลักดันขอเจรจาลงนามความตกลงทางการค้ากับประเทศอื่นๆ ต่อไป ควบคู่ไปกับการคว้าสิทธิเข้าร่วม “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (CPTPP) อย่างกระตือรือร้น
ประการที่สาม ระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไต้หวัน จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งต้องคำนึงถึงทิศทางการส่งออกและการขยายอุปสงค์ภายในประเทศ อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงศักยภาพการวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยี และการยกระดับอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม ตลอดจนต้องคำนึงถึงการเสริมสร้างการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์และกระบวนการผลิต
พวกเราจะสำแดงให้เห็นถึงข้อได้เปรียบของไต้หวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดให้ผู้ประกอบการต่างชาติเข้าลงทุนในไต้หวัน หลายปีมานี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Entegris สาขานครเกาสง , Micron สาขานครไทจง และศูนย์วิจัยและพัฒนาในต่างแดนที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท Google ต่างก็ทยอยเปิดให้บริการแล้วในไต้หวัน นอกจากนี้ บริษัท AMD , NVIDIA และการประมวลผลบนระบบคลาวด์ของสหรัฐฯ ต่างเข้าวางรากฐานในไต้หวันอย่างต่อเนื่อง ปธน.ไล่ฯ เชื่อว่า เราจะสามารถนำเข้าเทคโนโลยีทันสมัยจากต่างประเทศ และเข้าร่วมการวิจัยพัฒนาระดับนานาชาติได้ ผ่านกลไกความร่วมมือแบบข้ามพรมแดนเหล่านี้ ซึ่งพวกเราจะผลักดันให้ไต้หวัน ก้าวสู่การเป็นเขตเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่น
ในอนาคต รัฐบาลจะจัดตั้งกองทุนส่งเสริมศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจไต้หวัน โดยแบ่งออกเป็น 2 ทิศทาง สำหรับประเทศภายนอก พวกเราจะเข้าลงทุนในตลาดนานาชาติ โดยรัฐบาลจะทำการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ เพื่อสร้างแพลตฟอร์มการลงทุนระดับประเทศชาติ ด้วยการประยุกต์ใช้ข้อได้เปรียบของไต้หวัน โดยมีรัฐบาลเป็นแกนนำในการผนึกกำลังกับธุรกิจภาคเอกชน แผ่ขยายกิ่งก้านสาขาไปสู่ประชาคมโลก เชื่อมโยงสู่ตลาดเป้าหมายหลักในยุคสมัย AI
สำหรับภายในประเทศ พวกเราจะเสริมสร้างความมั่นคงของระบบห่วงโซ่อุปทานในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างศักยภาพการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ของภาคอุตสาหกรรม โดยรัฐบาลจะจัดเพิ่มรายการโครงการอุดหนุนของกองทุนพัฒนาแห่งชาติ เพื่อพิชิตสู่เป้าหมายการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ และเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมภายประเทศและกลุ่มรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตลอดจนเพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขันระดับนานาชาติ
ประชาธิปไตยไต้หวันถูกมองว่าเป็นประภาคารแห่งประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชีย ในอดีต เหล่าบรรพบุรุษยินยอมสละชีวิต เพื่อต่อต้านระบอบเผด็จการ ก้าวสู่เส้นทางประชาธิปไตยอย่างกล้าหาญ ประชาชนในยุคสมัยใหม่ก็มิหวั่นเกรงต่อความยากลำบาก เข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง ปกป้องประเทศชาติ เสริมสร้างความแข็งแกร่งของประชาธิปไตย ผ่านการบัญญัติกฎหมายรัฐธรรมนูญ จึงส่งผลให้ไต้หวันได้รับความภาคภูมิใจในวันนี้
ตลอดเส้นทางประชาธิปไตยของพวกเรา มิใช่การสนองอารมณ์ความคึกคะนองเพียงชั่วฉูบ แต่คือการผนึกรวมกำลังของภาคประชาชนเข้าไว้ด้วยกัน พวกเรายินดีเปิดรับฟังเสียงความคิดเห็นที่แตกต่าง เนื่องจากหัวใจหลักสำคัญของประชาธิปไตย ก็คือการแสวงพบความสามัคคีจากความขัดแย้ง
ในช่วงค่ำวันนี้ มหกรรม COMPUTEX ไทเป ประจำปี 2568 จะเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการ ซึ่งทุกปีล้วนได้รับการเฝ้าจับตาจากสื่อทั่วโลก เนื่องจากไต้หวันเป็นอาณาจักรแห่งโลกซิลิคอน และเป็นเสาหลักสำคัญในการพยุงระบบเศรษฐกิจและเทคโนโลยี AI ของโลก ซึ่งสามารถดึงดูดผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเทคโนโลยีที่สำคัญทั่วโลก ให้เดินทางมาเยือนไต้หวัน
ท้ายนี้ ปธน.ไล่ฯ ได้ส่งมอบกำลังใจแก่ภาคประชาชนว่า เมื่อเผชิญหน้ากับความท้าทาย ขออย่าได้วิตกกังวล เมื่อเผชิญหน้ากับอนาคต พวกเราต้องพุ่งเป้าไปข้างหน้าอย่างกล้าหาญ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ไต้หวันก้าวไปสู่การเป็นแสงประทีปแห่งเสรีภาพของโลก