New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 27 พ.ค. 68
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 27 พฤษภาคม 2568 ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำไต้หวัน ได้ให้การต้อนรับ Mr. Bruce Westerman ประธานคณะกรรมาธิการ “ทรัพยากรธรรมชาติ” แห่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ พร้อมด้วยคณะตัวแทน รวม 4 คน ที่มีกำหนดการเดินทางเยือนไต้หวันในช่วงระหว่างวันที่ 27 – 29 พฤษภาคม 2568
ระหว่างการพำนักในไต้หวัน คณะตัวแทนมีกำหนดการเข้าพบคารวะปธน.ไล่ฯ และรองประธานาธิบดีเซียวเหม่ยฉิน พร้อมทั้งเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารที่จัดต้อนรับโดยนายหลินเจียหรง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในประเด็นความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วน ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ความร่วมมือด้านพลังงาน เศรษฐกิจและการค้า สถานการณ์ความมั่นคงในช่องแคบไต้หวัน และการเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก เป็นต้น
Mr. Westerman เป็นสมาชิก “กลุ่มพันธมิตรเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับไต้หวันในรัฐสภา” แห่งสภาผู้แทนราษฎรในสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ Mr. Westerman ได้ร่วมลงนามในญัตติและแผนข้อเสนอที่เป็นมิตรต่อไต้หวัน มาเป็นจำนวนบ่อยครั้ง อาทิ การสนับสนุนรัฐสภาสหรัฐฯ เร่งลงมติผ่าน “ข้อตกลงร่วมว่าด้วยเรื่องเสรีภาพ” (Compact of Free Association, COFA) เพื่อช่วยสร้างเสถียรภาพความสัมพันธ์ทางการทูต ระหว่างไต้หวันกับกลุ่มประเทศพันธมิตร โดยในครั้งนี้ Mr. Westerman ได้นำคณะตัวแทนสมาชิกสภาแบบข้ามพรรค ร่วมเดินทางเยือนไต้หวัน แสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนที่รัฐบาลสหรัฐฯ มีต่อไต้หวันแบบไม่แบ่งแยกฝักฝ่าย ด้วยวิธีการที่เป็นรูปธรรม
ปธน.ไล่ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ดำเนินไปอย่างใกล้ชิด เนื่องจากพวกเราต่างก็ยึดมั่นในค่านิยมเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายมีพื้นฐานทางความร่วมมือด้านต่างๆ ที่แข็งแกร่ง ทั้งพลังงาน เศรษฐกิจ การค้า อุตสาหกรรมการเกษตรและประมง การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น โดยเฉพาะหลายปีมานี้ ความสัมพันธ์แบบทวิภาคีระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ยิ่งดำเนินไปในทิศทางเชิงลึกกว่าที่เคย ขณะนี้ สหรัฐฯ ก้าวสู่การเป็นแหล่งลงทุนในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน ครองสัดส่วนของการลงทุนในต่างประเทศของไต้หวันกว่าร้อยละ 40% ขึ้นไป ส่วนไต้หวันก็เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 7 ของสหรัฐฯ และเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน
ปธน.ไล่ฯ แถลงว่า การประชุมสุดยอดการลงทุน SelectUSA Investment Summit ที่จัดขึ้น ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ในช่วงที่ผ่านมา จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เป็นประวัติการณ์ โดยมีคณะผู้ประกอบการจากไต้หวัน จำนวน 138 ราย เดินทางเข้าร่วม ถือเป็นคณะตัวแทนผู้ประกอบการกลุ่มใหญ่ที่สุดในกิจกรรมครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า การแลกเปลี่ยนทางอุตสาหกรรมระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ เป็นไปอย่างใกล้ชิด และต่างก็มุ่งแสวงหาโอกาสความร่วมมือทางการลงทุนใหม่ๆ ร่วมกันอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
ปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า เมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์ระหว่างประเทศที่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่พลิกผันไปอย่างรวดเร็ว ไต้หวันจะเพิ่มการจัดซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ พลังงานก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียม รวมถึงสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม หรือแม้แต่อาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งนอกจากจะมีส่วนช่วยสร้างความสมดุลทางกลไกการค้าแบบทวิภาคีแล้ว ยังจะเป็นการเสริมสร้างการพึ่งพาตนเองของไต้หวันในด้านพลังงาน ความทรหด รวมไปถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจและการค้าอีกด้วย
ปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า ไต้หวัน - สหรัฐฯ มีข้อได้เปรียบที่สามารถเอื้อประโยชน์แก่กันในด้านเทคโนโลยีขั้นสูงและการผลิต โดยรัฐบาลสหรัฐฯ มีปณิธานที่จะฟื้นฟูโครงสร้างอุตสาหกรรม ควบคู่กับการผลักดันให้สหรัฐฯ เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยี AI ระดับสากล โดยไต้หวันมีความยินดีและศักยภาพที่จะสวมบทบาทสำคัญในการเข้าร่วมภารกิจการช่วยผลักดันสหรัฐฯ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
ในด้านการแลกเปลี่ยนทางกลาโหม ปธน.ไล่ฯ ขอแสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ที่อนุมัติการจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ไต้หวัน เป็นวาระสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง พร้อมให้การสนับสนุนไต้หวันยกระดับศักยภาพการป้องกันประเทศด้วยตนเอง โดยปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า ไต้หวันจะมุ่งประสานความร่วมมือกับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในระดับภูมิภาค ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป
Mr. Westerman กล่าวว่า ทรัพยากรธรรมชาติเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ อันจะเห็นได้จากความสำคัญที่ทรัพยากรธรรมชาติมีต่อกระบวนการผลิต ทรัพยากรแร่ธาตุเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยสนองกลไกการผลิต ไม่ว่าจะเป็นแร่ที่มีธาตุโลหะหายาก หรือแร่โลหะ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการประมง สัตว์ป่าและวัสดุไม้ ต่างก็เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อภาคประชาสังคม โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม สหรัฐฯ เป็นแหล่งผลิตสินค้าอาหารและอาหารสัตว์ เป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการมุ่งแสวงหาพันธมิตรที่จะมาร่วมแบ่งปันทรัพยากรร่วมกันอย่างแข็งขัน
Mr. Westerman กล่าวว่า ตนรู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่มีโอกาสประสานความร่วมมือกับไต้หวัน พร้อมแสดงความขอบคุณสำหรับการเข้าลงทุนในสหรัฐฯ ของบรรดาผู้ประกอบการไต้หวัน โดย Mr. Westerman หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นรัฐบาลทั้งสองฝ่าย เร่งเปิดการอภิปรายกันในแนวทางการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางความร่วมมือและการค้าแบบทวิภาคีในภายภาคหน้า อันจะนำไปสู่การขยายตัวและความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจแบบทวิภาคีในอนาคตต่อไป