New Southbound Policy Portal
กระทรวงเศรษฐการ วันที่ 17 มิถุนายน 2568
เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างไต้หวันและกลุ่มสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และตลาดต่างประเทศ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2568 กระทรวงเศรษฐการไต้หวัน (MOEA) จึงได้จัด “การประชุมสัมมนาของกลุ่มเอเปค เพื่อการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านพลังงานสีเขียว ผ่านนวัตกรรมทางดิจิทัลของกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs” (APEC Symposium Enhancing SMEs' Green Competitiveness Through Digital Innovation) ขึ้น ณ ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติเกาสง (Kaohsiung Exhibition Center) โดยได้ติดต่อเชิญตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศ อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในนครคิตะกีวชูของญี่ปุ่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและสตาร์ทอัพของเกาหลีใต้ (Korea SMEs & Startups Agency (KOSME) ธนาคาร SME Bank ของมาเลเซีย และสภาอุตสาหกรรมและการพาณิชย์เมืองดาเบาของฟิลิปปินส์ รวมถึงกลุ่มผู้นำภาคธุรกิจจากสิงคโปร์ ไทย เวียดนาม สหรัฐฯ และอินโดนีเซีย เป็นต้น พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญ อาทิ นายหวงอวี้เจิง ประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิ Circular Taiwan Network ของไต้หวัน และนายเฉินจงหลง ผู้ช่วยรองผู้จัดการทั่วไปของบริษัท China Steel Corporation เข้าร่วมแสดงปาฐกถาในหัวข้อพิเศษ พร้อมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนกันในประเด็นทิศทางนโยบายสีเขียว การประยุกต์ใช้ AI ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านพลังงานสีเขียวให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs อันเป็นรากฐานที่จะสามารถพิชิตความท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันต่อไป
เมื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (NET ZERO) รัฐบาลและผู้ประกอบการทั่วโลก ต่างมุ่งดำเนินแผนปฏิบัติการเพื่อความยั่งยืนกันอย่างกระตือรือร้น นายเหอจิ้งชาง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการไต้หวัน กล่าวขณะปราศรัยในพิธีเปิดการประชุมว่า ในระหว่างที่ทั่วโลกกำลังมุ่งผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ รมช.เหอฯ ได้สังเกตเห็นว่า มีผู้ประกอบการ SMEs หลายรายที่มักจะต้องเผชิญหน้ากับข้อจำกัด ทั้งความเชี่ยวชาญทางทฤษฎี และปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรและเทคโนโลยี ในระหว่างการบริหารกิจการ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงต้องการยื่นมือเข้าช่วยในการยกระดับศักยภาพทางเทคโนโลยีของกลุ่ม SMEs ทั้งนี้ เพื่อช่วยส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสีเขียว ให้เกิดความราบรื่นและเปี่ยมประสิทธิภาพ โดยรัฐบาลได้ร่างพิจารณาแนวทางที่เป็นรูปธรรม อาทิ การสร้างเสริมองค์ความรู้และทักษะด้าน AI ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย การฝึกอบรมทางวิชาชีพและการจัดสรรเงินอุดหนุน สำหรับทรัพยากรที่ใช้ในการเปลี่ยนผ่าน ควบคู่ไปกับการขยายขอบเขตการส่งมอบความช่วยเหลือให้แก่กลุ่ม SMEs ผ่านการประเมินวินิจฉัยกลไกการประหยัดพลังงาน การฝึกอบรมบุคลากร และการผนึกกำลังของกลุ่มผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีพลังงาน
รมช.เหอฯ แถลงว่า SMEs ครองบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ภูมิภาคเอเปค จากการจัดการประชุมในครั้งนี้ จะสามารถช่วยส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมาย สามารถจับทิศทางนโยบาย แนวโน้มการเปลี่ยนผ่านของระบบห่วงโซ่อุปทานไปสู่พลังงานสีเขียว ที่สามารถเชื่อมโยงสู่มาตรฐานระดับสากล และสอดรับต่อกระแสทางการเงินสีเขียว ในระดับภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก เพื่อการแสวงหาโอกาสการพัฒนาเติบโตในรูปแบบใหม่ๆ ต่อไป ในวาระพิเศษนี้ Mr. Masafumi Oku ผู้อำนวยการสมาคมแลกเปลี่ยนญี่ปุ่น - ไต้หวัน สาขาเกาสง และ Mr. Samuel Goffman รองผู้อำนวยการสถาบันอเมริกาในไต้หวัน สาขาเกาสง ต่างทยอยขึ้นกล่าวปราศรัยว่า ไต้หวันสวมบทบาทผู้นำด้านนวัตกรรมเชิงดิจิทัล การผลิตอัจฉริยะ และแผนโซลูชันด้านพลังงาน และเชื่อว่า ไต้หวันจะสามารถผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ 2 เป้าหมายข้างต้นในระดับภูมิภาคเอเปคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กระทรวงเศรษฐการไต้หวันได้จัดการประชุม APEC ขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 3 นับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา โดยในทุกปี ได้มีการติดต่อเชิญผู้ประกอบการ SMEs ในไต้หวันเข้าร่วมแบ่งปันผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและแผนโซลูชันรูปแบบอัจฉริยะ ทั้งนี้ เพื่อวัตถุประสงค์ในการยกระดับชื่อเสียงบนเวทีนานาชาติ อันจะสามารถพัฒนาไปสู่โอกาสการรุกขยายตลาดเอเชีย - แปซิฟิก ในภายภาคหน้า นอกจากนี้ สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคยังได้ทำความเข้าใจกับแนวทางการประยุกต์ใช้เครื่องมือดิจิทัลในการวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเสริมสร้างกลไกบริหารจัดการด้านพลังงาน รวมไปถึงการนำไปประยุกต์ใช้ในกิจการภาคธุรกิจ ผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ โดยหลังเสร็จสิ้นการประชุม เจ้าหน้าที่ภาครัฐไต้หวันยังได้จัดรวบรวมกรณีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นต้นแบบการเรียนรู้ที่ตั้งไว้เป็นมาตรฐานให้แก่ประชาคมโลก
ประธานคณะกรรมการบริหารหวงฯ แห่งมูลนิธิ Circular Taiwan Network ยังได้ยื่นเสนอแนวคิดการหมุนเวียนในรูปแบบ “2+3=5” โดยเรียกร้องให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจ อาศัยแนวคิดในรูปแบบ 2R (Redefine , Redesign) หรือรูปแบบการบริหารเชิงพาณิชย์ที่กำหนดความต้องการและออกแบบขึ้นใหม่ ในการมุ่งสู่เป้าหมาย 3 มิติหลัก ได้แก่ การขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องมาพร้อมกับการเพิ่มอัตราการสูญเสียทรัพยากรเสมอไป การประยุกต์ใช้ในรูปแบบหมุนเวียน และการขับเคลื่อนทางดิจิทัล นอกจากนี้ ยังต้องกำหนดแผนการบริหารเชิงพาณิชย์ที่มีความยืดหยุ่นและครอบคลุม ภายใต้ 5 แนวทางกลยุทธ์ ได้แก่ “ก้าวข้ามกรอบจำกัดทางลิขสิทธิ์ ก้าวข้ามรูปแบบการผลิต ระบบห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น และกลไกเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ปราศจากซึ่งสิ่งของเหลือใช้” อาทิ เปลี่ยนจากการ “ซื้อขาด” มาเป็น “การเช่ายืม” ผลิตภัณฑ์สินค้า การยืดอายุการใช้งานของสินค้า และลดการสิ้นเปลืองทรัพยากร โดยหวงฯ เน้นย้ำว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ถือเป็นกุญแจสำคัญของการก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน โดยผู้ประกอบการสามารถประยุกต์ใช้ตัวช่วยทางเทคโนโลยี อย่างอินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง (Internet of Things, IoT) และ AI ในการแสดงแผนผังและการตรวจสอบย้อนกลับของวัตถุดิบ รวมไปถึงฐานข้อมูลสถิติที่เกี่ยวกับวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ โดยโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลเหล่านี้จะก้าวสู่การเป็นกุญแจสำคัญในการคิดค้นวิจัยกลไกการพาณิชย์รูปแบบใหม่ต่อไป
ผู้ช่วยเฉินฯ กล่าวว่า เพื่อพิชิตเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) บริษัท China Steel Corporation ได้อัดฉีดระบบอัจฉริยะในการผลิตเหล็กคุณภาพสูง ซึ่งสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในระหว่างขั้นตอนการผลิต โดยจะเริ่มตั้งแต่ช่วงต้นน้ำอุตสาหกรรม พร้อมทั้งประยุกต์ใช้ AI เพื่อช่วยคาดการณ์ความต้องการด้านการใช้พลังงานไฟฟ้า และอัตราการรองรับของหม้อแปลงไฟฟ้า เพื่อช่วยยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงาน สำหรับ “ระบบหม้อแปลงอัจฉริยะ” จะช่วยคาดการณ์เวลาและอุณหภูมิความร้อนในช่วงจังหวะที่ดีที่สุด เพื่อให้เกิดประสิทธิผลด้านการผลิต นอกจากนี้ CSC ยังจะส่งมอบวัสดุเหล็กคาร์บอนต่ำให้แก่ฐานลูกค้าในช่วงปลายน้ำอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการคิดค้นวิจัยผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ทั้งนี้ เพื่อช่วยในการคํานวณคาร์บอนฟุตพรินท์และการชดเชยการปล่อยคาร์บอน (Carbon Offset) ตลอดจนร่วมจับมือกับผู้ประกอบการ SMEs ตั้งแต่ช่วงต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ในการมุ่งผลักดันให้ระบบห่วงโซ่อุปทานก้าวไปสู่การผลิตที่ยั่งยืนในรูปแบบคาร์บอนต่ำต่อไป