New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 18 มิ.ย. 68
การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนําระดับโลก 7 ประเทศ (Group of Seven, G7) มีกำหนดการเปิดฉากขึ้น ณ เมือง Kananaskis รัฐแอลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา ในช่วงระหว่างวันที่ 15 – 17 มิถุนายน 2568 โดยแถลงการณ์ “บทสรุปประธาน” (Chair’s Summary) หลังการประชุม เน้นย้ำว่า กลุ่มประเทศสมาชิก G7 ยังคงเฝ้าจับตาต่อพฤติกรรมของจีนที่ต้องการบ่อนทำลายเสถียรภาพในพื้นที่ทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออกอย่างต่อเนื่อง รวมถึงชี้แจงความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ในโอกาสนี้ นายหลินเจียหรง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวัน รู้สึกยินดีและขอแสดงความขอบคุณต่อกลุ่มประเทศ G7 ด้วยใจจริง
บทสรุปประธานได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มประเทศสมาชิก G7 ที่ต้องการจะสร้างภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ที่ตั้งอยู่บนหลักนิติธรรม และการเปิดกว้างอย่างเสรี นอกจากนี้ กลุ่มผู้นำ G7 ยังร่วมแสดงความห่วงกังวลต่อนโยบายและพฤติกรรมใดๆ ของจีน ที่เป็นการบิดเบือนกลไกตลาดและการส่งผลกระทบที่เกิดจาก “กำลังการผลิตที่ล้นเกิน”
รมว.หลินฯ รู้สึกขอบคุณต่อ G7 ด้วยใจจริงที่มุ่งให้การสนับสนุนสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันอย่างหนักแน่น และเป็นอีกครั้งต่อเนื่องจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ G7 ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม และการประกาศแถลงการณ์ร่วมเมื่อเดือนเมษายน ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่า การธำรงปกป้องสันติภาพและเสถียรภาพของช่องแคบไต้หวัน ได้กลายมาเป็นฉันทามติร่วมกันของประชาคมโลกแล้ว การธำรงไว้ซึ่งสถานภาพเดิมในช่องแคบไต้หวัน ถือเป็นเรื่องที่ไม่สามารถขาดได้ในความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองระดับสากล ในฐานะส่วนหนึ่งของประชาคมโลก ไต้วันจะมุ่งจับมือกับประชาคมโลกในการรักษาเสรีภาพและการเปิดกว้างในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ นายชิเงรุ อิชิบะ (Shigeru Ishiba) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และ H.E. Alexander Stubb ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฟินแลนด์ ได้ประกาศแถลงการณ์ร่วมกันหลังเสร็จสิ้นการหารือ ณ กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2568 โดยสาระสำคัญในแถลงการณ์ ชี้ว่า ญี่ปุ่น – ฟินแลนด์ ต่างมีจุดยืนต่อต้านพฤติกรรมใดๆ ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในพื้นที่ทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก ด้วยการใช้กำลังทหารและแรงกดดัน พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า การธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองในประชาคมโลก จึงขอเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายมุ่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี
นับเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่น - ฟินแลนด์ ร่วมแสดงความห่วงกังวลต่อสันติภาพในช่องแคบไต้หวัน ผ่านการประกาศแถลงการณ์ร่วม โดยรมว.หลินฯ รู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่เห็นทั้งสองมิตรประเทศให้การสนับสนุนต่อสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันด้วยวิธีการที่เป็นรูปธรรม พร้อมกันนี้ รมว.หลินฯ ยังได้แสดงความขอบคุณต่อญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันที่มุ่งเรียกร้องให้ประชาคมโลก เฝ้าจับตาต่อสถานการณ์ล่าสุดในไต้หวัน บนเวทีนานาชาติอย่างต่อเนื่อง อันจะเห็นได้จากการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ – ญี่ปุ่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ การจัดการประชุมหารือแบบทวิภาคีระหว่างนรม. อิชิบะ และ Mr. Mark Rutte เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) เมื่อเดือนเมษายน รวมไปถึงการประชุมระหว่างญี่ปุ่น - ลัตเวีย และการประชุมระหว่างญี่ปุ่น - กัวเตมาลา เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งล้วนแต่สะท้อนให้เห็นว่า การธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ได้กลายเป็นฉันทามติและผลประโยชน์ร่วมกันของประชาคมโลก เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
กต.ไต้หวันหวังที่เห็นพันธมิตรด้านประชาธิปไตยโลก มุ่งดำเนินมาตรการป้องกันและรับมืออย่างต่อเนื่อง เพี่อสกัดกั้นภัยคุกคามต่อสันติภาพและเสถียรภาพในระดับภูมิภาค ที่เกิดจากการแผ่ขยายอิทธิพลของประเทศลัทธิอำนาจนิยม อันถือเป็นความท้าทายต่อกลไกประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎระเบียบระหว่างประเทศ โดยไต้หวันจะมุ่งยืนหยัดในการเสริมสร้างความร่วมมือเชิงลึกกับบรรดามิตรประเทศทั่วโลก บนพื้นฐานหลักการ “การทูตเชิงบูรณาการ” ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อร่วมส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในระดับภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน