New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 20 มิ.ย. 68
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2568 รองประธานาธิบดีเซียวเหม่ยฉิน ได้ให้สัมภาษณ์แก่ บริษัท Norsk Rikskringkasting AS (NRK) สถานีโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงของนอร์เวย์ โดยรองปธน.เซียวฯ ได้ตอบข้อซักถามต่างๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบไต้หวัน การเมืองเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ข้อคิดที่ได้ระหว่างการผลักดันภารกิจการทูตในวาระที่ยังดำรงตำแหน่งผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำสหรัฐฯ และความมุ่งหวังทางนโยบายที่ไต้หวันมีต่อนอร์เวย์และกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป เป็นต้น
เนื้อหาบทสัมภาษณ์ มีสาระสำคัญ ดังนี้ :
ถาม : ในระหว่างที่รองปธน.เซียวฯ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำสหรัฐฯ คุณได้นำแมวตัวโปรดติดตามไปยังกรุงวอชิงตัน ดีซีด้วย และเรียกแทนตนเองว่า “นักรบแมว” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับวิธีการการทูตแบบนักรบหมาป่า (Wolf Warrior diplomacy) ของจีน ไม่ทราบว่า มีนัยยะสำคัญใดแอบแฝงหรือไม่ ?
ตอบ : การใช้ “นักรบแมว” มาแทนตัวเองของดิฉัน เนื่องจากเห็นว่า แมวมีความน่ารักกว่าหมาป่า ซึ่งมนุษย์ทั่วไปมักจะชอบสุงสิงกับสัตว์ขนปุย น่าทะนุทนอม ที่ดูมีความเป็นมิตรมากกว่า แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ แมวมีคุณสมบัติที่เคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่วว่องไว มันสามารถรักษาการทรงตัวได้แม้จะเดินอยู่บนสายสลิง และแม้ว่ารูปร่างภายนอกจะมีขนาดเล็ก แต่กลับสามารถกระโดดได้สูงหลายเท่าตัวของความสูงของตัวเอง อีกทั้งแมวยังมีความยืดหยุ่นสูงมาก แม้ว่าบางครั้งมันจะหลบซ่อนตัวอย่างสงบ แต่เราจะสามารถพบเจอมันได้ในสถานที่ที่คาดไม่ถึง ซึ่งเปรียบได้กับการคงอยู่ของไต้หวันในประชาคมโลก
ด้วยไมตรีจิตและความกระตือรือร้นของชาวไต้หวัน พวกเราหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในพลังแห่งความดีของโลกใบนี้ และหวังที่จะได้รับการโอบกอดและสร้างคุณประโยชน์ร่วมกันกับประชาคมโลก อีกทั้งพวกเราหวังที่จะเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศ และรักษาไว้ซึ่งหลักการของตนเอง นอกจากนี้ พวกเรายังจำเป็นต้องรักษาความยืดหยุ่นและคล่องแคล่ว และต้องรับมือกับสภาพแวดล้อมที่มีความซับซ้อนอยู่เสมอ อาจกล่าวได้ว่า ต้องมีเก้าชีวิตเหมือนแมว จึงจะสามารถเอาตัวรอดได้
ถาม : ระยะที่ผ่านมา ประชาคมโลกต่างสังเกตเห็นว่า จีนได้ทำการฝึกซ้อมรบในพื้นที่รอบน่านน้ำไต้หวันด้วยกำลังอาวุธและกระสุนจริง พร้อมทั้งจัดส่งเครื่องบินรบและเรือรบจำนวนมาก จำลองสถานการณ์การเข้าปิดล้อมและรุกรานพื้นที่ช่องแคบไต้หวัน อีกทั้งยังมองเห็นภาพบรรยากาศการจำลองสถานการณ์ที่ปรากฎขึ้นในภาพยนตร์เรื่อง Zero Day และเกมกระดาน 2045 ไม่ทราบว่า เหตุการณ์เหล่านี้ต้องการสื่ออะไรเกี่ยวกับยุคสมัยที่เราอาศัยอยู่?
ตอบ : เราต่างอาศัยอยู่ในโลกที่มีความสลับซับซ้อน ข้อคิดที่ประชาชนชาวไต้หวันได้รับจากสถานการณ์การโจมตียูเครนของรัสเซีย คือการส่งเสริมให้พวกเราตระหนักว่า สันติภาพ เป็นสิ่งที่ต้องขวนขวายและแลกมาด้วยชีวิต พวกเราจึงจำเป็นต้องมุ่งรักษาสันติภาพและเสถียรภาพกันด้วยความสามัคคี เนื่องจากค่านิยมเหล่านี้มีความสำคัญต่อประชาชนในประเทศ ไปจนกระทั่งในภูมิภาคและทั่วโลก ทว่าจีนกลับอาศัยมาตรการสร้างความยั่วยุท้าทาย และมุ่งขยายรากฐานทางการทหารอย่างต่อเนื่อง เพื่อบ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในระดับภูมิภาค ตลอดจนปฏิเสธการเสวนากับรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งจากภาคประชาชนชาวไต้หวัน
รองปธน.เซียวฯ กล่าวว่า พวกเรารู้สึกกังวลใจต่อแผนปฏิบัติการทางกลาโหม และแรงกดดันในรูปแบบผสมที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากแง่มุมกลาโหมแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงการแพร่กระจายข่าวปลอม สงครามจิตวิทยา สงครามการเมืองและแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ด้วยความท้าทายเหล่านี้ได้กระตุ้นให้พวกเราจำเป็นต้องยกระดับความแข็งแกร่งทางกลาโหม เพื่อพิชิตเป้าหมายในการหลีกเลี่ยงการปะทุความขัดแย้ง ควบคู่ไปกับการบรรเทาสถานการณ์ความตึงเครียด อย่างไรก็ตาม พวกเราตระหนักดีว่า การปกป้องไว้ซึ่งสันติภาพจำเป็นต้องอาศัยศักยภาพ และการคงไว้ซึ่งความราบรื่นของช่องทางการเจรจา
ถาม : คุณกังวลหรือไม่ว่า หากรัสเซียยึดครองยูเครนได้สำเร็จ จีนจะดำเนินการต่อไต้หวันในลักษณะเดียวกัน ?
ตอบ : ดิฉันเชื่อว่า มีภาคประชาชนหลายท่านที่รู้สึกวิตกกังวลต่อประเด็นดังกล่าว เนื่องจากพวกเราตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไร้สมมาตรทางยุทธิวิธีสงคราม รัฐบาลเผด็จการมักจะอาศัยมาตรการที่เป็นการรุกราน เข้าสร้างแรงกดดันต่อการคงอยู่ของพวกเรา ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงจำเป็นต้องเสริมสร้างความมั่นคงอย่างกระตือรือร้น จากประสบการณ์ของยูเครน ทำให้พวกเราเล็งเห็นถึง ความสำคัญในการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ซึ่งขณะนี้ พวกเราได้วิจัยประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับ ระบบอัจฉริยะและเทคโนโลยี AI เข้าเป็นองค์ประกอบสำคัญในหลายมิติ นอกจากนี้ พวกเรายังต้องสำแดงซึ่งศักยภาพของหน่วยงานเอกชน เพื่อสนับสนุนการยกระดับความทรหดทางสังคมในภาพรวมของไต้หวัน
ภาคประชาสังคมไต้หวันมีประสบการณ์มากล้นในการรับมือต่อสถานการณ์แผ่นดินไหว พายุไต้ฝุ่นและภัยพิบัติทางธรรมชาติ ขณะเดียวกัน พวกเรายังต้องต้องรับมือกับสถานการณ์การบ่อนทำลายสายเคเบิลใต้ท้องทะเล ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ได้รับการกำหนดให้เป็นหนึ่งในความท้าทายด้านความมั่นคงในกลุ่มประเทศทวีปยุโรปแล้ว พวกเราจึงจำเป็นต้องเพิ่มพูนศักยภาพความยืดหยุ่นทางภาคประชาสังคมในแง่มุมต่างๆ ควบคู่ไปพร้อมกัน ทั้งด้านโทรคมนาคม การจัดเตรียมเวชภัณฑ์ที่จำเป็น และพลังงาน
ถาม : ความมั่นคงของไต้หวันมีบทบาทสำคัญอย่างไรต่อยุทธศาสตร์โลก ?
ตอบ : ความมั่นคงของไต้หวัน มีความสำคัญต่อความมั่นคงของโลกเป็นอย่างยิ่ง พฤติกรรมใดๆ ที่เป็นการบ่อนทำลายสันติภาพ เสถียรภาพและความมั่นคงในช่องแคบไต้หวัน อาจส่งผลให้เกิดความสั่นคลอนต่อเสถียรภาพในภาพรวมของภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ซึ่งนอกเหนือจากด้านความมั่นคงแล้ว ยังครอบคลุมในด้านเศรษฐกิจอีกด้วย จากข้อมูลสถิติ บ่งชี้ว่า การขนส่งทางทะเลกว่าร้อยละ 50 ของโลก จำเป็นต้องแล่นเรือผ่านพื้นที่รายรอบช่องแคบไต้หวัน อีกทั้งไต้หวันยังสวมบทบาทสำคัญในระบบห่วงโซ่อุปทานทางเทคโนโลยีระดับสากล ที่มีขอบเขตครอบคลุมรายการ ตั้งแต่สตาร์ทโฟนไปจนถึงดาวเทียม และยุทโธปกรณ์กลาโหม
ถาม : พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) มุ่งต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของไต้หวันอย่างกระตือรือร้น และต้องการมุ่งพิชิตความเป็นเอกภาพของตนเองเสมอมาอย่างยาวนาน แต่รัฐบาลกลับไม่เคยนำแนวคิดดังกล่าวกำหนดเข้าสู่นโยบายภาครัฐเลย จึงอาจถูกมองว่าเป็นการสร้างความยั่วยุท้าทายต่อรัฐบาลปักกิ่งหรือไม่ ? รัฐบาลไต้หวันมีมาตรการใดที่จะสามารถผ่อนคลายสถานการณ์ความตึงเครียดในปัจจุบันลงได้บ้าง ?
ตอบ : รากฐานวิสัยทัศน์ของพวกเราคือ การส่งเสริมให้ประชาชนมีเสรีภาพ ประชาธิปไตย และมีสิทธิกำหนดทิศทางอนาคตด้วยตนเอง สำหรับทิศทางในอนาคตของไต้หวัน สังคมประชาธิปไตยจะยังคงมีสิทธิโดยสมบูรณ์ ผ่านการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ไต้หวันยึดมั่นในจุดยืนที่ว่า พวกเราเป็นสังคมที่มีเอกราช พฤติกรรมใดๆ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในปัจจุบัน จำเป็นต้องได้รับความยินยอมเห็นชอบจากภาคประชาชนชาวไต้หวัน ด้วยวิธีการทางประชาธิปไตย ซึ่งพวกเราต้องการธำรงรักษาไว้ซึ่งสถานภาพเดิมในปัจจุบัน โดยจะมุ่งสกัดกั้นพฤติกรรมการก่อกวนทุกทางอย่างเต็มกำลัง
ถาม : การเปิดการเสวนาที่มีความหมายกับรัฐบาลปักกิ่ง ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควรสำหรับไต้หวันในปัจจุบัน ประกอบกับรัฐบาลปักกิ่งยังได้มองว่ารองปธน.เซียวฯ และประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ เป็นผู้สนับสนุนการแบ่งแยก ไม่ทราบว่าพวกคุณมีแนวทางอย่างไรในการสร้างสัมพันธ์ทางการเมืองกับรัฐบาลปักกิ่ง ?
ตอบ : ดิฉันคิดว่า รัฐบาลปักกิ่งมักจะเลือกใช้คำพูดเชิงลบ เพื่อโจมตีรัฐบาลที่เลือกโดยประชาชนชาวไต้หวัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์ พวกเรามีหน้าที่ความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายจากภาคประชาชนชาวไต้หวันเพียงเท่านั้น ซึ่งก็คือการรักษารัฐธรรมนูญของไต้หวัน (Constitution of the Republic of China (Taiwan)) ระบอบการปกครอง และวิถีชีวิตรูปแบบประชาธิปไตยของภาคประชาชนชาวไต้หวัน
รองปธน.เซียวฯ ยังอาศัยโอกาสนี้เรียกร้องให้รัฐบาลปักกิ่ง เปิดการเสวนากับรัฐบาลไต้หวัน ภายใต้พื้นฐานการเคารพศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมกัน ซึ่งรองปธน.เซียวฯ มองว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมที่เราควรจะให้เกียรติแก่กัน จึงหวังที่จะได้รับการสนับสนุนจากประชาคมโลก
ถาม : คุณคิดว่าภายหลังจากนี้จะมีโอกาสเปิดการเสวนากับรัฐบาลปักกิ่งหรือไม่ ?
ตอบ : สิทธิในการตัดสินใจท้ายสุดขึ้นอยู่กับรัฐบาลปักกิ่ง พวกเรายืนหยัดในการรักษาสถานภาพเดิมในปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับผลประโยชน์ร่วมกันของประชาคมโลก ผู้นำรัฐบาลปักกิ่งควรตระหนักเห็นว่า มีเพียงการเปิดการเสวนาอย่างเคารพและเท่าเทียมกันกับรัฐบาลไต้หวัน จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์สองฝั่งช่องแคบไต้หวันได้อย่างแท้จริง
ถาม : คุณสามารถสร้างการประสานแลกเปลี่ยนกับรัฐบาลปักกิ่งเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ ?
ตอบ : เป็นเรื่องน่าเศร้าที่รัฐบาลปักกิ่งปฏิเสธทุกข้อเรียกร้องในการเปิดการเสวนาและการแลกเปลี่ยนกับไต้หวัน
ถาม : หากเกิดความขัดแย้ง ไต้หวันสามารถปกป้องตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาสหรัฐฯ หรือไม่ ?
ตอบ : ทุกอย่างที่รัฐบาลมุ่งดำเนินการในขณะนี้ ก็เพื่อต้องการหลีกเลี่ยงการปะทุความขัดแย้ง พวกเราทราบดีว่า ต้องเพิ่มการลงทุนทางกลาโหมในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น และสร้างเสริมให้กองทัพทหารพัฒนาสู่ทิศทางที่ขานรับต่อกระแสโลก ด้วยการอัดฉีดทรัพยากรที่ทันสมัยและการจัดตั้งกลไกการฝึกอบรมที่ดีที่สุด แน่นอนว่า การที่จะพิชิตเป้าหมายนี้ได้ ต้องประสานความร่วมมือกับสหรัฐฯ ภายใต้พื้นฐาน “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” อย่างไรก็ตาม ศักยภาพการสกัดกั้นที่แข็งแกร่งที่สุดคือความมุ่งมั่นตั้งใจและความทุ่มเทในการปกป้องประเทศชาติด้วยการพึ่งพาตนเองของพวกเรา
ถาม : ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นนักเจรจาที่ก่อนหน้านี้ได้พยายามสร้างข้อตกลงระหว่างยูเครนกับพื้นที่อื่นๆ ในประชาคมโลก คุณกังวลหรือไม่ว่า ปธน.ทรัมป์จะกำหนดให้ไต้หวันเข้าสู่รายการในข้อตกลงสำคัญกับจีน โดยไม่ปรึกษาหารือกับไต้หวันเสียก่อน ?
ตอบ : อนาคตของไต้หวัน ขึ้นอยู่กับเสียงของภาคประชาชน ผ่านการเลือกตั้งในรูปแบบประชาธิปไตยเท่านั้น
ถาม : จากสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันของสหรัฐฯ ไต้หวันมีความคิดเห็นว่า จะเป็นเรื่องยากขึ้นหรือไม่ในการพึ่งพาซึ่งกันและกันกับสหรัฐฯ ?
ตอบ : ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนสำคัญของสหรัฐฯ และเป็นหุ้นส่วนสำคัญในระบบห่วงโซ่อุปทานด้านเทคโนโลยีโลก ตลอดจนเป็นแหล่งที่มาของระบบห่วงโซ่อุปทานที่สามารถไว้วางใจและเชื่อถือได้ นอกจากผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการจัดตั้งอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีแล้ว ไต้หวันยังได้สร้างเสริมเทคโนโลยีที่ไว้วางใจและเชื่อถือได้ อีกทั้งไต้หวันยังเป็นหุ้นส่วนสำคัญของสหรัฐฯ ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการฟื้นฟูอุตสาหกรรม ในอนาคต พวกเราจะยังคงมุ่งสร้างความร่วมมือเชิงลึกกันบนพื้นฐานผลประโยชน์เหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนร่วมธำรงรักษาไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน
ถาม : นอร์เวย์เป็นประเทศขนาดเล็กในทวีปยุโรป คุณมีความมุ่งหวังทางนโยบายเช่นไรต่อนอร์เวย์และประเทศอื่นๆ ในทวีปยุโรป
ตอบ : ไม่มีประเทศใดในโลกที่ไม่สามารถครองเสรีภาพ อันเนื่องมาจากการที่ตนมีดินแดนประเทศที่มีขนาดเล็กกว่า ซึ่งดิฉันเชื่อว่าหลายประเทศในยุโรปสามารถเข้าใจได้ในจุดนี้ เนื่องจากตลอดศตวรรษที่ผ่านมา พวกเขาต่างต้องเผชิญหน้ากับสงคราม ความขัดแย้งและการยึดครองแผ่นดิน ดิฉันเชื่อว่า ทุกสังคมต้องการวิถีชีวิตที่มีเสรีภาพ และต้องการได้รับสิทธิในการกำหนดทิศทางอนาคตด้วยตนเอง และต้องการอาศัยอยู่ในสังคมที่มีสันติภาพและความมั่นคง ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงหวังที่จะเห็นประชาคมโลกให้การสนับสนุนไต้หวันมุ่งพิชิตเป้าหมายด้านประชาธิปไตย สันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองที่ยั่งยืนต่อไป
ในแง่การเมืองเชิงภูมิรัฐศาสตร์ รองปธน.เซียวฯ หวังที่จะเห็นประชาคมโลกเน้นย้ำจุดยืนความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน และร่วมสกัดกั้นทุกพฤติกรรมที่เป็นการบ่อนทำลายสถานภาพในปัจจุบันด้วยวิธีการข่มขู่ด้วยกำลังทหาร ในแง่เศรษฐกิจ พวกเราหวังที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางความร่วมมือในเชิงลึกกับนอร์เวย์และกลุ่มประเทศทวีปยุโรป และหวังที่จะเสริมสร้างความเชื่อมโยงในด้านเทคโนโลยีและ AI ซึ่งแง่มุมเหล่านี้มีความสำคัญต่อโลกปัจจุบันเป็นอย่างมาก โดยไต้หวันสวมบทบาทสำคัญในมิติความร่วมมือต่างๆ เหล่านี้ พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่ง ที่จะเห็นประเทศยุโรปทยอยเปิดการเจรจาลงนามความตกลงทางการค้ากับไต้หวันกันอย่างกระตือรือร้นเพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการค้าแบบทวิภาคีให้มุ่งสู่ความเจริญรุ่งเรือง
ส่วนแง่มุมประชาธิปไตย พันธมิตรด้านประชาธิปไตยทั่วโลกต่างกำลงังประสบกับความท้าทายที่เกิดจากข่าวปลอม การแทรกแซงด้วยอิทธิพลภายนอกและเสียงประชามติ ในฐานะที่เป็นประเทศที่ยึดมั่นในประชาธิปไตย ไต้หวันจะมุ่งทำการพัฒนาเครื่องมือที่เปี่ยมความคิดสร้างสรรค์ในการรับมือกับภัยคุกคามเหล่านี้ ควบคู่ไปกับการยกระดับศักยภาพการรู้เท่าทันสื่อให้แก่ภาคประชาชน เพื่อส่งเสริมให้ประชาสังคมมีความยืดหยุ่นในการรับมือกับความท้าทายนานาประการ ด้วยเหตุนี้ รองปธน.เซียวฯ จึงเห็นว่า พวกเราควรจัดการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือที่เพิ่มมากขึ้นในด้านสังคมพลเรือน