New Southbound Policy Portal

คณะผู้เชี่ยวชาญจาก 34 ประเทศ เดินทางมาเข้าร่วมค่ายฝึกอบรมนานาชาติ ภายใต้กรอบความร่วมมือ GCTF โดยประธานคกก.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไต้หวัน เน้นย้ำการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการป้องกันภัยพิบัติ เพื่อพัฒนากลไกการให้บริการแก่ภาคประชาสังคม

คณะกรรมการกิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วันที่ 23 มิ.ย. 68
 
ค่ายฝึกอบรมนานาชาติ ภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF) มีกำหนดการจัดขึ้น ณ โรงแรม The Howard Plaza Hotel Taipei ในช่วงระหว่างวันที่ 23 – 25 มิถุนายน 2568 โดยหัวข้อประจำปีนี้คือ “ความร่วมมือเชิงหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนทั่วโลก ในด้านการส่งมอบความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม : ความร่วมมือในการบริหารจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืน” (Global Public-Private Partnership in HA/DR:Disaster Governance Sustainable Cooperation) โดยกิจกรรมในครั้งนี้เกิดจากการประสานความร่วมมือ ระหว่างสมาคมแลกเปลี่ยนระหว่างญี่ปุ่น – ไต้หวัน และคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไต้หวัน (NSTC) และได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศ สถาบันอเมริกาในไต้หวัน สำนักงานตัวแทนรัฐบาลออสเตรเลียประจำกรุงไทเป และสำนักงานการค้าแคนาดาประจำกรุงไทเป ซึ่งประสบความสำเร็จในการดึงดูดนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ จำนวน 150 คน จาก 34 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วม
 
ในระหว่างการปราศรัยในพิธีเปิดการประชุม นายอู๋เฉิงเหวิน ประธาน NSTC เน้นย้ำว่า เมื่อเผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่เกิดจากภัยพิบัติชรูปแบบซับซ้อนในปัจจุบัน บทบาทของเทคโนโลยีด้านการป้องกันภัยพิบัติ ได้ก้าวล้ำหน้าการมุ่งเฉพาะงานวิจัยเพียงอย่างเดียว โดยได้ผลักดันการประยุกต์ใช้ในภาคประชาสังคม ก้าวสู่การเป็นเสาหลักของกลไกการบริการเพื่อสาธารณะ จากประสบการณ์การป้องกันสาธารณภัยของไต้หวัน บ่งชี้ให้เห็นว่า ความยืดหยุ่นด้านการปกป้องภาคประชาสังคม ไม่สามารถก่อเกิดได้ภายในพริบตา และไม่สามารถพึ่งพาเฉพาะรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียวได้ แต่จำเป็นต้องตั้งอยู่บนรากฐานการวิจัยทางเทคโนโลยี ประกอบกับกลไกการบริหารด้วยการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐ – ภาคเอกชน รวมไปถึงการเข้าร่วมของภาคประชาสังคมอย่างกระตือรือร้น
 
ประธานอู๋ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า NSTC มุ่งมั่นวิจัยและประยุกต์ใช้การป้องกันภัยพิบัติด้วยวิทยาศาสตร์ ระบบเตือนภัยล่วงหน้า และการบริหารจัดการความเสี่ยง อย่างแข็งขันมาเป็นเวลานาน พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการภาคเอกชนและองค์การที่ไม่แสวงหาผลกำไรอย่างต่อเนื่อง อาทิ มูลนิธิฉือจี้ ร้านสะดวกซื้อ Family Mart และบริษัท Chunghwa Telecom เป็นต้น โดยในปัจจุบัน ได้มีการประยุกต์ใช้ข้อมูลบิ๊กดาต้า เครือข่ายโลจิสติกส์และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี มาใช้ในการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดภัยพิบัติ การตอบสนองต่อสถานการณ์ภัยพิบัติ และการฟื้นฟูหลังเกิดเหตุ
 
ประธานอู๋ฯ กล่าวว่า ค่ายฝึกอบรมในครั้งนี้ถือเป็น “การก้าวออกจากกรอบแนวคิดไปสู่การปฏิบัติการ” พร้อมเน้นย้ำว่า แพลตฟอร์มดังกล่าวจะสามารถกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือนานาชาติรูปแบบใหม่ เพื่อส่งเสริมให้เทคโนโลยีสวมบทบาทในการเป็นสะพานเชื่อมโยงหุ้นส่วนโลก ควบคู่ไปกับการผลักดันสังคมที่มีความยืดหยุ่น โดยไต้หวันนอกจากจะมุ่งมั่นในการแบ่งปันประสบการณ์อย่างกระตือรือร้นแล้ว ยังมีเจตนารมณ์ที่จะบรรลุแนวคิด “การอุทิศคุณประโยชน์ด้วยเทคโนโลยี” บนเวทีนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อสร้างคุณูปการในการพิชิตเป้าหมายการป้องกันภัยและการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ แก่ประชาคมโลกอย่างเป็นรูปธรรม
 
ค่ายฝึกอบรมในครั้งนี้มุ่งเน้นการอภิปรายไปที่ 6 หัวข้อหลัก ได้แก่ : (1) บทบาทขององค์การนอกภาครัฐที่มีต่อการตอบสนองภัยพิบัติ (2) เครือข่ายนโยบายความร่วมมือ ระหว่างภาครัฐและเอกชน (3) การส่งเสริมการประยุกต์ใช้ทางเทคโนโลยี (4) กรณีตัวอย่างความร่วมมือแบบข้ามพรมแดน (5) การส่งเสริมการเรียนรู้ในภาคประชาสังคม หลังเหตุภัยพิบัติครั้งรุนแรง และ (6) ทิศทางการพัฒนาสังคมที่เปี่ยมด้วยความยืดหยุ่น
 
ในระหว่างการแสดงปาฐกถาในหัวข้อพิเศษ Ms. Mami Mizutori อดีตผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และผู้อำนวยการสำนักงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNDRR) ระบุว่า ความเสี่ยงภัยพิบัติโลกนับวันยิ่งทวีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น การประยุกต์ใช้ผลสัมฤทธิ์ทางเทคโนโลยี ประกอบเข้ากับการเข้าร่วมของภาคประชาสังคม พร้อมทั้งให้ความร่วมมือกับการประสานงานข้ามพรมแดน และการบูรณาการแบบข้ามหน่วยงาน จึงจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการยกระดับความยืดหยุ่นทางภาคประชาสังคมในภาพรวม
 
ระหว่างกิจกรรมค่ายฝึกอบรมครั้งนี้ ยังได้จัดเตรียมให้คณะตัวแทนเข้าเยี่ยมชมศาลา Tzu Chi Jing Si Hall ศูนย์เทคโนโลยีป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติของไต้หวัน (NCDR) และศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (CEOC) ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอให้เห็นถึงทิศทางการพัฒนาในอนาคตและแผนปฏิบัติการในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน  ในประเด็นการป้องกันภัยพิบัติด้วยปัจจัยทางเทคโนโลยีของไต้หวัน