New Southbound Policy Portal
TAITRA วันที่ 24 มิ.ย. 68
เพื่อยกระดับภาพลักษณ์ของไต้หวันในอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ สู่สายตาประชาคมโลก ควบคู่ไปกับการรุกขยายตลาดอาเซียนอย่างกระตือรือร้น สภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกแห่งไต้หวัน (TAITRA) ได้รับมอบหมายจากกรมการค้าระหว่างประเทศ (BOFT) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเศรษฐการไต้หวัน ให้เข้าร่วมจัดตั้ง “ศูนย์แสดงสินค้าเพื่อสุขภาพของไต้หวันแบบครบวงจร” ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยได้มีการจัดพิธีเปิดอย่างยิ่งใหญ่ขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2568 เชื่อว่า ศูนย์แสดงสินค้าในครั้งนี้จะสวมบทบาทในการเป็นสะพานเชื่อมโยง ที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้านสุขภาพของไต้หวัน รุกขยายสู่เวทีนานาชาติได้อย่างราบรื่น
นายหวังซีหมง เลขาธิการ TAITRA กล่าวขณะปราศรัยในพิธีเปิดป้ายว่า ตลาดชาวจีนที่มีขนาดใหญ่ในมาเลเซียมีความเชื่อมโยงอันลึกซึ้งกับไต้หวันมาอย่างช้านาน อันจะเห็นได้จากความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนที่มีร่วมกันมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังรวมถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการพัฒนาในภูมิภาค โดยการจัดตั้งศูนย์แสดงสินค้าเชิงสุขภาพของไต้หวันในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมความเชื่อมโยงและความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมระหว่างภาคธุรกิจแบบทวิภาคี ทั้งนี้ เพื่อร่วมจับมือกันรุกตลาดอาเซียนและตลาดในประเทศที่สาม ตลอดจนร่วมสร้างต้นแบบใหม่ทางความร่วมมือใหม่ที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน อันจะเป็นการอัดฉีดศักยภาพใหม่ๆ เข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าในระดับภูมิภาคต่อไป
Mr. Johari ประธานสมาคมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์มาเลเซีย (Malaysia Medical Device Manufacturers Association, MMDA) กล่าวว่า การจัดตั้ง “ศูนย์แสดงสินค้าเพื่อสุขภาพของไต้หวันแบบครบวงจร” นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความไว้วางใจและศักยภาพทางความร่วมมือในอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ ระหว่างไต้หวัน–มาเลเซีย แล้ว ยังเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการนำเข้าสินค้าเทคโนโลยีการแพทย์และนวัตกรรมที่มีคุณภาพจากต่างประเทศ เพื่อเป็นประโยชน์แก่แวดวงการแพทย์ของมาเลเซีย Mr. Johari ยังเน้นย้ำว่า ศูนย์แสดงสินค้านำเสนอแผนโซลูชันที่หลากหลาย อาทิ ระบบวินิจฉัยด้วย AI เครื่องวิเคราะห์ความหนาแน่นของกระดูกแบบพกพา และโมดูลฆ่าเชื้อด้วยนวัตกรรมม UVC LED ที่ล้วนตอบโจทย์ในภาคประชาสังคมของมาเลเซีย ทั้งการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน การควบคุมป้องกันการติดเชื้อ และการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการยกระดับกลไกการแพทย์ในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกลและเวชศาสตร์เชิงป้องกัน
กิจกรรมครั้งนี้สามารถดึงดูดบุคคลสำคัญในแวดวงทางการเมืองและภาคธุรกิจจากไต้หวัน - มาเลเซียจำนวนกว่า 120 คนเข้าร่วม โดยสินค้าที่นำมาร่วมจัดแสดงในครั้งนี้ ประกอบด้วย ระบบ VeriSee DR ซอฟต์แวร์ AI ด้านจักษุแพทย์ ที่ช่วยในการตรวจวินิจฉัยสภาวะเบาหวานขึ้นจอตา ผลงานวิจัยโดยบริษัท Acer Medical ที่นอกจากจะได้รับรางวัล Taiwan Excellence Award แล้ว ยังสามารถคว้าโล่ประกาศเกียรติคุณจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย มาครองได้สำเร็จอีกด้วย
บริษัท NKFG ได้ประยุกต์ใช้นวัตกรรม UVC LED ที่ได้รับรางวัลโนเบล มาผสมผสานเข้ากับไมโครชิปฆ่าเชื้อโรคที่คิดค้นวิจัยขึ้นเอง ซึ่งสามารถยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด – 19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เครื่องช่วยใส่ท่อช่วยหายใจระบบวิดีทัศน์ (Video laryngoscope) ที่วิจัยผลิตโดยบริษัท Anestek นำเสนอภาพความละเอียดคมชัดสูงแบบเรียลไทม์ เพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใส่ท่อช่วยหายใจและการปฐมพยาบาลฉุกเฉิน
ส่วนสถานการ์ณจำลองฝึกทักษะการรักษาด้วยการฝังเข็มโดยระบบ VR ที่คิดค้นขึ้นโดยโรงพยาบาล China Medical University Hospital ผสมผสานระหว่างสถานการณ์จำลองรูปแบบเสมือนจริง และศาสตร์การแพทย์แผนจีน ซึ่งได้รับรางวัลนวัตกรรมคุณภาพแห่งชาติ ประจำปี 2567 มาครอง แสดงให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลทางการแพทย์แผนจีน
ในระหว่างกิจกรรม ยังได้มีการติดต่อเชิญผู้จัดการที่มีหน้าที่ดูแลโครงการต่างๆ โดยตรง เพื่อส่งมอบการบริการแบบครบวงจร โดยมีหน้าที่ช่วยวิเคราะห์แผนการตลาด แสวงหาผู้มุ่งหวัง โปรโมทประชาสัมพันธ์ และจัดดำเนินการโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ เพื่อช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไต้หวันสามารถจับทิศทางความต้องการของตลาดมาเลเซียได้อย่างแม่นยำ