New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 25 มิ.ย. 68
เพื่อสืบสานจิตวิญญาณการทูตแบบบูรณาการ และประยุกต์ใช้ทรัพยากรของหน่วยงานต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2568 นายหลินเจียหรง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน และนายอู๋เฉิงเหวิน ประธานคณะกรรมการกิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTC) ได้ร่วมเป็นประธานการประชุมระดับรัฐมนตรี โดยที่ประชุมได้ลงมติร่วมกันเกี่ยวกับความร่วมมือใน 3 มิติ ประกอบด้วย สวนเทคโนโลยีอัจฉริยะในต่างประเทศ การพัฒนาบุคลากร และเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่มีความสำคัญ
โครงการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศพันธมิตร ที่มุ่งผลักดันโดยกต.ไต้หวัน มุ่งเน้นในด้านเทคโนโลยี บุคลากร และเงินทุน ซึ่งขานรับต่อโครงการความหวังของชาติใน 8 มิติ ที่ประกอบด้วยความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ เครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เชื่อถือได้และการบริหารจัดการดิจิทัล ความร่วมมือด้านพลังงานรูปแบบใหม่และคาร์บอนเครดิต โครงการจัดสร้างต้นแบบสวนอัจฉริยะในต่างประเทศ การแพทย์อัจฉริยะและโครงการสุขภาพ เกษตรอัจฉริยะ การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และอธิปไตยทางปัญญาประดิษฐ์ (Sovereign AI) เนื่องจากภารกิจมีส่วนเกี่ยวพันกับขอบเขตภายใต้การดูแลของ NSTC รมว.หลินฯ จึงได้ติดต่อเชิญประธานอู๋ฯ เข้าร่วมเป็นแรงผลักดันหลักในภารกิจ “การทูตทางเทคโนโลยี” เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการทูตเชิงบูรณาการร่วมกัน
สวนวิทยาศาสตร์ภายใต้การกำกับดูแลของ NSTC เป็นแหล่งกำเนิดของอุตสาหกรรมข้อได้เปรียบของไต้หวัน ทั้งเซมิคอนดักเตอร์ โทรคมนาคม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ และ AI จึงนับว่าเป็นโครงสร้างสำคัญของระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมไต้หวัน และเป็นที่ยอมรับอย่างสูงในเวทีระดับโลก นอกจากโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยและเอื้อต่อการใช้งานแล้ว ยังมีประสบการณ์ “การบริหารจัดการ” ที่ครอบคลุมและมีความรัดกุม ประกอบกับ “กฎระเบียบข้อบังคับทางกฎหมาย” ที่เป็นมิตรและมีประสิทธิภาพ หลังเสร็จสิ้นการหารือ ทั้งสองฝ่ายจึงลงมติเห็นชอบให้ NSTC เข้าช่วยจัดตั้งระบบการบริหารในสวนเทคโนโลยีอัจฉริยะในต่างประเทศ โดยในระยะแรก จะเริ่มจาก “สวนเทคโนโลยีอัจฉริยะไต้หวัน–ปารากวัย” ที่ตั้งอยู่ในปารากวัย เพื่อช่วยส่งเสริมให้รัฐบาลปารากวัย สามารถส่งมอบ “กลไกการบริการแบบเบ็ดเสร็จ” ให้สำหรับบรรดาผู้ประกอบการที่เข้ามาตั้งฐาน ทั้งนี้ เพื่อยกระดับให้ปารากวัย สวสวมบทบาทเป็นไต้หวันในกลุ่มประเทศทวีปอเมริกาใต้
รมว.หลินฯ และประธานอู๋ฯ ต่างเล็งเห็นว่า แหล่งบุคลากรคุณภาพสูงเป็นปัจจัยหลักในความสำเร็จของสวนเทคโนโลยีอัจฉริยะในต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ ทั้งสองฝ่ายจึงยินดีร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากร โดยระยะแรก NSTC จะเชื่อมโยงโครงการนำร่องเพื่อการฝึกงาน สำหรับบุคลากรต่างชาติที่ต้องการมาเข้าฝึกหัดความเชี่ยวชาญในไต้หวัน (International Internship Pilot Program, IIPP) ให้เข้ากับโครงการความหวังแห่งชาติใน 8 มิติของกต.ไต้หวัน ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนที่เปี่ยมศักยภาพจากกลุ่มประเทศพันธมิตรและบรรดามิตรประเทศของไต้หวัน เข้ามีส่วนร่วมวิจัยและฝึกงานในไต้หวัน ตลอดจนพัฒนาไปสู่การบ่มเพาะบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีขั้นสูงในอนาคตต่อไป
รมว.หลินฯ เน้นย้ำว่า “รายงานดัชนีเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่สำคัญระดับโลก” ที่ประกาศโดยศูนย์วิจัย Belfer Center for Science and International Affairs แห่งสถาบัน Harvard Kennedy School ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้ทำการประเมินจัดอันดับเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่สำคัญ รวม 5 มิติจาก 25 ประเทศแนวหน้าของโลก ที่ประกอบด้วย AI , เซมิคอนดักเตอร์ , เทคโนโลยีชีวภาพ , เทคโนโลยีอวกาศและควอนตัมเทคโนโลยี โดยจัดให้ไต้หวันอยู่อันดับที่ 8 ในภาพรวม ซึ่งนอกจากจะเป็นผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากความสามารถอันโดดเด่นของผุ้ประกอบการด้านเทคโนโลยีของไต้หวัน ยังบ่งชี้ให้เห็นถึงศักยภภาพด้านการวิจัยทางเทคโนโลยีของไต้หวันอีกด้วย หลายปีมานี้ NSTC มุ่งมั่นผลักดันการลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเทคโนโลยี (STA) กับกลุ่มประเทศแนวหน้าระดับโลก โดยได้ทยอยร่วมลงนาม ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ , ไต้หวัน – เยอรมนี , ไต้หวัน – ฝรั่งเศส ,ไต้หวัน – แคนาดา และไต้หวัน – ออสเตรเลีย รวม 5 ฉบับ ซึ่งบังเกิดผลสัมฤทธิ์ตามความคาดหวัง ในอนาคต กต.ไต้หวันจะผนึกกำลังกับ NSTC และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมผลักดันการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ในระดับนานาชาติ ภายใต้พื้นฐานที่มีอยู่เดิม เพื่อเชื่อมโยงประสานความร่วมมือตั้งแต่ช่วงกลางน้ำไปสู่ช่วงต้นน้ำด้านการวิจัยทางเทคโนโลยี ไปจนถึงการประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมในช่วงปลายน้ำ ตลอดจนขยายรากฐานธุรกิจไปสู่เวทีนานาชาติ เพื่อผลักดันการทูตในหลากหลายมิติ ตลอดจนเป็นการพิชิตวิสัยทัศน์ “ดินแดนแห่งเศรษฐกิจที่พระอาทิตย์ไม่ตกดิน” ที่ยื่นเสนอโดยประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ