New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดี สภาบริหารและกระทรวงเศรษฐการ วันที่ 30 มิ.ย. 68
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำไต้หวัน ได้ให้การต้อนรับ Mr. Douglas Alexander รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และการค้าอังกฤษ (Department for Business and Trade, DBT) และคณะตัวแทน พร้อมอวยพรให้การประชุมเสวนาทางเศรษฐกิจและการคต้า ระหว่างไต้หวัน - อังกฤษ ครั้งที่ 27 บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามความคาดหมายดังที่ตั้งใจไว้
ปธน.ไล่ฯ แถลงว่า หลายปีมานี้ ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – อังกฤษ นับวันยิ่งทวีความแนบแน่นมากยิ่งขึ้น ทั้งสองฝ่ายนอกจากจะมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านพลังงานลมนอกชายฝั่ง นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการศึกษาเชิงวัฒนธรรมแล้ว ยังได้มีการจัดตั้งกลไกการเสวนากันเป็นวาระประจำ ในด้านเศรษฐกิจ - การค้า พลังงานและเกษตรกรรมอีกด้วย
ปธน.ไล่ฯ ระบุว่า อังกฤษในปัจจุบันถือเป็นคู่ค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ในทวีปยุโรปของไต้หวัน และเป็นแหล่งที่มาของเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของไต้หวัน และเป็นจุดหมายปลายทางอันดับ 3 ในทวีปยุโรปสำหรับการเข้าลงทุนของผู้ประกอบการไต้หวัน โดยในปี 2566 ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนาม “ความตกลงว่าด้วยการเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางการค้า” (Enhanced Trade Partnership, ETP) ซึ่งถือเป็นแผนแม่บททางเศรษฐกิจ – การค้าที่กำหนดขึ้นอย่างเป็นระบบมาตรฐานฉบับแรก ที่ไต้หวันได้ร่วมลงนามกับกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป เปี่ยมด้วยนัยยะสำคัญยิ่ง ประกอบกับช่วงเวลาที่ผ่านมา ยังมีผลสัมฤทธิ์มากมายที่บังเกิดขึ้น ภายใต้ความตกลงข้างต้น ปธน.ไล่ฯ จึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เห็นทั้งสองฝ่ายมีมติเห็นชอบในการร่วมลงนามข้อตกลง 3 รายการย่อย ทั้งในด้าน “การลงทุน” “การค้าดิจิทัล” และ “พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์” ซึ่งจะมีส่วนช่วยยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าแบบทวิภาคี ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาทางอุตสาหกรรมระหว่างสองประเทศ
ในโอกาสนี้ ปธน.ไล่ฯ ยังได้แสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลอังกฤษ ที่ให้การสนับสนุนต่อสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันอย่างหนักแน่นเสมอมา พร้อมระบุว่า “แผนพิจารณาการป้องกันเชิงยุทธศาสตร์” (Strategic Defence Review) และ “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ” (National Security Strategy) ที่ประกาศโดยรัฐบาลอังกฤษ ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ได้มีการแสดงจุดยืนต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในช่องแคบไต้หวันที่เกิดจากความเห็นชอบเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นว่า ไต้หวัน – อังกฤษ ยึดมั่นในเป้าหมายเดียวกันแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวโยงกันในด้านความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก และพื้นที่มหาสมุทรแอตแลนติก
ปธน.ไล่ฯ เผยว่า สภาสามัญชนอังกฤษได้มีมติผ่านญัตติที่เป็นมิตรต่อไต้หวัน เมื่อเดือนพฤศจิกายนของปีที่แล้ว โดยระบุชัดว่า ญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 มิได้มีการกล่าวถึงบทบาทของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีต่ออำนาจอธิปไตยของไต้หวัน และมิได้มีการกำหนดสถานภาพของไต้หวันบนเวทีสหประชาชาติ โดยรัฐบาลอังกฤษได้แสดงจุดยืนที่มีต่อญัตติ 2758 อย่างเปิดเผย เพื่อขานรับต่อญัตติข้างต้น พร้อมทั้งแสดงจุดยืนต่อต้านการตีความใดๆ ที่เป็นการสนองต่อความทะเยอทะยานที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงบริบททางประวัติศาสตร์ ปธน.ไล่ฯ จึงขอถือโอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลอังกฤษ ในฐานะตัวแทนภาคประชาชนชาวไต้หวันด้วยใจจริง
ปธน.ไล่ฯ แถลงว่า ไต้หวัน - อังกฤษ มีข้อได้เปรียบทางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่สามารถเอื้อประโยชน์แก่กัน เมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลก อาทิ การปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานโลก เชื่อว่า ไต้หวัน – อังกฤษ ถือเป็นหุ้นส่วนที่ไม่สามารถแยกจากกันได้ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลอังกฤษจะให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมใน “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (CPTPP) เพื่อร่วมสร้างบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ – การค้าในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่เจริญรุ่งเรืองต่อไป
Mr. Alexander กล่าวขณะปราศรัยว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสพบปะกับทุกท่านในที่นี้ เพื่อร่วมอภิปรายแนวทางการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าในเชิงลึก ระหว่างไต้หวัน - อังกฤษ ควบคู่ไปกับการสำรวจโอกาสที่เพิ่มพูนที่ทั้งสองฝ่ายจะสามารถร่วมผลักดันไปพร้อมกันในภายภาคหน้า
Mr. Alexander แถลงว่า ในแง่การค้าและการลงทุน ตนรู้สึกภาคภูมิใจอย่างมากที่เห็นทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามข้อตกลงทางความร่วมมือ 3 รายการย่อย ภายใต้กรอบความตกลง ETP ได้แก่ การลงทุน การค้าดิจิทัล รวมถึงพลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เป็นต้น ซึ่งจะถูกยึดไว้เป็นกรอบโครงสร้างที่ชัดเจนสำหรับความร่วมมือแบบทวิภาคีในภายภาคหน้า ตลอดจนเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการรุกขยายตลาดและการกำหนดทิศทางการพัฒนาระหว่างสองประเทศ เชื่อว่าด้วยแรงหนุนที่ผสมผสานเข้ากับการประชุมเสวนาทางการค้าที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนในรูปแบบนี้ จะมีส่วนช่วยในการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจรูปแบบใหม่ให้สำหรับผู้ประกอบการอังกฤษ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงการประสานงานที่เกี่ยวข้องกับกฎข้อบังคับทางกฎหมาย ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการลงทุนระยะยาวในการพัฒนาข้อได้เปรียบที่สำคัญ ขณะเดียวกัน รัฐบาลอังกฤษก็จะมุ่งให้การสนับสนุนไต้หวันในการรุกขยายและพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าที่มีคุณภาพสูง ร่วมกับพันธมิตรที่เชื่อถือได้ในอนาคต
Mr. Alexander ยังระบุอีกว่า “อุตสาหกรรมที่เชื่อถือได้ 5 รายการ” ที่มุ่งผลักดันโดยปธน.ไล่ฯ มีความสอดคล้องกับแผนแม่บททางอุตสาหกรรมและการค้าที่รัฐบาลอังกฤษ ได้ประกาศเผยแพร่ไปเมื่อช่วงที่ผ่านมา ซึ่งครอบคลุมไปด้วยพลังงานสะอาด เซมิคอนดักเตอร์ และกระบวนการผลิตที่ทันสมัย โดยจะเห็นได้จากการที่ทั้งสองฝ่ายวางแผนลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี AI และศักยภาพของการประมวลผล
วานนี้ Mr. Alexander ได้มีโอกาสเดินทางเข้าเยี่ยมชมศูนย์อวกาศแห่งชาติไต้หวัน (TASA) โดย Mr. Alexander เชื่อว่า ด้วยเทคโนโลยีความเชี่ยวชาญและมาตรฐานที่เชื่อถือได้ของอังกฤษ จะสามารถส่งมอบแผนโซลูชันที่เป็นประโยชน์ให้แก่ไต้หวัน ทั้งในด้านเทคโนโลยีดาวเทียม พลังงานสีเขียว และความมั่นคงทางไซเบอร์ เป็นต้น
Mr. Alexander ระบุว่า ขณะนี้ ไต้หวันกำลังมุ่งแสวงหาช่องทางการกระจายเงินทุน และสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนกับประชาคมโลกอย่างกระตือรือร้น เชื่อว่า อังกฤษจะเป็นจุดมุ่งหมายของการลงทุนที่แข็งแกร่งและมีศักยภาพการพัฒนาที่โดดเด่น โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการไต้หวันที่ครองบทบาทผู้นำในภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัย อย่างหุ่นยนต์โรบอท และพลังงานสะอาด ตลาดอังกฤษถือว่ามีเสถียรภาพ เปิดกว้างและสอดรับต่อวิสัยทัศน์ของไต้หวันในด้านเทคโนโลยีขั้นสูงและอนาคตที่ยั่งยืน
ในวันเดียวกันนี้ นายเหยาจินเสียง ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำอังกฤษ และ Ms. Ruth Bradley-Jones ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนลงนามข้อตกลง 3 รายการย่อย ภายใต้กรอบความตกลง ETP อย่างเป็นทางการขึ้น ณ กรุงไทเป
หลังจากเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามความตกลง ETP เป็นต้นมา ทั้งสองฝ่ายต่างก็ยินดีที่จะหยิบยกประเด็นที่กำลังเป็นกระแสโลกอย่าง การค้าดิจิทัล พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และการลงทุน มาร่วมเปิดการเจรจา หลังจากที่ได้มีการหารืออภิปรายร่วมกันเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี ทั้งสองฝ่ายจึงสามารถบรรลุฉันทามติและก่อให้เกิดการลงนามในครั้งนี้ขึ้น
ผู้แทนเหยาฯ กล่าวว่า ไต้หวันตั้งอยู่ใจกลางเมืองในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ถือครองบทบาทสำคัญในด้านเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศและการติดต่อสื่อสารระดับโลก ควบคู่ไปกับการมุ่งผลักดันนวัตกรรมดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ส่วนอังกฤษมีพื้นฐานที่ครอบคลุมในด้านนวัตกรรมการวิจัยพัฒนา เทคโนโลยีดิจิทัล พลังงานหมุนเวียนและการให้บริการทางการเงิน ผู้แทนเหยาฯ เชื่อว่า ภายใต้ความตกลง ETP ระหว่างไต้หวัน – อังกฤษ จะสามารถยกระดับเสถียรภาพของระบบห่วงโซ่อุปทานและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่กัน โดยไต้หวันจะสวมบทบาทเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ในการจับมือร่วมพัฒนาเคียงคู่ไปพร้อมกับอังกฤษ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนและเจริญรุ่งเรืองต่อไป
Ms. Bradley-Jones ชี้ว่า ไต้หวัน – อังกฤษ มีเป้าหมายร่วมกันในการผลักดันการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่มีนัยยะสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งจะเห็นได้จาก “แผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมรูปแบบใหม่” (Modern Industrial Strategy) ที่เพิ่งได้รับการประกาศโดยรัฐบาลอังกฤษ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และ“อุตสาหกรรมที่เชื่อถือได้ 5 รายการ” ของไต้หวัน ซึ่งทั้งสองแผนการข้างต้นมีความเชื่อมโยงระหว่างกันอย่างลึกซึ้ง โดยที่พวกเราสามารถร่วมสำแดงศักยภาพข้อได้เปรียบแบบทวิภาคี ผ่านการประสานความร่วมมือ เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน
ในปัจจุบัน ไต้หวันได้กลายมาเป็นตลาดหลักที่สำคัญในระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมพลังงานสะอาดของอังกฤษ ซึ่งมีศักยภาพการขยายตัวที่เห็นได้ชัดอย่างต่อเนื่อง
ข้อตกลงทางการค้าดิจิทัล ระหว่างไต้หวัน – อังกฤษ นับเป็นเอกสารการค้าดิจิทัลฉบับแรกที่ไต้หวันร่วมลงนามกับต่างประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมจัดตั้งหลักการการค้าดิจิทัล เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางการค้าดิจิทัลที่เปิดกว้าง ยอมรับ มั่นคง และเป็นธรรม สร้างหลักประกันในการรักษาสิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบการและผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการธำรงรักษาความมั่นคงของเครือข่ายระบบห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนการบริหารจัดการ และสามารถแสวงหาโอกาสธุรกิจใหม่ๆ
ข้อตกลงด้านพลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ก็ถือเป็นเอกสารการค้าสีเขียวระหว่างประเทศฉบับแรกที่ไต้หวันได้ทำการลงนาม โดยทั้งสองฝ่ายมีพันธกิจในการพิชิตเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 เช่นเดียวกัน และจะมุ่งมั่นรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เพื่อสร้างหลักประกันด้านความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว โดยข้อตกลงฉบับนี้ สะท้อนให้เห็นถึงคำมั่นที่ทั้งสองฝ่ายต่างมีความตั้งใจในการมุ่งสู่ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการจัดตั้งแพลตฟอร์มความร่วมมือระหว่างกัน
ข้อตกลงด้านการลงทุน กำหนดให้ทั้งสองฝ่ายมุ่งส่งเสริมการลงทุนแบบทวิภาคี และกระบวนการลงทุนที่สะดวกรวดเร็ว เน้นย้ำการพัฒนานโยบายด้านการลงทุนที่หลากหลาย โดยเฉพาะการสนับสนุนกลุ่มสตรีและกลุ่มผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในการรุกขยายตลาดนานาชาติ ควบคู่ไปกับการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจและยกระดับศักยภาพทางการแข่งขัน นอกจากนี้ ข้อตกลงฉบับดังกล่าวยังเป็นครั้งแรกที่ไต้หวัน – อังกฤษ ได้กำหนดการสร้างสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่เป็นธรรม ในระหว่างการลงทุนของผู้ประกอบการทั้งสองฝ่าย พร้อมทั้งยินดีที่อ้างอิงตามมาตรฐานข้อตกลงว่าด้วยการลงทุนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่ากิจการรัฐวิสาหกิจยึดมั่นตามหลักการการบริหารเชิงพาณิชย์และเกณฑ์การแข่งขันของผู้ประกอบการภาคเอกชน ในระหว่างการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนกันในประเด็นนโยบายการส่งมอบเงินอุดหนุนด้านการประกอบอาชีพ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงจิตวิญญาณการค้าที่เป็นธรรมและความโปร่งใสของตลาด ภายใต้ข้อตกลงประการดังกล่าวนี้ ในอนาคต ทั้งสองฝ่ายจะมุ่งผลักดันความร่วมมือทางภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญ ควบคู่ไปกับการพัฒนากระบวนการพิจารณาเพื่อการอนุมัติการลงทุน ทั้งนี้ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการลงทุนที่เป็นธรรมและเป็นมิตรให้แก่นักลงทุน
นอกจากนี้ ในวันเดียวกันนั้น (30 มิ.ย. 68) นางเจียงเหวินรั่ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการไต้หวัน และ Mr. Douglas Alexander รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และการค้าอังกฤษ ก็ได้ร่วมเป็นประธานในการประชุมเสวนาทางเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างไต้หวัน - อังกฤษ ประจำปี 2568 ที่จัดขึ้น ณ กรุงไทเป โดยทั้งสองฝ่ายต่างแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในประเด็นการเสริมสร้างความร่วมมือในทิศทางเชิงลึก ทั้งในด้าน AI , เซมิคอนดักเตอร์และพลังงาน เป็นต้น
รมช.เจียงฯ แบ่งปันทิศทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับนานาชาติและในไต้หวัน รวมถึงบทบาทสำคัญของไต้หวันในความทรหดของระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมระหว่างประเทศ พร้อมชี้แจงว่า รัฐบาลไต้หวันมุ่งมั่นให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการในการรับมือต่อวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางการค้า พร้อมเน้นย้ำว่า ไต้หวัน – อังกฤษ ต่างก็เป็นผู้ให้การสนับสนุนประชาธิปไตยและการค้าเสรี จึงหวังที่จะร่วมรักษาความเจริญรุ่งเรืองและเสถียรภาพทางการค้าในระดับภูมิภาค เคียงคู่กับอังกฤษต่อไป
Mr. Alexander กล่าวว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าแบบทวิภาคี นับวันยิ่งเป็นไปอย่างแนบแน่นมากยิ่งขึ้น ในปี 2567 มูลค่าการค้าแบบทวิภาคี ขยายตัวเพิ่มสูงถึง 9,300 ล้านยูโร สร้างสถิติใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับปี 2566 แล้ว เติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 8%