บทนำ
ในช่วงหลายปีมา เศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนดึงดูดให้นักลงทุนจากทั้งยุโรป สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และประเทศเอเชียอื่นๆ ต่างก็พาเหรดกันเข้าไปลงทุนในภูมิภาคนี้ ในส่วนของไต้หวัน รัฐบาลได้เริ่มผลักดันนโยบายมุ่งใต้ครั้งใหม่ตั้งแต่ปี 2016 เพื่อสร้างความร่วมมือกับ 10 ประเทศในอาเซียน 6 ประเทศในเอเชียใต้ และออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เพื่อเป้าหมายที่จะสร้างผลประโยชน์ร่วมกันต่อไป
ปัจจัยสำคัญอันดับ 1 ต่อความสำเร็จของนโยบายมุ่งใต้ใหม่คือ บุคลากร และเพื่อส่งเสริมนโยบายมุ่งใต้ใหม่ รัฐบาลจึงผลักดัน “โครงการพัฒนาบุคลากรตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ปี 2017-2020” โดยยึดตามหลักการ “บุคลากรคือรากฐานสำคัญ แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน แบ่งปันทรัพยากร” ด้วยการฝึกอบรมบุคลากรทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ทำให้สถาบันศึกษาในไต้หวันต่างก็มีการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมกับประเทศอาเซียนและเอเชียใต้ จนสามารถสร้างความสัมพันธ์ได้อย่างล้ำลึก และประสบความสำเร็จในการอบรมบุคลากรร่วมกัน เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคต่อไป
■จัดการอบรมบุคลากรผู้เชี่ยวชาญสำหรับภาคอุตสาหกรรมของทั้งสองฝ่าย : ฝึกอบรมบุตรหลานผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่มีความชำนาญด้านภาษา ให้มีทักษะในการทำงาน ฝึกอบรมครูอาจารย์และนักเรียนนักศึกษาในไต้หวัน ให้มีความเข้าใจในภาษาและวัฒนธรรมของประเทศอาเซียน ฝึกอบรมและให้ความรู้แก่นักเรียนนักศึกษาในประเทศอาเซียนและเอเชียใต้ให้มีความเชี่ยวชาญทั้งในด้านภาษาจีนและทักษะการทำงาน
■เพิ่มการแลกเปลี่ยนด้านบุคลากรระหว่างทั้งสองฝ่าย : เพิ่มโอกาสให้แก่นักเรียนนักศึกษาที่โดดเด่นจากประเทศอาเซียนและเอเชียใต้ ได้เดินทางมาศึกษาต่อหรือฝึกงานในไต้หวัน สนับสนุนให้นักเรียนนักศึกษาของไต้หวันเดินทางไปเรียนรู้ในเชิงลึกที่ประเทศอาเซียนหรือเอเชียใต้ และสนับสนุนการแลกเปลี่ยนด้านกีฬากับกลุ่มประเทศมุ่งใต้ใหม่
■ขยายความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างทั้งสองฝ่าย : ศึกษาความต้องการด้านบุคลากรในประเทศมุ่งใต้ใหม่ สร้างแพลตฟอร์มที่ใช้ในการติดต่อระหว่างกัน และก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรทางวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนระหว่างกัน
■นักศึกษาต่างชาติ : พัฒนาการใช้ทรัพยากรด้านการศึกษาระดับสูงและสายอาชีพให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้มีนักเรียนนักศึกษาจากกลุ่มประเทศตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่เดินทางมาศึกษาต่อในไต้หวันเพิ่มขึ้นปีละ 20% และในปี 2020 มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 58,000 ราย
ผลสำเร็จ : จำนวนนักศึกษาจากกลุ่มประเทศตามนโยบายมุ่งใต้ที่มาศึกษาต่อในไต้หวันในปี 2017 มีจำนวน 41,000 ราย ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้
■บุคลากรในภาคอุตสาหกรรม : พัฒนาบุคลากรตามความต้องการในการขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศตามนโยบายมุ่งใต้ของภาคเอกชน เพิ่มประสิทธิภาพการฝึกอบรมบุคลากรและทรัพยากรที่ใช้ในการฝึกฝนทักษะต่างๆ รวมทั้งออกมาตรการดึงดูดบุคลากรให้ทำงานกับองค์กรของไต้หวัน
ผลสำเร็จ :
►เปิดคอร์สนานาชาติฝึกอบรมด้วยความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและสถาบันศึกษาสำหรับตลาดมุ่งใต้ใหม่ 92 คอร์ส รวม 2,931 คน อาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยเดินทางมาศึกษาต่อในไต้หวัน 100 คน Advanced Placement และ Joint Dual-degree รวม 27 คอร์ส มีนักศึกษามาเข้าร่วม Summer School ในไต้หวัน 2,675 คน มีผู้เข้าอบรมโปรแกรมระดับ Executive จำนวน 218 คน มีผู้เข้าร่วม Experience Educational Program จำนวน 352 คน มีผู้เข้าร่วม Oversea Youth Vocational Training School จำนวน 2,529 คน มีผู้เข้าร่วม Vocational Education Program for Overseas Compatriot Students จำนวน 2,274 คน มีบริษัทเข้าร่วมโครงการรับนักศึกษาต่างชาติเข้าฝึกงานจำนวน 204 ราย พร้อมทั้งมีการจัดทำฐานข้อมูลบุคลากรจากกลุ่มประเทศมุ่งใต้ใหม่
►จัดตลาดนัดพบแรงงานสำหรับนักศึกษาในมาเลเซียและเวียดนามที่สำเร็จการศึกษาในปีนี้ (2018) โดยมีบริษัทเข้าร่วมรับสมัครงานจำนวน 100 ราย และมีตำแหน่งงาน 1,500 ตำแหน่ง
►ส่งเสริมให้นักศึกษาต่างชาติเข้าทำงานในไต้หวันหลังจบการศึกษา โดยในปี 2017 มีจำนวน 3,326 คน ที่ทำงานในไต้หวันหลังจบการศึกษา เพิ่มจากปี 2016 ที่มีจำนวน 2,730 คน คิดเป็นจำนวน 596 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.83
■บุตรหลานของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และนักเรียนสายอาชีพในไต้หวัน : จัดตั้งระบบฝึกอบรมสำหรับบุตรหลานของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ผลักดันโครงการสร้างบุคลากรจากผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้นักเรียนนักศึกษาในไต้หวันเดินทางไปศึกษาหรือฝึกงานยังกลุ่มประเทศตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ เพื่อเรียนรู้ภาษา วัฒนธรรม และอุตสาหกรรมของประเทศอาเซียน จำนวนปีละ 2,000 คน
ผลสำเร็จ : จัดทำหนังสือแบบเรียนภาษาของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่จำนวน 53 เล่ม ฝึกอบรมบุคลากรเพื่อทำการสอนภาษาของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ จำนวน 1,698 คน มีผู้เข้าร่วมโครงการกลับไปค้นหารากเหง้า และโครงการเรียนรู้ประสบการณ์จากการทำงานในต่างประเทศ จำนวน 94 คน มีผู้เดินทางไปฝึกงานกับบริษัทต่างๆ ในประเทศมุ่งใต้ใหม่ จำนวน 1,389 คน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้จากประสบการณ์ในต่างประเทศ/เรียนรู้ในเชิงลึก/อาสาสมัครในต่างแดน/แลกเปลี่ยนประสบการณ์การก่อตั้งธุรกิจ รวมทั้งสิ้น 6,021 คน
■การติดต่อกับต่างประเทศ : เพิ่มอิทธิพลของไต้หวันในเวทีโลก ตอกย้ำความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศมุ่งใต้ใหม่ พัฒนาบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญให้ตรงตามความต้องการของตลาดในประเทศนั้นๆ
ผลสำเร็จ :
►ให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัย 7 แห่งในอินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย มาเลเซีย และเมียนมาร์ ในการจัดตั้ง Resource Center for Economic and Industry-Academy Cooperation ในแต่ละพื้นที่
►จัดตั้ง Taiwan Connection Point ขึ้นใน 8 ประเทศมุ่งใต้ใหม่
►ให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัย 5 แห่งในการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรทางวิชาการใน 5 สาขา สร้างแพลตฟอร์มในการติดต่อแลกเปลี่ยนในระหว่างกลุ่มมหาวิทยาลัยที่เป็นพันธมิตรกัน
►เชิญข้าราชการและผู้บริหารมหาวิทยาลัยจากประเทศอินเดีย มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทยมาเยือนไต้หวันรวม 21 คณะ 280 คน
ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ด้านบุคลากรระหว่างไต้หวันกับประเทศอาเซียนและเอเชียใต้ มักจะเป็นไปในทิศทางเดียว โดยไม่ค่อยมีการแลกเปลี่ยนระหว่างทั้งสองฝ่าย โครงการพัฒนาบุคลากรตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ได้มีขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยจะยังคงให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมบุคลากรและการแลกเปลี่ยนด้านบุคลากร รวมถึงสร้างความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยจะผนวกรวมกลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และลูกหลาน เพื่อยกระดับทรัพยากรบุคคลระหว่างไต้หวันและประเทศอาเซียน ส่งเสริมการสร้างผลประโยชน์ร่วมกันในการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค