
บรรยากาศพิธีเปิดนิทรรศการ 2018 Taiwan Higher Education Fair (จากซ้ายไปขวา นายจางเหวยปิน นายถงเจิ้นหยวน ผู้แทนไต้หวันประจำประเทศไทย อธิบดีปี้จู่อัน นางหวงสูหวนหรือ Mrs. Sukanit Piyavittayanon ที่ปรึกษาด้านภาษาจีน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน) ภาพโดย กระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน
ไต้หวันจัดนิทรรศการและเวิร์คช็อปในกทม. เร่งสร้างความร่วมมือกับภาคการศึกษาไทย
กระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน วันที่ 30 ส.ค. 61
กระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน ได้เร่งผลักดันโครงการอบรมบุคลากรตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ โดยจะเพิ่มจำนวนนักศึกษาไทยที่เดินทางมาศึกษาต่อในไต้หวันให้มากขึ้น พร้อมส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนและสร้างความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาระดับสูงของทั้งสองฝ่าย ซึ่งนายปี้จู่อัน อธิบดีกรมการศึกษาระหว่างประเทศและสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน (Department of Internaional and Corss-strait Education, DICE) ได้นำคณะตัวแทนจากสถานศึกษารวม 27 แห่งของไต้หวันไปเข้าร่วมในนิทรรศการ 2018 Taiwan Higher Education Fair และ Taiwan-Thai Workshop on Higher Education
ทั้งนี้ ในปี 2016 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติของประเทศไทย ได้มีการอนุมัติงบประมาณจำนวน 34,000 ล้านบาทภายในเวลา 20 ปี เพื่อใช้ในการพัฒนาบุคลากรระดับดุษฎีบัณฑิตจำนวน 12,290 คน สำหรับป้อนให้กับ 10 อุตสาหกรรมสำคัญตามนโยบาย Thailand 4.0 (ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สินค้าอีเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบริการด้านสุขภาพเชิงท่องเที่ยว การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อาหาร หุ่นยนต์สำหรับภาคอุตสาหกรรม โลจิสติกส์และการบิน เชื้อเพลิงชีวภาพและไบโอเคมิคัล เทคโนโลยีดิจิทัล และการบริการทางการแพทย์) ซึ่งไต้หวันได้มีการผลักดันโครงการตามนโยบายอุตสาหกรรมนวัตกรรม 5+2 และนโยบายมุ่งใต้ครั้งใหม่ เพื่อรองรับกระแสแห่งโลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมทั้งสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกลุ่มประเทศตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ซึ่งนิทรรศการ Taiwan Higher Education Fair จะเป็นสะพานสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างภาคการศึกษาของไต้หวันและไทย พร้อมทั้งช่วยให้ครูอาจารย์และนักเรียนนักศึกษาของไทย มีความเข้าใจในเชิงลึกต่อการศึกษาระดับสูงของไต้หวัน อันจะเป็นการสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนทางวิชาการที่หลากหลายขึ้นต่อไป
นิทรรศการ 2018 Taiwan Higher Education Fair ได้ทำพิธีเปิดอย่างยิ่งใหญ่ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีนายถงเจิ้นหยวน ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทย นายอรรถพล สังขวาสี ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือ สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา นางหวงสูหวน ที่ปรึกษาด้านภาษาจีน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และนายจางเหวยปิน ประธานกรรมการ โรงเรียนนานาชาติไทย-จีน เดินทางมาร่วมในพิธีด้วย
ในระหว่างกล่าวปราศรัย อธิบดีปี้จู่อันชี้ว่า รัฐบาลไทยมีวิสัยทัศน์ในด้านนโยบายการศึกษาระดับสูงที่ดีมาก เพราะประชาชนที่ได้รับการศึกษาที่ดี จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาประเทศ ซึ่งรัฐบาลไต้หวันก็ให้ความสำคัญกับเนื้อหาของการศึกษาระดับสูงและการสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความเป็นสากลในสถานศึกษาเป็นอย่างมาก การจัดนิทรรศการในครั้งนี้ ก็เพื่อนำเอาสถานศึกษาชั้นนำของไต้หวัน มาแนะนำต่อนักเรียนนักศึกษาไทย รวมทั้งสร้างโอกาสในการสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาต่อไป
การผลักดันด้านการศึกษาตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ดึงดูดให้นักเรียนนักศึกษาจากไทยเดินทางมาศึกษาต่อในไต้หวันมากขึ้น โดยในปี 2018 มีการมอบ “ทุนการศึกษาไต้หวัน” ให้แก่นักศึกษาไทยจำนวน 15 ราย พร้อมจัดตั้ง “โครงการฝึกอบรมบุคลากรชั้นนำตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่” ขึ้น โดยจะมีการจัดงบประมาณสนับสนุนอาจารย์ในมหาวิทยาลัยจากประเทศอาเซียน ที่รวมถึงไทย และประเทศเอเชียใต้ ให้เดินทางมาศึกษาต่อในระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตในไต้หวัน นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินโครงการ “หลักสูตรความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับนักศึกษาต่างชาติ” ขึ้นด้วย โดยในปี 2018 ได้มีการรับนักศึกษาไทยเข้าร่วมหลักสูตรจำนวน 475 ราย ซึ่งโครงการต่างๆ เหล่านี้ ต่างก็ถือเป็นสะพานที่เชื่อมโยงและสร้างความสัมพันธ์ในการแลกเปลี่ยนระหว่างไต้หวันและไทยในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น
จากสถิติของกระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน ในปี 2017 มีนักศึกษาต่างชาติเดินทางมาศึกษาต่อในไต้หวันในส่วนของการศึกษาระดับสูงเป็นจำนวนรวม 117,970 คน คิดเป็นร้อยละ 9.3 ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด โดยเป็นนักศึกษาจากประเทศตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่มากกว่า 40,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีหลังมานี้ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยประเทศ 3 อันดับแรกได้แก่ มาเลเซีย จำนวน 17,079 คน เวียดนาม จำนวน 7,339 คน และอินโดนีเซีย จำนวน 6,453 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของจำนวนนักศึกษาจากประเทศตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ทั้งหมด สำหรับประเทศไทยอยู่ในอันดับ 4 จำนวน 2,125 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2016 ที่มี 1,749 คน คิดเป็นร้อยละ 21.5 ถือเป็นอัตราการขยายตัวในระดับสูง เชื่อว่าการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของการศึกษาไต้หวันให้เพิ่มสูงขึ้น และดึงดูดนักเรียนนักศึกษาไทยเดินทางมาศึกษาต่อในไต้หวันมากขึ้นด้วย
ในขณะเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการยังมีโครงการสอบชิงทุนการศึกษารัฐบาลสำหรับไปศึกษาต่อในต่างประเทศ และโครงการสร้างฝันด้วยการไปฝึกสอนในกลุ่มประเทศตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ รวมถึงโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสองฝ่าย เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาและครูอาจารย์ของไต้หวันเดินทางไปศึกษาต่อหรือใช้ชีวิตในประเทศไทย เพื่อยกระดับบุคลากรในด้านต่างๆ ให้มีความเป็นสากลมากขึ้น โดยในจำนวนนี้ ในปี 2017 โครงการสร้างฝันฯ ได้ให้ความสนับสนุนแก่นักศึกษาไต้หวันจำนวน 363 รายเดินทางไปฝึกสอนหรือฝึกงานในสถานศึกษาหรือองค์กรเอกชนในประเทศไทยด้วย