ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
กต.ไต้หวันหวังว่า ไต้หวันและจีนจะมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันภายใต้กรอบของเอเปค
แหล่งที่มาของข้อมูล Central News Agency
2018-11-14

กต.ไต้หวันหวังว่า ไต้หวันและจีนจะมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันภายใต้กรอบของเอเปค

กต.ไต้หวันหวังว่า ไต้หวันและจีนจะมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันภายใต้กรอบของเอเปค

สำนักข่าว CNA วันที่ 13 พ.ย. 61

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค (CSOM) ในปีนี้ ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนของการเจรจาระหว่างไต้หวัน-จีนในที่ประชุมนั้น กระทรวงต่างประเทศไต้หวันแสดงความเห็นว่า ได้มีการแก้ไขความเข้าใจผิดและข้อขัดแย้งไปแล้ว จึงหวังว่าทั้งสองฝั่งช่องแคบไต้หวันจะสามารถมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันภายใต้กรอบของเอเปคต่อไป

 

โดยการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคที่กินระยะเวลา 2 วัน ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งนายเฉินหลงจิ่น อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศไต้หวันชี้ว่า ได้มีการเจราจาทวิภาคี 4 รอบ ในระหว่างการประชุม โดยได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่อาวุโสจากประเทศอื่น ทั้งในและนอกที่ประชุมด้วย

 

เฉินหลงจิ่นเห็นว่า ในส่วนของการเจราจาระดับทวิภาคี ได้มีการเจรจาเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมกับเอเปคของทั้งสองฝ่าย รวมไปจนถึงปัญหาที่พบ และหาวิธีแก้ไขร่วมกัน พร้อมทั้งเพิ่มความร่วมมือผ่านกรอบของเอเปค และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อแผนความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม รวมถึงยังมีการพูดคุยถึงประเด็นด้านการค้าแบบพหุภาคีด้วย

 

แต่ทั้งนี้ นายเฉินหลงจิ่นมิได้เปิดเผยว่า มีการเจรจากับ 4 ประเทศใดบ้าง โดยบอกแต่เพียงว่า มีการเจรจากับประเทศสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ด้วย ในส่วนของประเด็นที่ว่า มีการเจรจากับจีนและสหรัฐฯ หรือไม่นั้น นายเฉินหลงจิ่นเห็นว่า จีนก็เป็นสมาชิกของเอเปค เมื่อมาประชุมร่วมกัน ก็ต้องมีปฏิสัมพันธ์กันบ้างเป็นธรรมดา ส่วนสหรัฐฯ นั้น ก็มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างใกล้ชิด

 

นอกจากนี้ นางหยางเจินหนี อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศไต้หวันที่เข้าร่วมการประชุม CSOM ด้วย ก็ชี้ว่า ในส่วนของการทบทวนโครงการสนับสนุน Micro SMEs สู่โลกาภิวัฒน์ตามแผนปฏิบัติการบูราไกย์นั้น ไต้หวันจะให้ความช่วยเหลือแก่ Micro SMEs ในการลดต้นทุนด้านพิธีผ่านด่านศุลกากร ซึ่งในปีหน้าไต้หวันจะเสนอแผนการส่งเสริมการค้าอี-คอมเมิร์ซข้ามพรมแดนในหมู่ประเทศเอเชียแปซิฟิก เพื่อช่วยให้เหล่า SMEs และ Micro SMEs ได้เข้าใจถึงอี-คอมเมิร์ซมากขึ้น จึงอาศัยโอกาสในการเข้าร่วมประชุมในปีนี้ เพื่อขอทราบความคิดเห็นของประเทศสมาชิกอื่นๆ ด้วย

 

ในส่วนของประเด็นที่ว่า จีนมีท่าทีที่ต้องการจะปิดกั้นข้อเสนอต่างๆ ของไต้หวันต่อที่ประชุมเอเปค จนทำให้ไต้หวันต้องทำการประท้วงผ่านประเทศพันธมิตรที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตด้วยนั้น นายเฉินหลงจิ่นเห็นว่า ในที่ประชุมเอเปค ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่บรรดาสมาชิกจากประเทศต่างๆ จะมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน แต่ในชั้นนี้ ได้มีการแก้ไขทั้งความเข้าใจผิดและข้อขัดแย้งต่างๆ ไปแล้ว จึงหวังว่าทั้งสองฝั่งช่องแคบไต้หวันจะสามารถมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันภายใต้กรอบของเอเปคต่อไป

โดยนายเฉินหลงจิ่นยังชี้อีกว่า หลังจากแก้ไขปัญหาได้แล้ว ในแผนงานที่ไต้หวันได้นำเสนอต่อที่ประชุมเอเปคจำนวน 4 ใน 5 โครงการ ต่างก็ได้รับการยอมรับจากเอเปคแล้ว นอกจากนี้ ในวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งนายเฉินหลงจิ่นได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ Mr. Alan Bollard ผู้อำนวยการบริหารของเอเปคเพื่อยืนยันว่า ไต้หวันจะบริจาคเงินจำนวน 700,000 เหรียญสหรัฐ ให้กับกองทุนของเอเปค เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนในการดำเนินโครงการต่างๆ ต่อไป