เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา นายสวี่โย่ว์จิ้น รมช.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้นำคณะผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไต้หวันทั้งสิ้น 10 บริษัท ไปเข้าร่วมนิทรรศการ Viva Techปี2019 ในประเทศฝรั่งเศส (ภาพจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ)
หนังสือพิมพ์ UDN วันที่ 18 พ.ค. 62
เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา นายสวี่โย่ว์จิ้น รมช.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)ได้นำคณะผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไต้หวันรวมทั้งหมด 10 บริษัท เดินทางไปเข้าร่วมนิทรรศการ Viva Tech 2019 ที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งระบบค้นหาตำแหน่งที่มีความแม่นยำสูง อันเป็นผลงานของทีมวิจัย iTech แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University, NTU) ก็ได้รับคำสั่งซื้อมูลค่ากว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากบริษัทรถพลังงานไฟฟ้า TWNS HILL ของฝรั่งเศสตั้งแต่วันแรกที่เข้าร่วมจัดแสดงในงาน ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการขยายโอกาสทางการค้าระหว่างไต้หวันและยุโรปด้วย
กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ไต้หวัน แถลงว่า เมื่อช่วงปีที่ผ่านมานี้ Viva Tech ได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในนิทรรศการที่เป็นตัวชี้วัดด้านเทคโนโลยีที่มีความสำคัญระดับโลก โดยในปีนี้ได้ดึงดูดบริษัทสตาร์ทอัพ(Startup) กว่า 9,000 รายจาก 125 ประเทศ และนักลงทุน 1,900คนมาเข้าร่วมงาน ทำให้ศูนย์ Taiwan Tech Arena (TTA) ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่รวมตัวกับสถาบันTaiwan Startup Institute (TSI) และทีมวิจัยCenter of Industry Accelerator and Patent Strategy (IAPS) ของมหาวิทยาลัยเจียวทง (National Chiao Tung University, NCTU) ต่างก็สามารถดึงดูดความสนใจจากนานาประเทศได้ไม่น้อย
นายสวี่โย่ว์จิ้นกล่าวขณะปราศรัยในพิธีเปิดงานว่า ช่วงที่ผ่านมานี้ รัฐบาลไต้หวันและฝรั่งเศสมีความมุ่งหวังเดียวกัน ซึ่งนั่นก็คือการบ่มเพาะผู้ประกอบการในธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อนำไอเดียใหม่ๆ มาสู่บริษัทใหญ่และกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม อันจะเป็นการเปิดโอกาสให้ไต้หวันได้มีโอกาสเชื่อมโยงกับระบบนิเวศน์ทางเทคโนโลยีของทั่วโลก ตลอดจนสร้างอุตสาหกรรมเกิดใหม่ไปพร้อมกันด้วย โดยเมื่อปีที่แล้วกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ก่อตั้งศูนย์ TTA ขึ้น เพื่อเน้นลงทุนในการวิจัยด้านซอฟต์แวร์ แผงวงจรรวม และปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงแขนงอื่นๆ นอกจากนี้ TTA ไม่เพียงแต่จะสนับสนุนผลงานวิจัยของนักศึกษาในระดับดุษฎีบัณฑิตของไต้หวัน ให้นำผลงานวิจัยมาทำการผลิตเป็นสินค้าเพื่อการจำหน่ายสู่ท้องตลาด และยังจะประสานความร่วมมือกับนิคมเทคโนโลยีไต้หวัน บริษัทหลักทรัพย์จัดการเงินร่วมลงทุน และอุตสาหกรรมส่วนเสริมที่เป็นตัวเร่ง เพื่อทำให้เกิดเป็นกลุ่มพันธมิตรที่ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ระหว่างบุคลากรนานาชาติ ธุรกิจสตาร์ทอัพและอุตสาหกรรมไฮเทคของไต้หวัน
นายสวี่โย่ว์จิ้นยังระบุว่า ปัจจุบันศูนย์ TTA สามารถบ่มเพาะทีมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพกว่า 100 ทีมในแต่ละปี ซึ่งในจำนวนนี้ กว่าครึ่งเป็นทีมที่มาจากต่างประเทศ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของไต้หวันในการก้าวเข้าสู่เวทีสตาร์ทอัพระดับนานาชาติ ในขณะเดียวกัน การที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เข้าร่วมนิทรรศการ CES , Viva Tech และนิทรรศการขนาดใหญ่ระดับนานาชาติอื่นๆ ก็เพื่อดำเนินการเชื่อมโยงทรัพยากรของธุรกิจสตาร์ทอัพให้เชื่อมโยงกับการลงทุนของต่างชาติ รวมทั้งแสวงหาโอกาสความร่วมมือทางอุตสาหกรรมหลายแขนงกับนานาประเทศ และเสริมสร้างสถานะที่สำคัญของระบบนิเวศน์ทางเทคโนโลยีไต้หวันให้มีความความแข็งแกร่งมากขึ้น
นายอู๋จื้อจง ผู้แทนไต้หวันประจำฝรั่งเศสกล่าวว่า ฝรั่งเศสเป็นเป็นหุ้นส่วนทางเทคโนโลยีที่ใหญ่เป็นอันดับ 2ของไต้หวัน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ของทั้งไต้หวันและฝรั่งเศส มีโอกาสสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนระหว่างกันอยู่บ่อยครั้ง เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ไต้หวันได้สั่งจองเครื่องบินแอร์บัส A350 จำนวน 14 ลำจากฝรั่งเศส ในปีที่แล้วได้สั่งจองเพิ่มอีก 17 ลำ และเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ได้มีการสั่งซื้อเครื่องบินจากฝรั่งเศสอีก 29 ลำ ดังนั้น จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ไต้หวันและฝรั่งเศสมีความความสัมพันธ์ในเชิงลึกที่ดีต่อกันเป็นอย่างมาก นายอู๋จื้อจงกล่าวปิดท้ายว่า ตนเชื่อว่าในธุรกิจสตาร์ทอัพก็จะเป็นเช่นเดียวกันนี้ พร้อมแสดงความคาดหวังว่า ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันสร้างสรรค์ระบบนิเวศน์ของธุรกิจสตาร์ทอัพทั้งในไต้หวันและฝรั่งเศส ให้มีความพร้อมและสมบูรณ์มากขึ้น เพื่อความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างกันที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต