พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติไต้หวัน มีกำหนดลงนาม MOU กับ Stasi Record Agency ของเยอรมนี ในเดือนต.ค. นี้ (ภาพจากMOC)
สำนักข่าว CNA วันที่ 12 มิ.ย. 62
ในปีนี้พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้มีการแลกเปลี่ยนกับนานาชาติบ่อยครั้ง นายเฉินจวิ้นหง ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ฯ กล่าวว่า ในเดือนก.ย.ที่จะถึงนี้ พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติไต้หวัน จะได้รับการยกระดับเป็น “สหพันธ์พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนนานาชาติ สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชีย- แปซิฟิก” และในเดือนต.ค. ปีนี้ มีกำหนดการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ Stasi Record Agency กระทรวงความมั่นคงแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และคาดว่าจะร่วมกันจัดการประชุมวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ระหว่างไต้หวัน – เยอรมนีขึ้น ภายหลังการลงนามอีกด้วย
พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติไต้หวัน ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2018 โดยในเดือนก.ย.ปีนี้ พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติไต้หวัน จะได้รับการยกระดับเป็น “สหพันธ์พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนนานาชาติ สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก” (ICOM – Federation of International Human Rights Museums, FIHRM) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ FIHRM จะจัดตั้งสำนักงานสาขาขึ้นที่ภูมิภาคเอเชีย
พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติไต้หวัน เป็นพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนระดับชาติแห่งแรกของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจัดตั้งขึ้น ณ สถานที่ที่เคยเกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนและไร้ซึ่งความยุติธรรม ในยุคที่ไต้หวันถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรื้อฟื้นประวัติศาสตร์การถูกลิดรอนและละเมิดสิทธิมนุษยชน อีกทั้งเพื่อให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับคนรุ่นหลัง
นายเฉินจวิ้นหงกล่าวว่า สำนักงานใหญ่ของ FIHRM ตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งปัจจุบัน FIHRMมีสำนักงานสาขาเพียง 2 แห่งทั่วโลก แห่งหนึ่งตั้งอยู่ที่ลาตินอเมริกา ส่วนอีกแห่งตั้งอยู่ที่ไต้หวัน นายเฉินจวิ้นหงยังได้ระบุเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่เลือกจัดตั้งสำนักงานสาขาขึ้นที่ไต้หวัน เนื่องจากพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องถูกก่อตั้งขึ้นในนามประเทศ ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย มักจะก่อตั้งขึ้นในรูปแบบอนุสรณ์สถาน เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์ด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแต่ละประเทศ
นายเฉินจวิ้นหงแสดงความคิดเห็นว่า จากมุมมองของนโยบายมุ่งใต้ใหม่ จะเห็นว่า “สิทธิมนุษยชนเป็นคุณค่าที่สำคัญของนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ขณะเดียวกันสิทธิมนุษยชนก็ยังเป็นหนทางที่ทำให้ไต้หวันก้าวไปสู่เวทีสากลได้อย่างที่ตั้งใจไว้”
นายเฉินจวิ้นหงคาดหวังให้พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติไต้หวัน ทำหน้าที่เป็นเวทีเชื่อมโยงสิทธิมนุษยชนของประชาชนในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งนอกจากเป็นการเปิดโอกาสในการเรียนรู้กับนานาชาติแล้ว ยังช่วยให้ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางแห่งสิทธิมนุษยชน (human rights hub) ได้อีกด้วย
นายเฉินจวิ้นหงกล่าวอีกว่า หลังจากที่ยกระดับเป็น FIHRM สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกแล้ว ทางพิพิธภัณฑ์ฯ ได้คาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2020 จะจัดการประชุมในหัวข้อ “วรรณกรรมด้านมืด” โดยจะเชิญชวนนักประพันธ์จากทั่วภูมิภาคเอเชีย ที่มีผลงานด้านวรรณกรรม ภายใต้บริบท White Terror หรือการปกครองด้วยอำนาจเผด็จการ เดินทางมาเยือนไต้หวัน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมกันตีแผ่ประวัติศาสตร์ที่ไร้ความยุติธรรมในภูมิภาคเอเชีย ให้โลกได้รับรู้
ท้ายสุดนายเฉินจวิ้นหงชี้ว่า ในเดือนต.ค. ปีนี้ ไต้หวันมีกำหนดการร่วมลงนาม MOU กับ Stasi Record Agency กระทรวงความมั่นคงแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และคาดว่าจะร่วมกันจัดการประชุมวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ระหว่างไต้หวัน – เยอรมนีขึ้น เพื่อกระตุ้นการแลกเปลี่ยนระดับทวิภาคี