ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
“การประชุมเสวนาระหว่างประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก” ที่ร่วมกันจัดโดยไต้หวัน-สหรัฐฯ ปิดฉากลงอย่างราบรื่นและสำเร็จตามเป้าหมาย
2019-10-08

อู๋เจาเซี่ย (ที่ 3 จากซ้าย) รมว.ต่างประเทศ ซานดรา ออดเคิร์ก (ที่ 2 จากขวา) รองผู้ช่วยรมว. ต่างประเทศสหรัฐฯ และ Mr. William Brent Christensen (ที่ 3 จากขวา) ผู้อำนวยการสถาบันอเมริกาในไต้หวัน Mr.Jarden_Kephas (ที่ 1 จากซ้าย) ผู้แทนสาธารณรัฐนาอูรูประจำไต้หวัน Ms. Limasene_Teatu(ที่ 2 จากซ้าย) ผู้แทนตูวาลูประจำไต้หวัน และMs. Neijon_Rema_Edwards (ขวา) ผู้แทนสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ประจำไต้หวัน ถ่ายภาพร่วมกันหลังเสร็จสิ้นการประชุมฯ (ภาพจาก CNA)

อู๋เจาเซี่ย (ที่ 3 จากซ้าย) รมว.ต่างประเทศ ซานดรา ออดเคิร์ก (ที่ 2 จากขวา) รองผู้ช่วยรมว. ต่างประเทศสหรัฐฯ และ Mr. William Brent Christensen (ที่ 3 จากขวา) ผู้อำนวยการสถาบันอเมริกาในไต้หวัน Mr.Jarden_Kephas (ที่ 1 จากซ้าย) ผู้แทนสาธารณรัฐนาอูรูประจำไต้หวัน Ms. Limasene_Teatu(ที่ 2 จากซ้าย) ผู้แทนตูวาลูประจำไต้หวัน และMs. Neijon_Rema_Edwards (ขวา) ผู้แทนสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ประจำไต้หวัน ถ่ายภาพร่วมกันหลังเสร็จสิ้นการประชุมฯ (ภาพจาก CNA)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 8 ต.ค. 62

 

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 7 ต.ค. นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และนางซานดรา ออดเคิร์ก (Sandra Oudkirk) รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชีย – แปซิฟิก ซึ่งรับผิดชอบดูแลและติดต่อประสานกับประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศในแถบแปซิฟิก ได้ร่วมกันเป็นประธานในพิธีเปิด “การประชุมเสวนาระหว่างประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก” (Pacific Island Dialogue) ซึ่งไต้หวันและสหรัฐฯ ร่วมกันจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ที่สถาบันการทูตและการต่างประเทศของไต้หวัน (Institute of Diplomacy and International Affairs) ซึ่งนอกจากคณะตัวแทนจากสหรัฐฯ สถาบันอเมริกาในไต้หวัน สำนักงานตัวแทนประเทศต่างๆ ในไต้หวัน ที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันกับไต้หวัน และสถานเอกอัครราชทูตของประเทศพันธมิตรในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกประจำไต้หวัน ต่างส่งตัวแทนเดินทางมาเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้


 

ในการหารือ Private Sessions ซึ่งเป็นกิจกรรมย่อยของการประชุมเสวนาระหว่างประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกในครั้งนี้ ได้จัดขึ้นเมื่อบ่ายวันเดียวกัน ณ กระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน โดยนายสวีซือเจี่ยน รมช.ต่างประเทศไต้หวัน และนางซานดรา ออดเคิร์ก ได้ร่วมกันเป็นประธานในการประชุม ภายใต้หัวข้อ การจัดแจงทรัพยากรและร่วมแบ่งปันข้อมูลในโครงการส่งมอบความช่วยเหลือให้แก่ประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ของไต้หวันและสหรัฐฯ รวมถึงการแสวงหาความเป็นไปได้ ในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือแบบพหุภาคี ระหว่างไต้หวัน สหรัฐฯ และประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน


 

รมช.สวีฯ ระบุว่า ปัจจุบันความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยและเสรีภาพของทั่วโลก กำลังเผชิญกับความท้าทายจากการแผ่ขยายอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจอย่างจีน ถึงแม้ว่าประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันกับไต้หวันส่วนใหญ่จะสนับสนุนไต้หวัน ในการมีส่วนร่วมบนเวทีนานาชาติ แต่ในช่วงที่ผ่านมานี้ กรณีที่จีนหว่านล้อมให้หมู่เกาะโซโลมอนและสาธารณรัฐคิริบาส ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน และหันไปสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน รวมถึงพฤติกรรมต่างๆ ของรัฐบาลจีน ที่อาจส่งผลกระทบต่อสันติภาพ เสถียรภาพ รวมถึงค่านิยมพื้นฐานของภูมิภาค ส่งผลให้ทั่วโลกเกิดความหวาดระแวงขั้นหนัก


 

นางซานดรา ออดเคิร์ก กล่าวว่า ยุทธศาสตร์อินโด – แปซิฟิกของรัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐาน 3 ประการ อันได้แก่ เศรษฐกิจ ธรรมาภิบาลและความมั่นคงปลอดภัย โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการธำรงไว้ซึ่งการเปิดกว้าง เสรีภาพ ความโปร่งใส และหลักนิติธรรมในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก พร้อมกันนี้ยังระบุว่า สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับสวัสดิการของประชาชนในประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก และเน้นย้ำเป็นพิเศษในเรื่องการพัฒนาการส่งมอบความช่วยเหลือ จำเป็นที่จะต้องหลีกเลี่ยงกับดักหนี้สิน และยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเดือนพ.ค.ปีนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อต้อนรับบรรดาผู้นำรัฐบาลจากสาธารณรัฐปาเลา สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์และประเทศไมโครนีเซีย และในช่วงที่ผ่านมานี้ รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เดินทางเยือนหมู่เกาะมาร์แชลล์และไมโครนีเซียเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ประกอบกับในครั้งนี้ ที่ไต้หวันและสหรัฐฯ ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัด “การประชุมเสวนาระหว่างประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก” ล้วนแสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับภูมิภาคอินโด- แปซิฟิกอย่างเป็นรูปธรรมเสมอมา