ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
การประชุม IASS ปี 2019 เตรียมเปิดฉากขึ้นในกรุงไทเป
2019-11-01

การประชุม IASS ปี 2019 เตรียมเปิดฉากขึ้นในกรุงไทเป (ภาพจาก CADF)

การประชุม IASS ปี 2019 เตรียมเปิดฉากขึ้นในกรุงไทเป (ภาพจาก CADF)

CADF วันที่ 1 พ.ย. 62

 

การประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านการบินระหว่างประเทศ (International Air Safety Summit, IASS) มีกำหนดการจัดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 4 – 6 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงไทเป (Mandarin Oriental, Taipei) โดยคาดว่าจะมีตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐและนักวิชาการกว่า 300 คน จาก 30 ประเทศทั่วโลกเดินทางมาเข้าร่วมงานในครั้งนี้


 

เพื่อประชาสัมพันธ์การประชุม IASS ที่จะจัดขึ้นในไต้หวันเป็นครั้งแรก นายหวังกั๋วฉาย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้อำนวยการมูลนิธิการพัฒนาความปลอดภัยทางการบินของไชน่าแอร์ไลน์ (China Aviation Development Foundation, CADF) ได้นำคณะตัวแทนเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมครั้งที่ 71 ระหว่างวันที่ 12 – 14 พ.ย. ปี 2018 ณ เมืองซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยภายในงานได้จัดฉายวีดิทัศน์ ภายใต้ชื่อ “Taiwan Welcomes You” เพื่อประชาสัมพันธ์การประชุม IASS ที่จะจัดขึ้นในไต้หวันในปีนี้ ซึ่งเนื้อหาในวีดิทัศน์ นอกจากจะนำเสนอทัศนียภาพในแต่ละพื้นที่ของไต้หวัน วัฒนธรรมที่มีความหลากหลายในกรุงไทเป และสภาพแการจราจรที่สะดวกรวดเร็วแล้ว ยังนำเสนอด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินในประเทศให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลกอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเชิญชวนให้ผู้สนใจเดินทางเข้ามีส่วนร่วมในการประชุมฯ ที่เตรียมจะเปิดฉากขึ้นในเร็ววันนี้


 

นายหวังกั๋วฉายเน้นย้ำว่า ไต้หวันเปี่ยมด้วยไมตรีจิตและมีประเพณีท้องถิ่นอันมีเสน่ห์ จากการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่ของ IASS ในครั้งนี้ จะสามารถทำให้ทั่วโลกได้เห็นถึงศักยภาพในการสร้างคุณูปการในอุตสาหกรรมการบินของไต้หวัน จึงคาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมอภิปรายในประเด็นความปลอดภัยด้านการบินที่สำคัญๆ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในวงการการบินนานาชาติ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาความปลอดภัยด้านการบิน ที่รัดกุมมากยิ่งขึ้น


 

มูลนิธิมาตรฐานความปลอดภัยทางการบิน (Flight Safety Foundation, FSF) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ.  1947 ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐระดับนานาชาติ ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน โดยสมาชิกในองค์กรครอบคลุมถึงบุคคล บริษัท องค์กร และหน่วยงานรัฐบาล เป็นต้น โดยสมาชิกในปัจจุบันขององค์กรมาจาก 150 ประเทศทั่วโลก สำหรับสมาชิกที่อยู่ในไต้หวัน รวมถึงกรมการบินพลเรือนไต้หวัน (Civil Aeronautics Administration, MOTC) คณะกรรมการรักษาความปลอดภัยทางการบิน (Aviation Safety Council, ASC) สายการบินไชน่าแอร์ไลน์ (China Airlines) สายการบินอีวีเอแอร์ไลน์ (EVA Air) และสายการบินฟาร์อีสเทิร์นแอร์ ทรานสปอร์ต (Far Eastern Air Transport)


 

รายละเอียดของงาน FSF นอกจากการเผยแพร่ข้อมูลความปลอดภัยด้านการบิน และตีพิมพ์นิตยสารแล้ว ในทุกปียังมีกำหนดการจัดการประชุม IASS ขึ้นในแต่ละประเทศทั่วโลก เพื่อเปิดอภิปรายกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านการบินด้วย


 

นายหวังกั๋วฉายระบุว่า ตารางการประชุมของการประชุมIASS ที่มูลนิธิ FSF จัดขึ้นในทุกปี ได้จัดเตรียมผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ ร่วมนำเสนอรายงานผลวิจัยที่เกี่ยวข้อง และแผนการในการแก้ไขปัญหาที่มีความเป็นไปได้อย่างเป็นรูปธรรม ในประเด็นที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจเกี่ยวกับความท้าทายในด้านความปลอดภัยทางการบิน เพื่อเป็นหลักอ้างอิงในการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์การรักษาความปลอดภัยด้านการบินให้แก่แต่ละประเทศ นำไปปรับใช้ต่อไป


 

ไต้หวันตั้งอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก โดยปริมาณการขนถ่ายผู้โดยสารของท่าอากาศยานนานาชาติเถาหยวน มีจำนวนมากกว่า 45 ล้านคนครั้งต่อปี ซึ่งถึงแม้ว่าจำนวนผู้โดยสารจะมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น แต่การยึดมั่นในความปลอดภัยด้านการบิน ถือเป็นคุณค่าและเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวที่เราให้ความสำคัญมากที่สุด โดยนายหวังกั๋วฉายกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การประชุม IASS ได้กลายเป็นเวทีนานาชาติที่สำคัญ ที่เหล่าผู้คนในอุตสาหกรรมการบินจะใช้เป็นช่องทางในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวโน้มการบินระหว่างประเทศ ซึ่งในการประชุม IASS ในปีนี้ ยังคงยึดหลักเสริมสร้างความปลอดภัยด้านการบินเป็นหลัก สำหรับประเด็นที่จะร่วมอภิปราย ประกอบด้วย ความปลอดภัย การฝึกอบรมบุคลากร กลยุทธ์ในการบริหาร แผนการแก้ไขปัญหาที่นำไปปฏิบัติได้จริง และปัญหาที่มีต้นเหตุจากพฤติกรรมของมนุษย์ เป็นต้น โดยขอบเขตประเด็นครอบคุลมหลากหลายแง่มุม ซึ่งเหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางการบินนานาชาติ ก็จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ฝานการประชุมครั้งนี้ด้วย เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางการบินที่รัดกุมยิ่งขึ้น ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนในระดับนานาชาติด้วย