ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ไต้หวันคือแดนสวรรค์ สำหรับคุณหมอผู้รักการผจญภัย นายแพทย์ปีเตอร์ เคนริก
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2020-01-13

นพ.ปีเตอร์ เคนริก ผู้อำนวยการแผนกฉุกเฉิน รพ.ไถตงคริสเตียน สามารถใช้ภาษาจีนสื่อสารกับผู้ป่วยได้ และชอบพูดจาล้อเล่นกับผู้ป่วยบ่อยๆ ว่า “ทำไมภาษาจีนของคุณดีพอๆ กับผมเลย”

นพ.ปีเตอร์ เคนริก ผู้อำนวยการแผนกฉุกเฉิน รพ.ไถตงคริสเตียน สามารถใช้ภาษาจีนสื่อสารกับผู้ป่วยได้ และชอบพูดจาล้อเล่นกับผู้ป่วยบ่อยๆ ว่า “ทำไมภาษาจีนของคุณดีพอๆ กับผมเลย”
 

สมรภูมิรบที่กัมพูชา ค่ายผู้อพยพชาวเคิร์ดในอิหร่าน และพื้นที่ชนบทในแซมเบีย ล้วนเคยเป็นห้องตรวจโรคของนายแพทย์ปีเตอร์ เคนริก (Dr. Peter Kenrick) หัวหน้าแผนกฉุกเฉิน โรงพยาบาลไถตงคริสเตียนมาแล้วทั้งสิ้น เมื่อถามเขาว่าแรงจูงใจในการตระเวนไปรักษาผู้ป่วยตามถิ่นทุรกันดารทั่วโลกคืออะไร? เขาตอบว่า “Just for fun!”

ใครจะคาดคิดว่าการเดินทางมาเยือนไต้หวันด้วยความบังเอิญ ทำให้ นพ.เคนริกได้ลงหลักปักฐานอยู่ในเมืองไถตง ซึ่งเป็นดินแดนที่มีขุนเขาอิงแอบ และท้องทะเลแนบชิด เป็นเวลานานถึง 34 ปี เขากล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า “ผมเป็นคนไต้หวัน ผมเป็นชาวตูหลาน เมืองไถตง”

 

ดั่งคำพังเพยของจีนที่ว่า “ผู้มีปัญญาชอบน้ำ ผู้มีเมตตาชอบขุนเขา” ในวันนี้เรานัดเจอกับ นพ.เคนริกที่ยอดเขาตูหลาน ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของเทือกเขาริมชายฝั่งทะเลทางตอนใต้ จากหอชมวิวที่บริเวณปากทางเข้าเส้นทางเดินเขา มองเห็นมหาสมุทรแปซิฟิกที่กว้างใหญ่ เกาะลวี่เต่าและหลันอวี่ได้อย่างชัดเจน นพ.เคนริกที่เพิ่งขี่จักรยานขึ้นมาถึง รูปร่างผอมสูง เหงื่อไหลท่วมตัว แถมยังมีอาการหอบนิดๆ กล่าวด้วยภาษาจีนสำเนียงมาตรฐานว่า “ปั่นมา 4.2 กิโล ขึ้นเขามาตลอดทาง ความชัน 13.9% ใช้เวลา 38 นาที”

ยอดเขาตูหลาน ซึ่งเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของชนเผ่าอามิสและเผ่าพูยูมา คือสถานที่ออกกำลังกายของคุณหมอวัย 61 ปีผู้นี้ เขาเคยร่วมการแข่งขันจักรยานตูร์เดอฟร็องส์ (Tour de France) ที่เทือกเขาพิรินีของฝรั่งเศสมาแล้ว แต่ก็ยังอดไม่ได้ที่จะช่วยโฆษณา ให้กับยอดเขาตูหลานว่า “ถนนสายนี้ขี่ยากกว่า ถนนที่เทือกเขาพิรินี 3-4 เท่า”
 

นพ.เคนริกได้รับคำเชิญของทำเนียบประธานาธิบดี ร่วมร้องเพลงชาติสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในพิธีเชิญธงชาติวันขึ้นปีใหม่ปีนี้ (2019)

นพ.เคนริกได้รับคำเชิญของทำเนียบประธานาธิบดี ร่วมร้องเพลงชาติสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในพิธีเชิญธงชาติวันขึ้นปีใหม่ปีนี้ (2019)
 

ณ เมืองไถตง

นพ.เคนริก เกิดที่นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างที่เตรียมตัวเดินทางจากอังกฤษ กลับไปออสเตรเลียในปีค.ศ.1985 บังเอิญเห็นโฆษณารับสมัครแพทย์ของโรงพยาบาลเซนต์แมรี่ (St. Mary’s Hospital) เมืองไถตง มีระยะเวลาทดลองงาน 2 เดือน เขาคิดในใจว่าไต้หวันอยู่ “กึ่งกลาง” เส้นทางการเดินทางของเขาพอดี น่าจะลองแวะดู ใครจะคิดว่าการเดินทางมาเยือนไต้หวันครั้งนั้น ทำให้เขาปักหลักอยู่ที่นี่นานถึง 34 ปี

เขาเล่าว่าเป็นความโชคดีของเขาที่มาไต้หวันครั้งแรก ก็ได้ไปอยู่ที่เมืองไถตง ดินแดนแห่งขุนเขาและท้องทะเล หากตอนนั้นไปอยู่ที่ไทเป เขาคงอำลาไต้หวันไปนานแล้ว

ความจริงแล้วก่อนที่คุณหมอปีเตอร์จะเดินทางมาไต้หวัน เขาเคยไปทำงานที่ซาอุดิอาระเบีย ในตะวันออกกลาง และแซมเบียในแอฟริกากลาง มาก่อน

ต่อมา นพ.เคนริกได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสภากาชาดสากล ถูกส่งไปประจำการที่โรงพยาบาล ในประเทศแซมเบีย ซึ่งมีขนาด 100 กว่าเตียง แต่มีแพทย์เพียง 4 คนเท่านั้น ผู้ป่วยที่ถูกส่งมาโรงพยาบาลแห่งนี้ ล้วนเป็นผู้ป่วยอาการหนัก อาทิ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ หญิงมีครรภ์ที่คลอดยาก ลำไส้อุดตันอันเนื่องมาจากสุขอนามัยที่ย่ำแย่ เป็นต้น เพราะมีผู้ป่วยจำนวนมาก ทำให้ต้องทำงานสัปดาห์ละกว่า 100 ชม. ไม่มีเงินเดือน แถมต้องจ่ายค่าครองชีพเอง นพ.เคนริกเปรียบเทียบสภาพการณ์ของไต้หวัน กับแซมเบียที่ต่างกันราวฟ้ากับดิน ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า “ตอนนั้นผมแทบไม่มีเงินเหลือแล้ว มาถึงไต้หวัน มีทุกอย่าง แถมได้เงินเดือนด้วย เดือนละ 20,000 เหรียญไต้หวัน”

นพ.เคนริกเริ่มขี่จักรยานตั้งแต่อายุ 15 ปี บ่อยครั้งที่เขาออกไปปั่นเป็นระยะทางไกลถึง 100 กม. ถนนที่ตัดผ่านหมู่บ้านชนพื้นเมืองบนภูเขาสูงชันในเมืองไถตง กลายเป็นเส้นทางปั่นจักรยานชั้นยอดของเขา นอกจากรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลเซนต์แมรี่แล้ว เขายังติดตามแม่ชีแพทริเซีย เอย์ค็อก (Patricia Aycock) ซึ่งเป็นวิสัญญีพยาบาล ออกไปรักษาผู้ป่วย ตามหมู่บ้านชนพื้นเมืองบนภูเขา ในขณะนั้นไต้หวันยังไม่มีระบบประกันสุขภาพ บางครั้งหากผู้ป่วยไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา นพ.เคนริกก็ให้การรักษาฟรี
 

ช่วงที่ไต้ฝุ่นมรกตพัดถล่มไต้หวัน นพ.เคนริกกับทีมแพทย์ของ รพ.ไถตงคริสเตียน โดยสารเฮลิคอปเตอร์ไปที่ตำบลต๋าเหริน เพื่อให้การรักษาพยาบาลฉุกเฉิน (ภาพจาก: รพ.ไถตงคริสเตียน)

ช่วงที่ไต้ฝุ่นมรกตพัดถล่มไต้หวัน นพ.เคนริกกับทีมแพทย์ของ รพ.ไถตงคริสเตียน โดยสารเฮลิคอปเตอร์ไปที่ตำบลต๋าเหริน เพื่อให้การรักษาพยาบาลฉุกเฉิน (ภาพจาก: รพ.ไถตงคริสเตียน)
 

ตระเวนรักษาผู้ป่วยทั่วทุกมุมโลก

ปีค.ศ.1988 นพ.เคนริกได้เดินทางไปปฏิบัติภารกิจของสภากาชาดสากล ที่จังหวัดกำปงสปือ ประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดสงครามภายใน นอกจากต้องรับมือกับผู้ป่วยโรคตับอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และมาลาเรียแล้ว ยังต้องผ่าตัดเพื่อตัดแขนขาทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากกับระเบิดอีกด้วย ช่วงที่สถานการณ์รุนแรง ต้องตัดขาผู้ป่วยวันละ 6-8 คน บางครั้งก็สัปดาห์ละ 20 กว่าคน ท่ามกลางเสียงปืนที่ดังระงมไม่ขาดระยะ ด้านนอกโรงพยาบาล

คุณหวังหยวนหลิง (王媛玲) ภรรยาของ นพ.เคนริก ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นแค่แฟน ทำงานเป็นล่ามประจำโรงพยาบาลเซนต์แมรี่ เดินทางไปเยี่ยมที่กัมพูชา ต้องนั่งเครื่องบินจากไทเปไปลงที่กรุงเทพฯ จากนั้นต่อเครื่องไปโฮจิมินห์ แล้วบินจากโฮจิมินห์ต่อไปยังกัมพูชา ทำให้ นพ.เคนริกรู้สึกซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจที่กัมพูชาแล้ว ไต้หวันจึงกลายเป็นจุดหมายปลายทางลำดับต่อไปของเขา
 

นพ.เคนริกดูแลผู้ป่วยราวกับเป็นญาติของตนเอง ในภาพกำลังช่วยผู้ป่วยยกวีลแชร์ออกมา

นพ.เคนริกดูแลผู้ป่วยราวกับเป็นญาติของตนเอง ในภาพกำลังช่วยผู้ป่วยยกวีลแชร์ออกมา
 

มีเธอคู่ใจ เคียงข้างคู่กาย

เนื่องจากออสเตรเลียไม่มียอดเขาสูง ในช่วงวัยรุ่น นพ.เคนริกจึงต้องเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งก็คือนิวซีแลนด์เป็นประจำทุกปี เพื่อปีนภูเขาเอารังกิหรือเมาท์คุก ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดของนิวซีแลนด์ เขาไม่อาจทนเสียงร่ำร้องของหัวใจได้อีกต่อไป ช่วงที่ว่างเว้นจากหน้าที่การงาน นพ.เคนริกจะเดินทางไปปีนเขา ที่ยอดเขาเอเวอเรสต์ ติดต่อกันถึง 9 ปี แต่เขาไม่ได้ไปเพียงลำพังอีกแล้ว มีคุณหวังหยวนหลิง ผู้เป็นภรรยาเคียงข้าง นพ.เคนริกบอกว่า “เธอน่าจะเป็นผู้หญิงไต้หวันเพียงไม่กี่คน ที่เคยไปยอดเขาเอเวอเรสต์บ่อยที่สุด”

เป้าหมายของ นพ.เคนริกไม่ได้อยู่ที่การพิชิตยอดเขา เขาต้องการเพียงได้ไปปีนเขาสนุกๆ ในยามที่ว่างเว้นจากหน้าที่การงานเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เอง ในปี 2002 เขาจึงไปเป็นแพทย์อาสาที่คลินิกเล็กๆ แห่งหนึ่งบนภูเขาเอเวอเรสต์ ณ ความสูง 4,500 เมตร เป็นเวลา 3 เดือน เขาเล่าว่า “ระหว่างที่กำลังรักษาคนไข้ ยังได้ชื่นชมความสวยงามตระการตาของเทือกเขาสูงที่ทอดยาวอยู่เบื้องหน้า ไม่มีอะไรที่จะทำให้คุณมีความสุขได้มากไปกว่านี้อีกแล้ว”

ที่คลินิกบนภูเขาเอเวอเรสต์แห่งนี้ มีเตาอบเล็กๆ อยู่เตาหนึ่ง ภรรยา นพ.เคนริก จึงนำมาใช้อบเค้กสับปะรดที่ทำจากสับปะรดกระป๋อง แม้คลินิกแห่งนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนเส้นทางพิชิตยอดเขา แต่เมื่อได้ยินว่ามีเค้กสับปะรดให้กิน บรรดานักปีนเขาที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก ต่างเปลี่ยนเส้นทาง อ้อมมากินเค้กสับปะรดที่คลินิกแห่งนี้เป็นการเฉพาะ นพ.เคนริกเล่าว่า “เพราะเหตุนี้เอง ผมจึงเคยเจอกับนักปีนเขาที่มีชื่อเสียงหลายคน อย่างเช่น ปีเตอร์ ฮาเบเลอร์ (Peter Habeler) นักปีนเขาคนแรกที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ โดยไม่ใช้ถังออกซิเจน และวาลลี เบิร์ก (Wally Berg) นักปีนเขาชาวอเมริกันคนแรก ที่พิชิตยอดเขาลอห์ตเซ ยอดเขาที่สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก”

ปี 2002 นพ.เคนริกย้ายไปทำงานที่โรงพยาบาลไถตงคริสเตียน รับผิดชอบแผนกฉุกเฉินและแผนกผู้ป่วยนอก แบกรับภาระมากกว่าแพทย์ทั่วไป 1.5 เท่า งานหนักขนาดนี้ แต่ก็ยังสามารถลางานตั้งหลายเดือน เพื่อไปทำหน้าที่แพทย์ประจำเรือตัดน้ำแข็ง พาคุณหวังหยวนหลิง ผู้เป็นภรรยาไปผจญภัย ณ ดินแดนน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือ-ใต้และอลาสกา

นพ.เคนริกเล่าประสบการณ์ที่ไม่ธรรมดาของเขาว่า “ผมชอบอยู่กับภรรยา ไปไหนก็ต้องพาเธอไปด้วย ผมเคยนั่งเรือตัดน้ำแข็งทุกชนิดมาแล้ว รวมถึงเรือตัดน้ำแข็งพลังงานนิวเคลียร์ ที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย”
 

นพ.เคนริกกับคุณหวังหยวนหลิง ผู้เป็นภรรยาเดินทางไปผจญภัยที่ขั้วโลกเหนือและใต้ (ภาพจาก: นพ.เคนริก)

นพ.เคนริกกับคุณหวังหยวนหลิง ผู้เป็นภรรยาเดินทางไปผจญภัยที่ขั้วโลกเหนือและใต้ (ภาพจาก: นพ.เคนริก)
 

ตระเวนไปตามถิ่นทุรกันดาร หวังอุดช่องโหว่ด้านการแพทย์

นพ.เคนริกบอกว่า “กลับมาถึงไต้หวันก็รู้สึกมีความสุข ไต้หวันอะไรก็ดีไปหมด ที่นี่คือแดนสวรรค์” เขายังบอกว่ารู้สึกงงมาก “ทำไมคนไต้หวันจำนวนมากไม่รู้สึกว่าทัศนียภาพของไต้หวันสวยงาม สังคมมีความปลอดภัยสูง ไม่เหมือนที่ออสเตรเลีย มีพวกที่ติดยาเสพติดเยอะแยะ ไปขโมยของ แล้วก็เอาไปขายที่ตลาดขายของมือสอง แต่ที่ไต้หวันไม่ค่อยมีตลาดขายของมือสองที่รับซื้อของโจร”

ปีค.ศ.2008 ไต้ฝุ่นมรกตพัดถล่มไต้หวัน ทางรถไฟสายใต้และทางหลวงหลายสาย ขาดสะบั้นลง หมู่บ้านชนพื้นเมืองบนภูเขา ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก นพ.เคนริกกับทีมแพทย์ของโรงพยาบาลไถตงคริสเตียน ขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินไปที่หมู่บ้านถูปั่น ตำบลต๋าเหริน เพื่อให้การรักษาพยาบาลฉุกเฉิน และดูแลให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ อย่างทันท่วงที รวมถึงช่วยปลอบประโลมจิตใจ ให้แก่ผู้ประสบภัยด้วย

นอกจากนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งจากชนบท ที่ประสบกับความยากลำบากในการเดินทางมารักษาตัว โรงพยาบาลไถตงคริสเตียนกำลังระดมทุน เพื่อก่อสร้างอาคารผู้ป่วยโรคมะเร็ง ปัจจุบันยังขาดแคลนงบประมาณอีก 50 กว่าล้านเหรียญไต้หวัน เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.เคนริกแสดงความกังวลว่า การก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลเป็นเรื่องง่าย แต่ปัญหาที่แท้จริงคือ ต้องมีแพทย์ยินดีมาปักหลักอยู่ในชนบทที่ห่างไกล เพราะส่วนใหญ่มาทำงานเพียง 2-3 ปี ก็กลับไป

เมื่อพูดถึงจุดบกพร่องของระบบประกันสุขภาพไต้หวัน นพ.เคนริกที่อารมณ์ดีและท่าทางสบายๆ อยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนเป็นเคร่งขรึมขึ้นมาทันที เขากล่าวว่า “การแก้ไขปัญหานี้ ควรศึกษาจากระบบของต่างประเทศ ที่ให้แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งเป็นผู้ให้การรักษาพยาบาลแก่ประชาชนเป็นด่านแรก สามารถตรวจรักษาโรคเบื้องต้น ในแผนกสูตินรีเวชและศัลยกรรม หากเป็นโรคร้ายแรง จึงจะไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งจะเป็นการป้องกันการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ อย่างฟุ่มเฟือย”
 

ตู้กับข้าว เก้าอี้นั่งทานอาหาร และโคมไฟในบ้าน เป็นฝีมือของ นพ.เคนริกทั้งสิ้น

ตู้กับข้าว เก้าอี้นั่งทานอาหาร และโคมไฟในบ้าน เป็นฝีมือของ นพ.เคนริกทั้งสิ้น
 

คู่ชีวิตด่วนจากลา ทุกข์ระทมเพียงใดก็ต้องก้าวต่อไป

ความปรารถนาอันแรงกล้าของนพ.เคนริก คือการได้เป็นพลเมืองไต้หวัน โดยเฉพาะช่วงที่เขาเพิ่งมาพำนักในไต้หวัน
ต้องไปเปลี่ยนบัตรถิ่นที่อยู่ (ARC) ทุกปี เขากังวลตลอดเวลาว่าจะไม่ผ่านการอนุมัติ และแม้ว่าจะได้รับบัตรถิ่นที่อยู่ถาวรในปีค.ศ.2004 แล้วก็ตาม เนื่องจากไม่ใช่พลเมืองไต้หวัน นอกจากไม่มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว หลักประกันด้านสิทธิทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ การสืบทอดมรดก ก็ต่างกัน

บ้านของ นพ.เคนริกที่ตูหลาน ซึ่งเขาออกแบบเอง ถางที่ดินรกร้างว่างเปล่า สร้างสรรค์จนกลายเป็น บ้านสไตล์วิลล่าน่าพักอาศัย นพ.เคนริกหลงใหลการทำโมเดลเรือโบราณ Cutty Sark มาตั้งแต่อายุ 15 ปี กล่าวได้ว่า เขาเป็นช่างไม้ฝีมือชั้นครูเลยทีเดียว ดังนั้นเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน ตั้งแต่เตียง ตู้กับข้าว เก้าอี้นั่งทานอาหาร รวมถึงโคมไฟ ล้วนเป็นฝีมือของ นพ.เคนริกทั้งสิ้น ส่วนภาพวาดสีน้ำมันสีสันสดใส ที่แขวนไว้เต็มฝาผนังบ้าน เป็นผลงานจากการใช้เวลาในยามว่าง หลังกลับมาอยู่ไต้หวันของสามีภรรยานักผจญภัยคู่นี้ ที่เคยตระเวนไปเยือนแดนน้ำแข็งขั้วโลกและเทือกเขาสูงชันมาแล้ว

เมื่อกระทรวงมหาดไทยไต้หวันแก้ไขกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ และเพื่อเป็นการยกย่องเชิดชู นพ.เคนริกซึ่งเคยได้รับรางวัล ผู้มีคุณูปการด้านการแพทย์ประจำปี ครั้งที่ 11 จากการที่ได้อุทิศตน เพื่อรักษาผู้ป่วยในพื้นที่ชนบทของไต้หวัน เป็นเวลา 30 ปี จึงอนุมัติให้เขาสามารถโอนสัญชาติมาเป็นพลเมืองไต้หวันได้ ในปีค.ศ.2017 นพ.เคนริกกล่าวด้วยความยินดี หลังได้รับบัตรประจำตัวประชาชนไต้หวันว่า “ชีวิตและความเป็นอยู่ของผมล้วนอยู่ที่นี่ ผมเป็นคนไต้หวัน ผมเป็นชาวตูหลาน”

ปีค.ศ.2018 คุณหวังหยวนหลิงประสบอุบัติเหตุ ขณะขี่มอเตอร์ไซค์ไปทำงานและเสียชีวิตลง เหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ทำให้ นพ.เคนริกไม่มีโอกาสบอกลาภรรยาเป็นครั้งสุดท้าย แต่เพราะเขามีสถานะเป็นพลเมืองไต้หวันแล้ว จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการสืบทอดมรดกและทรัพย์สินต่างๆ

ถามเขาว่า เป็นยังไงบ้าง รู้สึก OK ไหม? เขาตอบด้วยน้ำเสียงแผ่วเบาว่า “ไม่ OK รู้สึกเหมือนชีวิตขาดอะไรบางอย่างไป” แต่เพียงแค่ชั่วอึดใจเดียว เขาก็กล่าวอย่างคนที่คิดบวกว่า “ผมยังสามารถขี่จักรยานได้ ยังต้องทำเฟอร์นิเจอร์ต่อ ยุ่งทุกวันเลย”