ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ไต้หวันผลักหลักสูตร STEAM เพื่อเพิ่มศักยภาพเทคโนโลยีดิจิทัลในการป้องกันโควิด – 19
2020-04-27

TECO และกรมอุตสาหกรรม กระทรวงเศรษฐการ ได้มอบหมายให้สถาบัน III จัด “หลักสูตรเสริมสร้างศักยภาพทางเทคโนโลยีดิจิทัล ในการป้องกันโรคโควิด – 19 ระหว่างไต้หวัน - ไทย” ระหว่างวันที่ 24 เม.ย. - 1 มิ.ย. 63 (ภาพจาก TECO)

TECO และกรมอุตสาหกรรม กระทรวงเศรษฐการ ได้มอบหมายให้สถาบัน III จัด “หลักสูตรเสริมสร้างศักยภาพทางเทคโนโลยีดิจิทัล ในการป้องกันโรคโควิด – 19 ระหว่างไต้หวัน - ไทย” ระหว่างวันที่ 24 เม.ย. - 1 มิ.ย. 63 (ภาพจาก TECO)

TECO วันที่ 21 เม.ย. 63

 

เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) เมื่อช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ประกาศให้สถาบันการศึกษาทุกระดับชั้นหยุดทำการจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2563 แต่เพื่อช่วยให้การเรียนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ช่องทางออนไลน์จึงกลายมาเป็นช่องทางสำคัญ ที่มีการนำเอาความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและแนวคิดเชิงคำนวณมาเปิดสอนกันมากขึ้น สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย (Taipei Economic and Cultural Office in Thailand ,TECO) และกรมอุตสาหกรรม กระทรวงเศรษฐการไต้หวัน จึงมีการรวบรวมกลุ่มอุตสาหกรรมการศึกษาแบบอัจฉริยะของไต้หวันขึ้น โดยมอบหมายให้สถาบันการศึกษาดิจิทัล (Digital Education Institute) ภายใต้ความดูแลของสถาบันอุตสาหกรรมสารสนเทศไต้หวัน (Institute for Information Industry, III) ทำการจัด “หลักสูตรเสริมสร้างศักยภาพทางเทคโนโลยีดิจิทัลในการป้องกันโรคโควิด – 19 ระหว่างไต้หวัน - ไทย” (Taiwan – Thailand Digital Enhancement Program Against COVID – 19) เป็นประจำทุกวันจันทร์และวันพุธ เวลา 18:00 – 19:00 ตามเวลาในกรุงเทพ ในระหว่างวันที่ 24 เม.ย. - 1 มิ.ย.


 

โดยเมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมา กรมอุตสาหกรรม กระทรวงเศรษฐการแถลงว่า หลักสูตรข้างต้นได้ดึงดูดผู้เรียนทั้งหมด 600 คนจาก 10 กว่าประเทศให้ความสนใจเข้าร่วม ประกอบด้วย ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เนเธอร์แลนด์ บังกลาเทศ และสเปน เป็นต้น


 

ดร. ถงเจิ้นหยวน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อช่วงที่ผ่านมานี้ ทุกประเทศทั่วโลกได้ปลูกฝังระบบการศึกษารูปแบบ STEAM เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้นด้วย การออกแบบ “หลักสูตรเสริมสร้างศักยภาพทางเทคโนโลยีดิจิทัลในการป้องกันโรคโควิด – 19 ระหว่างไต้หวัน - ไทย” ในครั้งนี้ ก็เพื่อที่จะทำลายกรอบจำกัดทางการศึกษาในรูปแบบเดิม ผนวกเข้ากับประเด็นสถานการณ์ล่าสุดในสังคม ซึ่งก็คือการป้องกันโรคโควิด – 19 โดยไฮไลท์ของหลักสูตรในครั้งนี้ประกอบด้วย การเรียนรู้หลักการของเครื่องจ่ายเจลแอลกอฮอล์แบบอัตโนมัติ ด้วยระบบเซ็นเซอร์อัจฉริยะ หรืออุปกรณ์ที่ช่วยหลีกเลี่ยงให้ผู้ใช้งานไม่ต้องสัมผัสโดยตรง ผ่านแนวคิดอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things, IoT) ทั้งนี้ เพื่อมอบแนวทางการป้องกันโรคระบาดเพื่อสุขภาพที่ดี ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ให้กับสถาบันการศึกษาของไทยที่ประสบกับปัญหาการหยุดเรียนชั่วคราว


 

โครงการบูรณาการอุตสาหกรรมการศึกษารูปแบบอัจฉริยะเพื่อการส่งออกของกรมอุตสาหกรรม ได้มุ่งมั่นผลักดันรูปแบบการเรียนการสอนด้วยการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ (Live Streaming) มาเป็นเวลานานกว่า 6 ปี นอกจากการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนผ่านการไลฟ์สดแล้ว ยังได้พัฒนาการเข้าถึงหลักสูตรที่มีความหลากหลาย อาทิ การกระตุ้นให้ผู้เรียนสร้างปฏิสัมพันธ์กันในแพลตฟอร์มออนไลน์ การถาม – ตอบกับอาจารย์ผู้สอน และทดสอบความรู้ที่เรียนมาผ่านการสอบย่อย ยึดหลักการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ประยุกต์ใช้ได้จริง กระตุ้นให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์และมีความสามารถในการแก้ปัญหา


 

โดย TECO ได้ทำการผลักดันหลักสูตรในครั้งนี้อย่างเต็มที่ ทำให้มีสถาบันการศึกษาหลายแห่งในไทยได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโปรแกรมนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียนส่งเสริมภาษาจีน (Chinese Language Center, CLC) โรงเรียนนานาชาติไทย-จีน (Thai-Chinese International School, TCIS) โรงเรียนบ้านรักภาษา (Banrakpasa language school) โรงเรียนสอนภาษาจีนฟอลโลว์มี (Follow Me Chinese Language School) โรงเรียนนานาชาติเวลล์ส (Wells International School) และสมาคมการค้าไทย – ไต้หวัน (Thai - Taiwan Business Association, TTBA)


 

ผู้สนใจในหลักสูตรดังกล่าวสามารถติดต่อสมัครได้ที่ https://bit.ly/2V8sCLs สำหรับผู้ที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่ https://www.programmyschool.org/ttaic-steam/ หากต้องการคำปรึกษาที่เกี่ยวกับรายละเอียดในหลักสูตร พี่น้องชาวไทยสามารถติดต่อฝ่ายการศึกษาของ TECO ได้ ผ่านช่องทางไลน์ด้วยรหัสไอดี : @TTedu ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่จะตอบข้อสงสัยแก่ผู้สอบถาม ทั้งที่เป็นภาษาจีนและไทยด้วย