เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา รองปธน.เฉินเจี้ยนเหริน ได้จัดการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับผอ.สถาบัน JHSPH (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 25 เม.ย. 63
เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา ทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวัน แถลงว่า เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 24 เม.ย. นายเฉินเจี้ยนเหริน รองประธานาธิบดี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ตอบรับคำเชิญของสถาบันสาธารณสุขของมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกิน (Johns Hopkins Bloomberg School of Public Health, JHSPH) แห่งสหรัฐอเมริกา ในการจัดการประชุมร่วมกับ Dr. Ellen J. MacKenzie ผู้อำนวยการ JHSPH และ W. Brent Christensen ผู้อำนวยการใหญ่ สถาบันอเมริกาในไต้หวัน สำนักงานไทเป ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ณ ทำเนียบประธานาธิบดี
รองปธน.เฉินฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. ปีที่แล้ว สำนักงานควบคุมโรคของไต้หวันได้รับข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต โดยมีเนื้อความระบุว่า เมืองอู่ฮั่นมีกรณีผู้ป่วยโรคปอดอักเสบชนิดพิเศษ จำนวน 7 รายเป็นอย่างต่ำ ซึ่งพวกเรามีความเห็นว่ากรณีผู้ป่วยโรคปอดอักเสบชนิดพิเศษที่เกิดจากการรวมกลุ่มกันของกลุ่มชนในครั้งนี้ มีความรุนแรง เกิดขึ้นอย่างกระทันหัน ไม่ปกติ และเหนือความคาดหมาย จึงได้ส่งสารไปยังองค์การอนามัยโลก (WHO) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน (Chinese Center for Disease Control and Prevention, CDC) เพื่อแจ้งเตือนให้เฝ้าจับตาสถานการณ์ พร้อมทั้งแสวงหามาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน
โดยเมื่อวันที่ 20 ม.ค. ไต้หวันได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการกลางป้องกันโรคระบาด (Central Epidemic Command Center, CECC) ขึ้น ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้มีการจัดงานแถลงข่าวในทุกวัน เพื่อความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล ประชาสัมพันธ์ความรู้ด้านสุขอนามัย และการบริหารความเสี่ยงต่างๆ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเว้นระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงการชุมนุมเป็นกลุ่มใหญ่ โดยมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ก็ถือเป็นมาตรการป้องกันโรคระบาดที่สำคัญเช่นกัน นอกจากนี้ ยังได้ประสานความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาชุดตรวจคัดกรอง ยาต้านเชื้อไวรัส และวัคซีนป้องกันโรคกับสหรัฐฯ และประเทศในแถบยุโรป อนึ่ง ความร่วมมือระหว่างประเทศก็เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะไม่มีประเทศใดสามารถต่อกรกับโรคโควิด – 19 ได้เพียงลำพัง ภายใต้สถานการณ์ที่หลายประเทศตกอยู่ในสภาวการณ์คับขัน ไต้หวันไม่สามารถนิ่งเฉยอยู่ได้
ตลอดทั้งเดือนเมษายน พวกเราได้บริจาคหน้ากากอนามัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ในแนวหน้าของการป้องกันโรคระบาดในประเทศแถบยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศพันธมิตร รวมจำนวนทั้งสิ้นกว่า 17 ล้านชิ้น ขณะเดียวกันก็ได้ประสานความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาชุดตรวจคัดกรอง ยาต้านเชื้อไวรัส และวัคซีนป้องกันโรค เป็นต้น ร่วมกับสหรัฐฯ และประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ทุกคนต่างก็เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการสกัดกั้นโรคระบาดในครั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไต้หวันประสบความสำเร็จในการป้องกันโรคระบาด มาจากความรวดเร็วในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล การกำหนดนโยบายที่ชัดเจน การดำเนินการตามมาตรการอย่างเข้มงวดทุกขั้นตอน การจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นอย่างทั่วถึง การชี้แจงข้อมูลที่โปร่งใส และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทันสมัยมาเป็นตัวช่วยในการสกัดกั้นโรคระบาด จนได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายจากประชาคมโลก ซึ่งไต้หวันยินดีที่จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์นี้ เพื่อประโยชน์สุขของประชาคมโลก และจะให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์กับประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงต่อไป รองปธน.เฉินฯ กล่าวย้ำว่า : “ไต้หวันไม่เพียงแต่ช่วยได้ แต่ไต้หวันกำลังช่วยอย่างเต็มที่” พวกเราพร้อมขานรับกับแผนรับมือในภาวะฉุกเฉินที่ว่า ประชาคมโลกควรจะขยายความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อสกัดกั้นโรคระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ
Dr. Ellen J. MacKenzie กล่าวว่า รองปธน.เฉินฯ เป็นดุษฎีบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบัน JHSPH มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอกทั้งสาขาการควบคุมโรคระบาดและสาขาพันธุศาสตร์มนุษย์ นอกจากนี้ รองปธน.เฉินฯ ยังได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมในหลายด้าน ทั้งทางวิชาการ ระบบสาธารณสุข การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และหน่วยงานรัฐบาล ซึ่งรองปธน.เฉินฯ ได้ประยุกต์ใช้ความเชี่ยวชาญทางด้านการบริหารระบบสาธารณสุขของตน มาต่อกรกับโรคซาร์ส (SARS) ที่อุบัติขึ้นในปี 2003 และโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ที่กำลังระบาดในปัจจุบัน
ในตอนท้าย W. Brent Christensen กล่าวขณะปราศรัยว่า การประชุมในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ไต้หวันเป็นพันธมิตรทางความร่วมมือที่สามารถเชื่อถือและพึ่งพาได้ โดยไต้หวันได้ร่วมแบ่งปันความรู้ความเชี่ยวชาญและทรัพยากรที่จำเป็นให้กับหน่วยงานภาครัฐ สถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานสาธารณสุขของนานาประเทศทั่วโลก สหรัฐฯ จึงคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะกระชับความร่วมมือกับไต้หวันในเชิงลึกยิ่งขึ้น ตลอดจนประชาสัมพันธ์รูปแบบการสกัดกั้นโรคระบาดของไต้หวันที่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาคมโลกต่อไป