เมื่อวันที่ 13 พ.ค. กต.ไต้หวันแสดงความขอบคุณต่อสมาชิกรัฐสภาของเม็กซิโกและประเทศในแถบอเมริกาใต้ รวม 71 คน ที่ได้ส่งหนังสือสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมใน WHO (ภาพจาก MOFA)
MOFA วันที่ 13 พ.ค. 63
เมื่อวันที่ 13 พ.ค. กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้แสดงความขอบคุณต่อผู้แทนประเทศในภูมิภาคอเมริกาใต้ ซึ่งประกอบด้วย Mr. Arnaldo Franco สมาชิกวุฒิสภาของสาธารณรัฐปารากวัย Mr. Ivan Name สมาชิกวุฒิสภาของสาธารณรัฐโคลอมเบีย Mr. Pepe Auth สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสาธารณรัฐชิลี และสมาชิกรัฐสภาใน “สโมสรฟอร์โมซา” (Formosa Club) ซึ่งเป็นแหล่งรวมตัวของกลุ่มพันธมิตรไต้หวัน รวม 71 คน จาก 10 ประเทศ ประกอบด้วย สาธารณรัฐอาร์เจนตินา สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล สาธารณรัฐเอกวาดอร์ สาธารณรัฐเปรู สาธารณรัฐบูรพาอุรุกวัย สาธารณรัฐโบลีวาร์แห่งเวเนซุเอลา และสหรัฐเม็กซิโก ที่ได้ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านวิธีการ “ส่งจดหมายคนละฉบับ” เพื่อเรียกร้องต่อนายแพทย์ ทีโดรส อัดฮานอม กีเบรเยซุ (Tedros Adhanom Ghebreyesus) เลขาธิการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ WHO ตระหนักถึงความจำเป็นและความเร่งด่วนในการเข้ามีส่วนร่วมใน WHO ของไต้หวัน
สมาชิกแกนนำของ “สโมสรฟอร์โมซา” สาขาในประเทศแถบอเมริกาใต้และเม็กซิโก ในฐานะตัวแทนของทุกประเทศสมาชิก ได้ลงมือเขียนจดหมายด้วยตนเองเรียกร้องต่อ นพ. ทีโดรสฯ ถึงวิธีการสกัดกั้นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) “รูปแบบไต้หวัน” ที่ประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกัน ไต้หวันก็แสวงหาหนทางในการยื่นมือเข้าช่วยเหลือหลายประเทศทั่วโลก ในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 สะท้อนให้เห็นถึงสปิริตในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ภายใต้สภาวการณ์ที่คับขันเช่นนี้ นอกจากนี้ สาระสำคัญในสารข้างต้น ยังเน้นย้ำว่า ไต้หวันถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบสาธารณสุขโลกของ WHO อันเนื่องมาจากเหตุผลทางการเมือง มาเป็นเวลานาน ด้วยเหตุนี้ จึงขอเรียกร้องให้ WHO ตระหนักถึงคุณประโยชน์ที่ไต้หวันได้ร่วมอุทิศให้กับประชาคมโลก และคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้านสาธารณสุขของประชาชนชาวไต้หวันทั้ง 23 ล้านคน เร่งเชิญให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมใน WHO ในฐานะผู้สังเกตการณ์โดยเร็ว
กต.ไต้หวันยืนยันอีกครั้งว่า ด้วยระบบสาธารณสุขที่สมบรูณ์ และประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดที่ประสบความสำเร็จของไต้หวัน จึงทำให้ไต้หวันถือเป็นพันธมิตรที่ขาดไม่ได้ในการบรรลุเป้าหมาย “สุขภาพดีถ้วนหน้า” (Health For All) ของ WHO ด้านสมาชิก “สโมสรฟอร์โมซา” ก็ได้ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วม WHO อย่างเป็นรูปธรรม แสดงให้เห็นว่า หลายประเทศทั่วโลกต่างยินดีเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องความยุติธรรมให้กับไต้หวัน ภายใต้ค่านิยมพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และเสรีภาพ ที่มีร่วมกัน ประกอบกับไต้หวันมีความยินดีและมีศักยภาพที่จะเข้าร่วมในทุกกลไกที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสุขภาพของมวลมนุษยชาติ ตลอดจนร่วมสร้างคุณประโยชน์แก่ประชาคมโลก โดยหลังจากนี้ กต.ไต้หวันจะประสานความร่วมมือกับนานาชาติในเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิการเข้าร่วมในการประชุม กิจกรรม และกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของ WHO ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างให้เครือข่ายการป้องกันโรคระบาดทั่วโลก ปราศจากช่องโหว่อีกต่อไป