ควินัวไต้หวันที่พบเห็นได้ทั่วไปในหมู่บ้านของชนเผ่าพื้นเมือง กลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญภายหลังพายุไต้ฝุ่นมรกตพัดถล่มไต้หวันในปีค.ศ.2009 ในภาพคือคุณปาชิงอี ชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านอาหลี่ กำลังเก็บเกี่ยวควินัวแดง
เมื่อควินัวซึ่งมาจากละตินอเมริกากลายเป็นที่สนใจไปทั่วโลก จนเป็นดาวดวงเด่นในแวดวงอาหารเพื่อสุขภาพ และในขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตของการขาดแคลนอาหาร หลายๆ คนกลับไม่รู้เลยว่าในหมู่บ้านของชนเผ่าพื้นเมืองมีของล้ำค่าที่ชื่อว่า “ควินัวไต้หวัน” ปลูกกันอยู่ทั่วไป
ธัญพืชที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับร้อยปีและมีสีแดงเหลืองสดใสราวกับอัญมณีล้ำค่านี้ ไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศของไต้หวัน หากแต่ในทุกวันนี้ได้กลายมาเป็นความทรงจำอันล้ำค่าของครอบครัวชนเผ่าพื้นเมืองที่ได้รับผลกระทบจากไต้ฝุ่นมรกต เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.2009 ก่อนจะกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของการสืบทอดวัฒนธรรมพื้นบ้านของชนเผ่าพื้นเมืองด้วย
จากกระแสการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพที่กลายเป็นที่นิยมไปทั่วโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่ควินัวซึ่งเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และกระจายตัวอยู่ในแถบเทือกเขาแอนดีสของละตินอเมริกา จะกลายมาเป็น “ซุปเปอร์ฟู้ด” ที่ไม่เพียงแต่จะเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าดาราดังในยุโรปและอเมริกา หากแต่คุณสมบัติที่ปลูกง่ายและเจริญเติบโตได้แม้ในพื้นที่แห้งแล้ง ทำให้องค์การสหประชาชาติยกให้เป็นพืชที่จะสามารถช่วยบรรเทาวิกฤตด้านอาหารของโลกได้เลยทีเดียว สำหรับในไต้หวัน พุ่มควินัวที่มีสีเหลืองสลับแดงอันฉูดฉาดและได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นพันธุ์พืชดั้งเดิมของไต้หวัน ก็มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับร้อยปีเช่นเดียวกัน
เปิดโฉมหน้าของ “ควินัวไต้หวัน”
ในปีค.ศ.2008 กรมป่าไม้ไต้หวันได้มอบหมายให้ ศ.กัวเย่าหลุน (郭耀綸) จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผิงตง (NPUST) ซึ่งทำการศึกษาเพื่อคลี่คลายความลึกลับของควินัว ชี้ว่า ควินัวเป็นพืชที่พบเห็นได้ทั่วไปตามหมู่บ้านของชนเผ่าพื้นเมือง ในยุคอดีตที่เสบียงอาหารไม่อุดมสมบูรณ์ ควินัวซึ่งมีน้ำหนักเบาและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง จึงเป็นสิ่งที่ชนเผ่าพื้นเมืองนิยมพกติดตัวในยามที่ต้องขึ้นเขาไปล่าสัตว์ แต่หลังจากที่ชนเผ่าพื้นเมืองย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในที่ราบมากขึ้น ประกอบกับการที่เสบียงอาหารชนิดอื่น เช่น ข้าว หรือเผือก สามารถหาได้ง่ายขึ้น ควินัวจึงถูกลดบทบาทเหลือเพียงเป็นตัวประกอบเท่านั้น
ศ.กัวเย่าหลุนที่เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายของพืชพันธุ์ในไต้หวัน ก็มีโอกาสได้ทำความรู้จักกับควินัวผ่านการแนะนำของนักศึกษาที่ชื่อว่าหลินจื้อจง (林志忠) โดยในปี 2005 หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ความหลากหลายทางชีววิทยาของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผิงตง ศ.กัวเย่าหลุนจึงได้เริ่มทำการค้นคว้าเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายในแถบเกาสงและผิงตง พร้อมทั้งเริ่มทำการศึกษาควินัว
ศ.กัวเย่าหลุนเล่าให้ฟังว่า ในตอนแรกแทบไม่มีการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับควินัวอยู่เลย มีเพียงรายงานการตรวจสอบเล็กน้อยของกัวจิ้นเฉิง (郭進成) นักวิจัยประจำสถานีพัฒนาพันธุ์พืชในเมืองไถตงเท่านั้น ดังนั้น สมาชิกของทีมวิจัยจึงต้องเดินทางไปยังมหาวิทยาลัยและพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐฯ อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ เพื่อทำการเปรียบเทียบตัวอย่าง หลังผ่านไป 3 ปี ศ.หยางหย่วนโพ (楊遠波) ประจำคณะวิทยาศาสตร์ชีวภาพของมหาวิทยาลัยจงซาน ก็ได้พบตัวอย่างที่มีรูปร่างภายนอกและลักษณะพิเศษสอดคล้องกันจากห้องเก็บตัวอย่างสมุนไพรของมหาวิทยาลัยเกียวโต
แท้จริงแล้วที่ผ่านมา ควินัวแดงซึ่งถูกเรียกในหลายๆ ชื่อ เคยถูกชาวญี่ปุ่นนำมาทำการศึกษาในปีค.ศ.1940 พร้อมทั้งระบุให้เป็นพันธุ์พืชที่มีเฉพาะในไต้หวัน และตั้งชื่อว่า “ควินัวไต้หวัน (Chenopodium formosanum)” ดังนั้น ในที่สุด ความจริงเกี่ยวกับควินัวที่มีสีสันสดใสและมีรูปลักษณ์แปลกประหลาดจนทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นพืชที่มาจากภายนอก ก็ถูกเปิดเผยและได้รับชื่อที่ถูกต้องจนได้
ผลการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะมีความหมายเป็นอย่างมากต่อความหลากหลายทางชีวภาพของไต้หวัน ในระหว่างการศึกษายังพบว่า ในปีค.ศ.1918 ไต้หวันเคยประสบภาวะแห้งแล้งอย่างหนักและเกิดความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจนทำให้มีความหนาวเย็นผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจากการเพาะปลูกในที่ราบได้ มีเพียงแต่ชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ทางภาคใต้สามารถผ่านพ้นวิกฤตแห่งความหิวโหย โดยได้ควินัวไต้หวันมาช่วยประทังชีวิตเอาไว้ ปัจจุบัน ในยามที่ทั่วโลกต่างพยายามหาหนทางแก้ไขภาวะวิกฤตขาดแคลนอาหาร เราเพิ่งจะค้นพบว่า ในอดีต ควินัวไต้หวันได้เคยช่วยให้มนุษยชาติผ่านพ้นความหิวโหยได้สำเร็จมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเกือบร้อยปีก่อน
เนื่องจากมีสีสันสดใสและมีรูปลักษณ์ที่แปลกตา ทำให้ถูกเข้าใจผิดคิดว่าเป็นพันธุ์พืชจากต่างประเทศ แต่แท้ที่จริงแล้ว นี่คือพันธุ์พืชดั้งเดิมของไต้หวัน
คุณแม่จากหมู่บ้านชนเผ่าพื้นเมือง ผู้ผลักดันควินัวไต้หวันสู่เวทีนานาชาติ
หลังจากการศึกษาวิจัยของทีมงานจาก NPUST ทำให้ควินัวแดงเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงหน่วยงานวิจัย ต่างก็เข้ามาร่วมกันผลักดันและส่งเสริมให้แพร่หลายมากขึ้น ในปีค.ศ.2014 ภายใต้การผลักดันของคุณอู๋เหม่ยเม่า (吳美貌) ผู้ก่อตั้ง Taiwan Way ทำให้ควินัวแดงสามารถไปปรากฏโฉมในงาน Slow Food ของอิตาลี และได้รับการบันทึกชื่อไว้ในคลังข้อมูล Ark of Taste ในฐานะพันธุ์พืชพื้นเมืองของไต้หวันร่วมกับข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวม่วง และข้าวเดือย จนสร้างชื่อไปทั่วโลก
คุณอู๋เหม่ยเม่าที่เคยทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยในศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ (Development Center for Biotechnology, DCB) แต่หลังจากที่เป็นโรคมะเร็งในปีค.ศ.2001 ก็ได้ผันตัวเองมาผลักดันเกษตรอินทรีย์ ก่อนจะก่อตั้ง Taiwan Way ขึ้น และในช่วงหลายปีมานี้ คุณอู๋เหม่ยเม่าพยายามผลักดันเกษตรอินทรีย์และการเกษตรที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติให้แก่หมู่บ้านของชนเผ่าพื้นเมือง จนได้รับฉายาว่าเป็น “คุณแม่แห่งชนเผ่าพื้นเมือง” โดยโครงการที่โด่งดังที่สุดของเธอคือ เรื่องราวของการช่วยให้ชุมชน Talampo ที่อยู่ในเมืองฮัวเหลียน ซึ่งถือเป็นหมู่บ้านของชนเผ่าพื้นเมืองที่ไม่มีไฟฟ้าใช้จนถูกเรียกขานว่าเป็น “ชุมชนมืดมิด” ได้ปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรอินทรีย์
ในปีค.ศ.2008 คุณอู๋เหม่ยเม่าได้รับเชิญจากเทศบาลตำบลจินฟง เมืองไถตง ให้ไปร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการทำงานให้คำปรึกษาแก่ชุมชนของชนเผ่าพื้นเมือง ทำให้คุณอู๋เหม่ยเม่ามีโอกาสได้เห็นทุ่งควินัวสีสันสวยงาม จนรู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก
ในตอนนั้น บ. Leezen Co. ซึ่งมีร้านจำหน่ายสินค้าออร์แกนิกหลายสาขาในไต้หวัน เคยได้รับการแนะนำจากคุณอู๋เหม่ยเม่าในการทำเกษตรพันธสัญญาปลูกกระเจี๊ยบกับเกษตรกรหมู่บ้านฉีเหม่ยในเขตฮัวเหลียน จึงขอให้คุณอู๋เหม่ยเม่าช่วยแนะนำสินค้าใหม่มาป้อนตลาด คุณอู๋เหม่ยเม่านึกถึงควินัวแดงขึ้นมา จึงได้แนะแนวเกษตรกรในแถบฮัวเหลียนและไถตงหันมาเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์
ในปีค.ศ.2013 ในงานสัมมนา Taiwan Good Food Association Conference คุณอู๋เหม่ยเม่ามีโอกาสได้รู้จักกับคุณกัวโย่วเจิน (郭又甄) ซึ่งศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัย University of Gastronomic Sciences ของอิตาลี ทำให้มีโอกาสได้ไปเข้าร่วมการประชุม Slow Food’s Biennial Conference ซึ่งจัดขึ้นทุกๆ 2 ปีด้วย โดยคุณกัวโย่วเจินได้นำเอาเรื่องราวที่ Taiwan Way ของคุณอู๋เหม่ยเม่า ให้คำปรึกษาแก่ชุมชนของชนเผ่าพื้นเมืองของไต้หวันไปทำเป็นกรณีศึกษาในชั้นเรียน จนข่าวนี้ไปถึงหูของกรรมการผู้จัดงาน Slow Food ทำให้กรรมการท่านนี้พยายามเชิญคุณอู๋เหม่ยเม่าไปร่วมบรรยายและแบ่งปันประสบการณ์ให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมในการประชุมครั้งนั้น ชื่อของควินัวแดงจึงมีโอกาสได้ก้าวขึ้นสู่เวทีนานาชาติ จนทำให้ผู้คนจากวงการต่างๆ ได้เห็นโฉมหน้าของธัญพืชที่มาจากไต้หวันชนิดนี้
คุณเซี่ยเจิ้นชาง ประธาน Kullku Co. เป็นผู้ชี้แนะให้เพาะปลูก ใบหน้าของเกษตรกรจึงเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้ม เมื่อได้เห็นควินัวแดงค่อยๆ เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดง
ธัญพืชเก่าแก่นับร้อยปี พลิกฟื้นเศรษฐกิจของหมู่บ้านชนเผ่าพื้นเมือง
ย้อนกลับไปในปีค.ศ.2009 พายุไต้ฝุ่นมรกตได้สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อพื้นที่ในแถบเกาสงและผิงตง ทำให้หมู่บ้านของชนเผ่าพื้นเมืองจำนวนมากพังทลายลงจนถึงกับต้องย้ายหมู่บ้านหนี แต่ควินัวแดงที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของหมู่บ้านชนเผ่าพื้นเมืองได้อย่างคาดไม่ถึง
ในปีค.ศ.2012 คุณเซี่ยเจิ้นชาง (謝振昌) กรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท Kullku Co. ได้เริ่มทำการเกษตรพันธสัญญากับหมู่บ้านของชนเผ่าพื้นเมืองในแถบผิงตงและไถตง ในฐานะที่ตัวเองเป็นลูกเขยของชนเผ่าพื้นเมือง คุณเซี่ยเจิ้นชางรู้จักกับควินัวแดงผ่านการแนะนำของภรรยาที่เป็นชนเผ่าไพวัน (Paiwan) มาก่อนแล้ว และหลังจากที่ปลดเกษียณจากการทำงานให้กับบริษัทด้านโลจิสติกส์ คุณเซี่ยเจิ้นชางก็คิดที่จะผันตัวเองมาทำการเกษตร และสิ่งแรกที่นึกถึงก็คือควินัวแดง
หลังเกิดวาตภัยจากพายุไต้ฝุ่นมรกตในปี 2009 ชนเผ่าพื้นเมืองจำนวนไม่น้อยถูกบังคับให้ต้องย้ายถิ่นฐานจากถิ่นกำเนิด ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งรายได้และสภาวะจิตใจของพวกเขาเป็นอย่างมาก บรรยากาศในขณะนั้นเต็มไปด้วยความเศร้าซึม คุณซ่งจินซาน (宋金山) ซึ่งเคยทำงานในการฟื้นฟูตำบลซิ่นอี้ เมืองหนานโถว หลังเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 21 กันยายน ค.ศ.1999 และเข้าร่วมทำงานในแนวหน้าเพื่อฟื้นฟูสภาพบ้านเมืองภายหลังจากพายุไต้ฝุ่นมรกตพัดผ่าน ในตำแหน่งผู้จัดการโครงการฟื้นฟูชุมชนไป่เหอ (百合) ในตำบลฉางจื้อ เมืองผิงตง ได้บอกกับเราว่า ในตอนนั้นชนเผ่าพื้นเมืองจากหมู่บ้าน 6 แห่ง ที่ถูกย้ายมาอาศัยอยู่ในตำบลฉางจื้อ มีจำนวนกว่า 250 ครอบครัว และภายในระยะเวลาไม่ถึงครึ่งปี มีชาวบ้านถึง 37 คนเสียชีวิต เนื่องจากสภาวะจิตใจได้รับผลกระทบอย่างหนัก และปลงไม่ตกจากอาการคิดถึงบ้านเดิมของตัวเอง
ทีมฟื้นฟูจึงพยายามหาหนทางเพื่อเยียวยาเหล่าผู้ประสบภัย ในปีค.ศ.2013 คุณซ่งจินซานทราบจากสำนักงานเกษตรเมืองผิงตงว่า คุณเซี่ยเจิ้นชางได้เริ่มทำการเพาะปลูกควินัวแดง จึงเสนอแผนงานเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกัน โดยหวังว่าการทำเกษตรพันธสัญญาระหว่างทั้งสองฝ่ายจะช่วยให้ชาวบ้านคลายความคิดถึงบรรยากาศในแบบเดิมๆ ของบ้านเกิดได้
คุณปาชิงอี (巴清一) ที่มีอายุ 80 ปี ในขณะที่จำต้องลาจากป่าเขาลำเนาไพรอันคุ้นเคย ก่อนจะย้ายมาพำนักอาศัยอยู่ในพื้นที่ราบหลังเหตุวาตภัย ส่งผลให้คุณปาชิงอีมีอาการซึมเศร้าตลอดทั้งวัน แต่หลังจากที่ได้มีโอกาสสัมผัสกับควินัวแดง ก็เริ่มกลับมามีความคึกคักอีกครั้ง คุณปาเหวินสง (巴文雄) ที่ปลดประจำการจากการเกณฑ์ทหารและกลับมาอยู่เป็นเพื่อนคุณพ่อที่บ้านได้เล่าให้เราฟังว่า หลังจากที่คุณพ่อเริ่มปลูกควินัวแดง ก็มีรอยยิ้มมากขึ้นและเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวามากกว่าเดิม ถึงตรงนี้พวกเขาจึงค้นพบว่า ควินัวแดงที่ถูกนำมาใช้ในการหมักเหล้าขาวจากความทรงจำในวัยเด็ก เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการและมีคุณค่าในทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก
คุณเซี่ยเจิ้นชางบอกว่า “หวังว่าการทำเกษตรพันธสัญญาในการปลูกควินัว จะสามารถช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของหมู่บ้านชนเผ่าพื้นเมืองได้” ควินัวแดงเป็นพืชที่เจริญงอกงามได้ง่าย เพราะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ง่าย แม้ในดินที่มีคุณภาพไม่ดี อย่างไรก็ดี รวงของควินัวมีขนาดเล็กว่าข้าวฟ่าง ทำให้การนำมาแปรรูปมีความซับซ้อนไม่น้อย ต้องผ่านกรรมวิธีต่างๆ ถึง 12 ขั้นตอน กว่าที่จะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ดังนั้น คุณเซี่ยเจิ้นชางจึงได้ประดิษฐ์เครื่องคัดแยก ทำให้การทำงานที่แต่เดิมต้องใช้แรงงานคนในการคัดเลือก มีประสิทธิภาพมากขึ้น
จากกระแสความนิยมในตลาดโลก ทำให้ชื่อเสียงของควินัวไต้หวันค่อยๆ โด่งดังขึ้นมา ส่งผลให้ผู้ติดต่อเข้ามาเพื่อขอทำธุรกิจด้วยมีจำนวนมากขึ้น และทำให้เกษตรกรในตำบลตัวเหลียงของไถตง ตำบลน่าหม่าเซี่ยในเกาสง และตำบลซิ่นอี้ในหนานโถว ต่างก็แสดงความสนใจที่จะร่วมมือด้วย โดย Original-Love Woodworking Workshop ที่เพิ่งร่วมงานกับคุณเซี่ยเจิ้นชางได้ไม่นาน นอกจากจะปลูกควินัวแดงตามสัญญาของเกษตรพันธสัญญาแล้ว ยังได้นำเอางานหัตถศิลป์พื้นเมืองในการทอผ้าของชนเผ่าพื้นเมืองมาประยุกต์เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่ควินัวแดงด้วย ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านของเหล่าชนเผ่าพื้นเมืองได้เป็นอย่างดี
การที่ประเด็นด้านสุขภาพและความเพียงพอของอาหารได้รับความสนใจมากขึ้นทุกที ควินัวไต้หวันที่แต่เดิมเป็นเพียงตัวประกอบของอาหารชนิดอื่นๆ ได้กลายเป็นตัวเอกขึ้นมาอย่างทันทีทันใด สีแดงเหลืองสดใสที่เติบโตได้แม้ในดินที่คุณภาพไม่ดีหรือในสภาวะแห้งแล้ง ได้แสดงให้เราได้เห็นถึงพลังแห่งชีวิตอันเข้มแข็งของไต้หวันที่ฟันฝ่าและต่อสู้กับอุปสรรคอย่างไม่ย่อท้อ