ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ปะติดปะต่อความทรงจำยุคบุกเบิกของไต้หวัน กับทริปขี่จักรยานไปตามที่ราบลุ่มเจียหนาน
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2020-07-13

ในอดีต ที่ราบลุ่มเจียหนานไม่มีระบบชลประทาน แต่หลังจากที่มีการสร้างคลองส่งน้ำเจียหนานขึ้น ที่นี่ก็ได้กลายมาเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของไต้หวัน

ในอดีต ที่ราบลุ่มเจียหนานไม่มีระบบชลประทาน แต่หลังจากที่มีการสร้างคลองส่งน้ำเจียหนานขึ้น ที่นี่ก็ได้กลายมาเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของไต้หวัน
 

เมื่อขี่จักรยานไปในแถบที่ราบลุ่มเจียหนานบนทางหลวงหมายเลข “ไถ 1” (ทางหลวงไต้หวันหมายเลข 1) ซึ่งถือเป็นทางหลวงที่เก่าแก่ที่สุดของไต้หวัน จุดต่างๆ ที่เราผ่าน ถือเป็นจุดสำคัญในยุคสมัยแห่งการบุกเบิกของไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำ ตลาดค้าวัว และย่านสถานีรถไฟอันคึกคัก การเดินทางของเราในครั้งนี้ก็เหมือนกับการท่องไปตามเส้นเลือดใหญ่ของเกาะไต้หวัน ก่อนจะกลับมาสู่ต้นกำเนิดของอู่ข้าวอู่น้ำอันอุดมสมบูรณ์ ที่เป็นเสมือนกับคลังเสบียงของประเทศ สิ่งที่จักรยานของเราวิ่งผ่านมิใช่เพียงแค่พิกัดตามภูมิศาสตร์ หากแต่ยังถือเป็นการผ่านเข้าไปติดตามเรื่องราวของตำนานแห่งวันวานไปพร้อมกันด้วย

 

ทริปการตามรอยประวัติศาสตร์ เริ่มขึ้นที่เจียอี้ ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นนครแห่งไม้ เราเริ่มออกเดินทางจากสถานีรถไฟเป่ยเหมิน ที่เหมือนจะพาให้เราย้อนกลับไปสู่ยุคที่ไต้หวันอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น อันเป็นยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมป่าไม้

 

การถือกำเนิดใหม่ของอาคารทรงญี่ปุ่น

เมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์ของเมืองเจียอี้ เหล่าคนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่ต่างก็แนะนำว่า คุณอวี๋กั๋วซิ่น (余國信) เถ้าแก่ของบริษัททัวร์อวี้ซานเป็นผู้นำเที่ยวที่ดีที่สุด คุณอวี๋กั๋วซิ่นมีประสบการณ์ในการเป็นไกด์นานหลายปีดีดัก ประกอบกับที่ตั้งของบริษัทก็อยู่ตรงข้ามกับสถานีรถไฟเก่าแก่อย่างสถานีเป่ยเหมิน (北門驛) พอดี ทำให้สามารถเล่าประวัติความเป็นมาของการรถไฟได้อย่างคล่องแคล่ว

“แต่ก่อนร้านแบบนี้ถือเป็นร้านที่มีการขายบริการ (ทางเพศ) มองจากประตูกระจกเข้าไป จะเห็นแต่ความมืดทึบ ผู้คนที่เดินผ่านไปมาก็มักจะอดไม่ได้ที่จะวิพากษ์วิจารณ์ไปเรื่อย มีเพียงแต่ผมที่เวลาพาคนเดินเที่ยวชม ก็จะต้องเล่าเรื่องราวของร้านพวกนี้เป็นพิเศษ เดิมทีผมก็แค่ยืนดูอยู่ข้างนอก แต่ต่อมา พอมีคนอยู่ด้วยกันเยอะๆ ก็เลยกล้าเดินเข้าไปข้างใน” อวี๋กั๋วซิ่นและเถ้าแก่ของร้านจึงเริ่มสนิทกันมากขึ้น และเมื่อได้ยินว่าเจ้าของร้านอยากปล่อยเช่าหน้าร้าน คุณอวี๋กั๋วซิ่นที่มีความหลงใหลในอาคารเก่าแก่จึงรู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมาก ก่อนจะเริ่มหาสมัครพรรคพวกมาลงขันร่วมกันลงทุน

“อาคารเก่าแก่คือภาพที่สะท้อนของยุคสมัย อาคารหลังนี้ผ่านช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน พร้อมทิ้งร่องรอยเอาไว้มากมายเหลือคณานับ และก่อนที่จะกลายมาเป็นแหล่งขายบริการ เดิมทีที่นี่เคยเป็นโรงแรมมาก่อน ในตอนนั้นสถานีรถไฟเป่ยเหมินมีการเดินรถวันละ 4 ขบวน มีทั้งคนที่ขึ้นไปตัดไม้ในป่า และมีคนที่เดินทางจากจู๋ฉีเพื่อมาทำการค้าขายในเมือง เจ้าของจึงเห็นเป็นโอกาสทางการค้าและเปิดเป็นโรงแรมขึ้น” คุณอวี๋กั๋วซิ่นเห็นว่า ความน่าประทับใจของอาคารเก่าแก่มาจากประวัติความเป็นมาของมัน

เมื่อขี่จักรยานไปในตัวเมืองเจียอี้ สิ่งที่เห็นอยู่มากมายคือร้านอาหารเก่าแก่ที่ให้ความรู้สึกคุ้มค่า เพราะทั้งอร่อยทั้งประหยัด แต่สิ่งที่ดึงดูดสายตาของผู้คนได้เป็นอย่างมากก็คือ บรรดาร้านค้าที่นำเอาอาคารเก่าแก่มาปรับปรุงและตกแต่งใหม่จนกลายเป็นกระแสยอดนิยมในระยะนี้ แม้แต่สวนวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์เจียอี้ที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน ก็คืออาคารที่เคยเป็นโรงกลั่นสุราซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดในไต้หวัน

Chung Chung Film เป็นสตูดิโอที่ทำงานด้านการถ่ายทำวีดิทัศน์ ซึ่งเกิดขึ้นจากเด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษารวมตัวกันก่อตั้งขึ้นมา พวกเขาได้ใช้วีดิทัศน์บันทึกเรื่องราวของเจียอี้ที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอน โดยมีร้านค้าภายในสวนวัฒนธรรมฯ จำนวนไม่น้อยที่เคยถูกพวกเขาถ่ายทำและบันทึกเป็นเรื่องราวไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นนักจัดดอกไม้ คนทำหนัง รวมไปจนถึงปาตีซีเย (เชฟทำขนมหวาน) ซึ่งต่างก็เป็นกลุ่มคนที่มีความฝันแตกต่างกัน แต่มาเช่าพื้นที่ภายในสวนวัฒนธรรมฯ เหมือนกัน ด้วยความหวังว่าจะมีผู้คนได้เห็นและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความฝันของพวกเขาไปพร้อมกัน

 

ซอยจิงเหลียว แหล่งช็อป ของติดตัวเจ้าสาวอันคึกคัก

เราเดินทางออกจากตัวเมืองเจียอี้ และท่องไปตามทางหลวงสายไถ 1 จนผ่านหลักแบ่งเขตอากาศทรอปิกออฟแคนเซอร์ ก็เข้าสู่พื้นที่ซึ่งมีสภาพภูมิอากาศแบบเขตร้อนของไต้หวัน และหลังจากที่เราวิ่งเป็นเส้นตรงมาพักใหญ่ ก็เลี้ยวขวาเข้าไปตามทางหลวงสายหนาน 84 เพื่อตรงไปยังซอยจิงเหลียว

ถนนโบราณจิงเหลียวได้รับการขนานนามว่าเป็นถนนแห่งการจับจ่ายซื้อของติดตัวเจ้าสาว พื้นถนนปูด้วยอิฐแดง สองข้างทางเรียงรายไปด้วยอาคารชั้นเดียวเตี้ยๆ ในจำนวนนี้มีอาคารหลังหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 250 ปี คือ “ร้านขายยาจินเต๋อซิ่งของตระกูลหร่วน” และโรงเตี๊ยมตระกูลหวงที่ถือเป็นจุดพักของเหล่าพ่อค้าที่เดินทางไปมาในแถบเจียอี้และไถหนาน ในยุคที่ไต้หวันอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น แม้ว่าโรงเตี๊ยมแห่งนี้จะปิดกิจการไปในยุคปี 1950 หากแต่ลูกหลานรุ่นที่ 4 ของตระกูลนี้คือคุณหวงหย่งฉวน (黃永全) ก็ยังเปิดเกสต์เฮาส์อยู่ในบริเวณใกล้เคียง พร้อมทั้งทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมและยังเป็นไกด์ประจำท้องถิ่นด้วย

พื้นที่ของชุมชนจิงเหลียวไม่ถือว่าใหญ่นัก หากแต่มีร้านค้าเก่าแก่ตั้งอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย เช่น ร้านจักรยานจิ้นเฉิง ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1926 เป็นร้านที่บริหารโดยบิดาของคุณหวงหย่งฉวน ส่วนร้านฟงชัง ที่ตั้งขึ้นในปี 1929 โดยเถ้าแก่คือคุนปินปั๋ว (崑濱伯) เจ้าของตำแหน่งแชมป์ข้าวประจำปีครั้งที่ 4 ที่เป็นตัวเอกของภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Let it be (2004) สำหรับร้านนาฬิการุ่ยหรง ที่เปิดกิจการในปี 1946 ภายในร้านเต็มไปด้วยนาฬิกาที่มีอายุเก่าแก่นับร้อยเรือน เมื่อถึงเวลาโมงตรงของทุกชั่วโมง เสียงนาฬิกาที่ดังขึ้นต่างก็สอดประสานส่งเสียงไพเราะราวกับเป็นการบรรเลงของวงออร์เคสตรา

คุณหวงหย่งฉวนก็เปรียบเสมือนเป็นผู้ใหญ่บ้านที่พาพวกเราไปทักทายร้านค้าเก่าแก่ทั้งหลาย โดยในขณะที่เล่าเรื่องราวของร้านแต่ละแห่ง ก็แสดงความห่วงใยต่อสุขภาพของเหล่าช่างอาวุโสของแต่ละร้านไปด้วย

สถานีต่อไปของเราคือ โรงน้ำตาลซินอิ๋ง ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟ และหลังจากที่เราซื้อไอศกรีมแท่งรสวอลนัตไข่เค็มแดง ซึ่งเป็นรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของไถถัง (Taiwan Sugar) มาชิมกันแล้ว ก็เป็นอันจบทริปประจำวันนี้ของเรา
 

ร้านนาฬิการุ่ยหรงเปิดมา 70 ปีแล้ว ปัจจุบันคุณอินรุ่ยเสียงซึ่งเป็นเถ้าแก่ของร้านก็มีอายุได้ 93 ปีแล้ว นาฬิกาโบราณที่แขวนเรียงรายอยู่ภายในร้านจะส่งเสียงประสานดังขึ้นพร้อมๆ กันเมื่อถึงเวลาโมงตรง

ร้านนาฬิการุ่ยหรงเปิดมา 70 ปีแล้ว ปัจจุบันคุณอินรุ่ยเสียงซึ่งเป็นเถ้าแก่ของร้านก็มีอายุได้ 93 ปีแล้ว นาฬิกาโบราณที่แขวนเรียงรายอยู่ภายในร้านจะส่งเสียงประสานดังขึ้นพร้อมๆ กันเมื่อถึงเวลาโมงตรง
 

ครอบครัวหมายเลข 1 แห่งไถหนาน : ผู้ผลักดันการศึกษาวิจิตรศิลป์ในไต้หวัน

เช้าวันถัดมา เราออกเดินทางไปยังหอศิลป์หลิวฉี่เสียงที่ตั้งอยู่ที่หลิ่วอิ๋ง การเดินทางของเราในวันนี้อยู่บนพื้นราบเป็นส่วนใหญ่ จึงสามารถที่จะขี่จักรยานได้อย่างสบายใจ พร้อมดื่มด่ำไปกับทิวทัศน์ของท้องนาที่อยู่ระหว่างฤดูเก็บเกี่ยวได้อย่างเต็มที่

เพียงแวบแรกที่ได้เห็นหอศิลป์หลิวฉี่เสียง เราก็ถูกดึงดูดโดยรูปลักษณ์ภายนอกของอาคารที่มีสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกและความอลังการของประตูใหญ่ และสวนอันร่มรื่นในอดีต ที่นี่เคยเป็นคฤหาสน์ของตระกูลหลิวซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น “ครอบครัวหมายเลข 1 แห่งไถหนาน” สมาชิกของตระกูลนี้ต่างก็เคยไปเยือนทั้งยุโรปและญี่ปุ่น ทำให้เอกลักษณ์ของอาคารแห่งนี้คือ สถาปัตยกรรมที่มีความหลากหลาย ทั้งรูปลักษณ์ภายนอกแบบตะวันตกที่แฝงไว้ด้วยองค์ประกอบแบบญี่ปุ่นภายใต้โครงสร้างในแบบไต้หวัน

ชุดสูทสีครีมกับแว่นตากรอบสี่เหลี่ยม คุณหลิวเกิ่งอี (劉耿一) ซึ่งเป็นบุตรชายคนโตของอ.หลิวฉี่เสียง (劉啟祥) ใช้ภาษาไต้หวันพูดกับเราด้วยสำเนียงอันเพราะพริ้ง ทุกอากัปกริยาต่างก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้ดีมีตระกูล เขาชี้ไปที่มุมหนึ่งของห้องภาพ แล้วรำลึกถึงเรื่องราวในอดีตที่อยู่ในความทรงจำว่า “ตอนเด็กๆ ผมเคยหนีเรียนไปจับจิ้งหรีด ท้องนาในสมัยก่อนสวยมาก น้ำในแม่น้ำลำคลองก็ใสสะอาด หากกระหายน้ำก็สามารถวักน้ำขึ้นมาดื่มได้เลย” ทิวทัศน์ธรรมชาติอันงดงามของหลิ่วอิ๋งประทับอยู่ในความทรงจำของคุณหลิวเกิ่งอีอย่างไม่ลืมเลือน ก็เหมือนกับที่บิดาของเขาได้ถ่ายทอดทิวทัศน์อันงดงามของท้องนาผ่านทางภาพวาดของท่าน

เมื่อเราเดินออกจากห้องภาพและเดินเข้าไปในตึกอี๋โหลว (บ้านเดิมของอ.หลิวฉี่เสียง จิตรกรชื่อดังชาวไถหนาน) ก็จะพบว่า อาคารแห่งนี้เก็บรักษาโครงสร้างของห้องโถงบ้านในแบบสถาปัตยกรรมไต้หวันไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ส่วนห้องอื่นๆ ก็ใช้ในการจัดแสดงภาพวาดของอ.หลิวฉี่เสียงในยุคสมัยต่างๆ ตั้งแต่ยุคที่ไปใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ก่อนจะกลับมาพำนักที่เกาสง ในฐานะที่เป็นนักเรียนไต้หวันรุ่นแรกที่เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส อ.หลิวฉี่เสียงไม่เพียงแต่มีผลงานที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติเป็นจำนวนไม่น้อย ในช่วงบั้นปลายของชีวิต ท่านยังได้เปิดสตูดิโอสอนการวาดภาพ และรวบรวมสมัครพรรคพวกร่วมกันก่อตั้งสมาคมศิลปะแห่งภาคใต้ขึ้น ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นที่รู้จักในวงการวิจิตรศิลป์ในชื่อว่า “หนานปู้จั่น (Southern Exhibition)”

 

เมื่อมีตำนานเล่าขาน ก็มีร่องรอยแห่งวันวาน ว่าคงอยู่

เราเร่งฝีเท้าให้เร็วขึ้น เพื่อมุ่งหน้าไปยังแถบหนิวซวีในเขตซ่านฮั่ว เพื่อให้ทันไปดื่มซุปเนื้อวัวรสชาติดั้งเดิมของที่นี่ก่อนตลาดปิด และหลังผ่านไปหนึ่งชั่วโมงกว่าๆ ก็ไปถึงจุดหมายจนได้

ด้านหน้าของแผงเนื้อวัว 258 มีคนเข้าคิวยาวรออยู่แล้ว เสียงตะโกนสั่งอาหารดังลั่นสลับไปมา เรารีบจับจองที่นั่ง ก่อนจะสั่งซุปเนื้อวัวร้อนๆ มาชิมหนึ่งชาม เมื่อตักขึ้นมาดูจะเห็นเนื้อวัวอยู่เต็มช้อน ใครจะเชื่อว่าชามนี้ทั้งชามจะมีราคาแค่ 60 เหรียญไต้หวันเท่านั้น

หลังจากอิ่มท้อง เราก็ออกเดินทางจากหนิวซวีผ่านเส้นทางเลี่ยงเมืองไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 178 ก่อนจะขี่จักรยานไปเรื่อยๆ จนถึงโรงผลิตเบียร์ที่ซ่านฮั่ว แล้วเลี้ยวกลับเข้าสู่ทางหลวงหมายเลขไถ 1 จากนั้นอีกประมาณหนึ่งชั่วโมง ก็เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 171 และเข้าสู่บริเวณอ่างเก็บน้ำอูซานโถว

อ่างเก็บน้ำอูซานโถวและคลองชลประทานเจียหนานสร้างขึ้นในยุคที่ญี่ปุ่นปกครองเกาะไต้หวัน ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 10 ปี โดยมีการเจาะภูเขาเพื่อชักน้ำ จนทำให้สามารถหล่อเลี้ยงพื้นที่เพาะปลูกได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 31,250 ไร่ เป็นประมาณ 93,750 ไร่ จนทำให้ที่ราบลุ่มเจียหนานกลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของไต้หวันไปโดยปริยาย

เส้นทางบริเวณอ่างเก็บน้ำอูซานโถวถือเป็นเส้นทางที่มีความชันมากที่สุดในการเดินทางครั้งนี้ของเรา เมื่อเข้าสู่บริเวณอ่างเก็บน้ำแล้ว จะต้องขี่ขึ้นเนินไปอีกระยะหนึ่งจึงจะไปถึงบริเวณตัวเขื่อนของอ่างเก็บน้ำ เมื่อเราขี่จักรยานอยู่บนเขื่อน ด้านหนึ่งจะเป็นสีน้ำเงินสดใสของทะเลสาบ และอีกด้านหนึ่งจะเป็นสีเขียวขจีของทิวป่า รอบๆ ตัวมีแต่ความปลอดโปร่ง เมื่อขี่ไปเรื่อยๆ ก็จะได้ยินเสียงลมที่พัดสวนมา และเมื่อขี่ตรงเข้าไปอีกก็จะเห็นอนุสาวรีย์ของฮัตตะ โยอิจิ วิศวกรชาวญี่ปุ่นที่เป็นผู้ดูแลการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ และที่ด้านหลังก็คือสุสานของฮัตตะ โทโยกิ ซึ่งเป็นภริยาของท่าน

สถานีสุดท้ายของเราคือร้านหนังสือ GJ Taiwan ที่ตั้งอยู่ในตัวเมืองไถหนาน คุณหวังจื่อซั่ว (王子碩) ผู้ก่อตั้งเห็นว่า คนไต้หวันโดยทั่วไปไม่ค่อยรู้จักประวัติศาสตร์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นวีรบุรุษ ศิลปินผู้โดดเด่น รวมไปจนถึงพัฒนาการของอุตสาหกรรม จนเกิดการขาดตอนของความทรงจำ ทำให้เขาตัดสินใจนำเอาวิธีที่สนุกสนานมาใช้ในการผลักดันประวัติศาสตร์ของไต้หวัน

ภายในร้านตกแต่งด้วยหนังสือจำนวนมากที่มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของไต้หวัน โดยเล่มที่โดดเด่นที่สุดน่าจะเป็น “หนังสือภาพสีของไต้หวันเมื่อวันวาน” ซึ่งได้นำเอาภาพถ่ายขาวดำแบบดั้งเดิมมาศึกษา ก่อนจะใส่สีตกแต่งเข้าไป เพื่อให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสได้เห็นภาพของชีวิตในวันวานได้อย่างใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น ซึ่งหลังจากที่หนังสือภาพเล่มนี้ออกวางจำหน่าย ก็ได้กลายมาเป็นหัวข้อที่มีคนกล่าวถึงทางอินเตอร์เน็ตเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว 

“หากคนเราไม่รู้จักสิ่งต่างๆ และเรื่องราวต่างๆ ที่อยู่รอบตัว ก็จะไม่มีความรู้สึกยอมรับหรือเห็นคุณค่าของมัน” คำพูดของหวังจื่อซั่วเปรียบเสมือนเป็นการอรรถาธิบายของทริปการขี่จักรยานท่องไปในประวัติศาสตร์ไต้หวันของเราในครั้งนี้ ซึ่งหากเราไม่ได้มีโอกาสรับรู้ถึงบทบาทและความสำคัญของบรรดาร้านค้าเก่าแก่และร่องรอยของพวกเขาเหล่านั้นในหน้าประวัติศาสตร์แล้ว เราก็จะไม่เข้าใจถึงความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งต่างๆ เหล่านี้เอาไว้

หากคุณอยากทำความเข้าใจกับความงดงามของไต้หวันให้มากยิ่งขึ้น ก็เริ่มขยับสองขาแล้วขี่จักรยานออกเดินทางกันได้เลย เมื่อคุณขี่จักรยานลัดเลาะไปตามถนนในเมืองเล็กๆ ของไต้หวัน หรือขี่เข้าไปในร้านค้าที่คนทั่วไปไม่ค่อยได้ไปเยี่ยมเยือน มันก็เหมือนกับการได้ขี่เข้าไปในตำนานแห่งประวัติศาสตร์ของไต้หวันแล้ว