ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ไต้หวัน - สหรัฐฯ ร่วมจัดการประชุมหารือว่าด้วยการปกครองระบอบประชาธิปไตย ในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ครั้งที่ 4
2024-03-28
New Southbound Policy。ไต้หวัน - สหรัฐฯ ร่วมจัดการประชุมหารือว่าด้วยการปกครองระบอบประชาธิปไตย ในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ครั้งที่ 4 (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
ไต้หวัน - สหรัฐฯ ร่วมจัดการประชุมหารือว่าด้วยการปกครองระบอบประชาธิปไตย ในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ครั้งที่ 4 (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 27 มี.ค. 67
 
การประชุมหารือว่าด้วยการปกครองระบอบประชาธิปไตยในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ครั้งที่ 4 (U.S.-Taiwan Consultations on Democratic Governance in the Indo-Pacific Region) เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ณ กรุงไทเป และเชื่อมกับกรุงวอชิงตัน ดีซี ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมีนายเซี่ยอู่เฉียว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ทำหน้าที่เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไต้หวันเข้าร่วมกล่าวปราศรัย และมีนางหวังเหลียงอวี้ อธิบดีกรมอเมริกาเหนือ ทำหน้าที่เป็นพิธีกร ส่วนเจ้าหน้าที่ฝ่ายสหรัฐฯ มี Ms. Allison Peters รักษาการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการด้านประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและแรงงาน ทำหน้าที่เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาลสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่สำนักงานประสานความร่วมมือกับไต้หวันในฝ่ายกิจการเอเชีย – แปซิฟิก กต.สหรัฐฯ องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) สถาบันอเมริกาในไต้หวัน (AIT/T) กองทุนเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไต้หวัน (Taiwan ICDF) และองค์กรเอกชนที่ต่างก็เข้าร่วมการประชุมผ่านสถานที่จริงและผ่านช่องทางออนไลน์ โดยในระหว่างการประชุม ได้มีการเปิดอภิปรายกันในประเด็นการต่อต้านการแทรกแซงข้อมูลจากประเทศภายนอก (FIMI) การเสริมสร้างหลักการปกครองรูปแบบประชาธิปไตยในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ควบคู่ไปกับการนำเสนอให้เห็นถึงประชาธิปไตยของไต้หวันและความทรหดของภาคประชาสังคม เป็นต้น ตลอดจนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางความร่วมมือระหว่างกันในอนาคตอย่างกว้างขวาง
 
รมช.เซี่ยฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า กลุ่มประเทศเผด็จการมีความประสงค์ที่จะหล่อหลอมสถานการณ์ระหว่างประเทศขึ้นใหม่ด้วยการผนวกรวมเทคโนโลยี AI และเทคโนโลยีเกิดใหม่ เพื่อก่อสงครามจิตวิทยาและการแพร่กระจายข่าวปลอม อันเป็นการบ่อนทำลายความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อระบอบประชาธิปไตย ความท้าทายและภัยคุกคามเหล่านี้ได้กระตุ้นให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยเกิดความตื่นตัวและสามัคคีกัน โดยไต้หวัน - สหรัฐฯ จะมุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างกันในเชิงลึกต่อไป ภายใต้พื้นฐานค่านิยมด้านประชาธิปไตย เสรีภาพและหลักนิติธรรม โดยในอนาคต ไต้หวันยังจะมุ่งมั่นผลักดันกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันต่อไป ทั้งนี้ เพื่อสร้างคุณประโยชน์ในการสรรค์สร้างเสรีภาพ และการเปิดกว้างในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิกให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน