OCAC วันที่ 16 มิ.ย. 63
เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ดร.ถงเจิ้นหยวน ประธานคณะกรรมการกิจการชาวจีนโพ้นทะเล (Overseas Community Affairs Council, OCAC) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าทำงานในสำนักงาน OCAC เป็นวันแรก หลังครบกำหนดกักตัวเพื่อสังเกตอาการ 14 วัน หลังเดินทางกลับมาจากประเทศไทย โดยในวันเดียวกันนี้ ดร.ถงฯ ได้ประกาศเปิดตัว “แพลตฟอร์มการให้บริการทางดิจิทัลสำหรับชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก” ของ OCAC อย่างเป็นทางการ โดยในระหว่างที่ดร.ถงฯ กักตัวอยู่บ้านเป็นเวลา 2 สัปดาห์นั้น ได้เรียกประชุมบรรดาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ รวม 20 กว่ารอบ เพื่อวางเป้าหมายภารกิจที่เป็นรูปธรรมสำหรับชาวจีนโพ้นทะเลในทุกประเทศ / เขตพื้นที่ทั่วโลก รวมถึงวางตารางความคืบหน้าของกิจการชาวจีนโพ้นทะเลในรูปแบบดิจิทัล ดร.ถงฯ แถลงว่า การเปิดใช้แพลตฟอร์มการให้บริการทางดิจิทัลสำหรับชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก ถือเป็นการนำแนวคิด “ระบบชุมสายโทรศัพท์รูปแบบดิจิทัล” มาใช้ในภารกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการชาวจีนโพ้นทะเล ทั้งนี้ เพื่อให้บริการที่หลากหลาย สะดวก และเป็นไปในรูปแบบข้ามประเทศแก่ชาวจีนโพ้นทะเล จึงขอเชิญชวนให้ชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก ติดต่อขอรับบริการกับ OCAC สำนักงานใหญ่ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการชาวจีนโพ้นทะเลที่ประจำการอยู่ในต่างประเทศ ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลดังกล่าว
เพื่อประสานความเชื่อมโยงและเสริมสร้างการให้บริการแก่ชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลกอย่างครอบคลุม OCAC ได้ประยุกต์ใช้คุณสมบัติการเชื่อมโยงการติดต่อระหว่างประเทศแบบไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมของ LINE ผลักดันโครงการ “แพลตฟอร์มการให้บริการทางดิจิทัลสำหรับชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก” ด้วยการจัดตั้งกรุ๊ปไลน์ “สายด่วน OCAC” และสายด่วนของสำนักงาน OCAC ใน 36 ประเทศทั่วโลก ซึ่งนอกจากจะให้บริการช่องทางการติดต่อแบบเรียลไทม์แก่ชาวจีนโพ้นทะเลแล้ว ยังเป็นการยกระดับความสะดวกในการเข้าถึงบริการที่เกี่ยวข้อง อาทิ การขอคำปรึกษา ฟ้องร้อง หรือการเสนอข้อคิดเห็น เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของชาวจีนโพ้นทะเลแล้ว ยังเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลและกลุ่มผู้ประกอบการในประเทศ เสริมสร้างให้เกิดเป็นแพลตฟอร์มที่มีความครอบคลุมในด้านต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการรวบรวมกำลังจากชาวจีนโพ้นทะเลทุกภาคส่วน เพื่อเสริมสร้างให้ไต้หวันแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ตลอดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทยนั้น ดร.ถงฯ ได้เร่งจัดตั้งแพลตฟอร์มและช่องทางการให้บริการรูปแบบดิจิทัล ทั้งในด้านการกงสุล กิจการชาวจีนโพ้นทะเล อุตสาหกรรม เทคโนโลยี การศึกษา การแพทย์ การเกษตร และการท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งได้บังเกิดผลสัมฤทธิ์มากมาย โดยดร.ถงฯ คาดหวังว่าจะนำประสบการณ์ข้างต้นมาเป็นพื้นฐานในการขยายการให้บริการแก่ชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลกต่อไป
ทั้งนี้ โครงการ “แพลตฟอร์มการให้บริการทางดิจิทัลสำหรับชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก” ได้จัดตั้งกรุ๊ปไลน์สายด่วน OCAC และสายด่วนของสำนักงาน OCAC ในต่างประเทศ รวม 37 ช่องทาง โดยในอนาคต OCAC จะใช้ช่องทางการติดต่อเหล่านี้ จัดตั้งแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนในทุกด้าน ซึ่ง “สายด่วน OCAC” ภายใต้รหัส ID : Taiwan-World จะให้บริการคำปรึกษาที่เกี่ยวข้องกับกิจการชาวจีนโพ้นทะเล รวมถึงการรับฟังข้อคิดเห็น และการให้บริการอื่นๆ ส่วนสายด่วนของสำนักงาน OCAC ใน 36 ประเทศทั่วโลก มีหน้าที่ให้บริการคำปรึกษาเกี่ยวกับกิจการชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศ / เขตพื้นที่นั้นๆ รวมถึงการรับฟังข้อคิดเห็น และการให้บริการอื่นๆ ส่วนรหัสไลน์ ID ของทุกประเทศ / เขตพื้นที่ ผู้สนใจสามารถค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ทางการของ OCAC หรือตามลิงก์ด้านล่างนี้ : Contact.Taiwan-World.Net