สำนักข่าว CNA วันที่ 18 มิ.ย. 63
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. มูลนิธิถังไพรซ์ (Tang Prize Foundation) ได้ประกาศรายชื่อของผู้ที่ได้รับรางวัลถังไพรซ์ (Tang Prize) สาขาการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ประจำปี 2020 โดยในปีนี้ Ms. Jane Goodall นักสัตววิทยามานุษยวิทยาและวานรวิทยาชาวอังกฤษ ที่มีชื่อเสียงระดับโลก เป็นผู้ที่คว้ารางวัลถังไพรซ์สาขาการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาครองได้สำเร็จ โดยรางวัลถังไพรซ์เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ให้เห็นถึง การยอมรับต่อความสำเร็จของการวิจัยสิ่งใหม่ ที่สามารถนิยามความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงการอุทิศคุณประโยชน์ในภารกิจการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา โดยหนึ่งในโครงการวิจัยที่มีชื่อเสียงที่สุดของ Goodall คือ การใช้เวลาทั้งหมด 26 ปีในการสัมผัสใกล้ชิดและสังเกตพฤติกรรมทางสังคมของชิมแปนซีป่า ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่ากอมเบสตรีม (Gombe Stream Game Reserve) ของประเทศแทนซาเนียในภูมิภาคแอฟริกา พร้อมทั้งได้ทำการวิจัยในเชิงลึก
มูลนิธิถังไพรซ์ แถลงว่า รายงานการวิจัยของ Ms. Jane Goodall ในปี 1960 ที่เกี่ยวข้องกับการค้นพบเครื่องทุ่นแรงที่ผลิตและใช้งานโดยชิมแปนซี ได้สร้างความตื่นตะลึงให้กับวงการวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก ซึ่งได้ทำลายกรอบความคิดเดิมๆ ที่ว่า มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่สามารถคิดค้นและผลิตอุปกรณ์เครื่องทุ่นแรงมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งผลวิจัยครั้งนี้ถือเป็นการนิยามความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น Mr. Stephen Jay Gould นักบรรพชีวินวิทยาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แสดงความคิดเห็นว่า ผลการวิจัยจากการสังเกตการณ์ในภาคสนามครั้งนั้น ถือเป็น 1 ในผลงานทางวิชาการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20
มูลนิธิถังไพรซ์ ชี้แจงว่า เมื่อปี 1977 Ms. Jane Goodall ได้ก่อตั้งสถาบันเจน กูดดอลล์ (Jane Goodall Institute, JGI) ขึ้น เพื่อผลักดันภารกิจการอนุรักษ์สัตว์ป่าสงวนของโลกและทำการศึกษาด้านสภาพแวดล้อม Ms. Goodall ได้ทำความเข้าใจถึงภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่และถิ่นที่อยู่อาศัยของชิมแปนซี จึงได้เร่งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานพื้นที่ในชุมชน โดยสถาบัน JGI จะให้เงินอุดหนุนแก่ความต้องการที่หน่วยงานในพื้นที่ชุมชนนั้นๆ เสนอมา ขณะเดียวกัน ก็ได้มุ่งมั่นในภารกิจการอนุรักษ์สัตว์วงศ์ลิงใหญ่ ซึ่งรายละเอียดของภารกิจดังกล่าว ประกอบด้วย การสอนให้ชุมชนรู้จักการทำการเกษตรแบบยั่งยืน รวมทั้งให้ความสนับสนุนด้านโครงสร้างทางสาธารณสุขและสร้างเสริมโอกาสทางการศึกษา
ปัจจุบันนี้ สถาบัน JGI ได้จัดตั้งสำนักงานย่อยขึ้นใน 30 แห่งทั่วโลก โดยในจำนวนนี้ มีสำนักงานที่จัดตั้งขึ้นในไต้หวันด้วย