ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
OIE อนุมัติให้ไต้หวันเป็นประเทศปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบคู่
2020-06-18
New Southbound Policy。เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 17 มิ.ย. คกก.การเกษตรจัดงานแถลงข่าว โดยมีนายเฉินจี๋จ้ง ประธาน คกก.การเกษตรเป็นประธาน พร้อมกล่าวชี้แจงถึงการพิจารณาและลงมติของ OIE ที่รับรองให้ทุกเขตพื้นที่ในไต้หวัน เกาะเผิงหูและมาจู่ ไม่รวมเกาะจินเหมิน เป็นเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบคู่ โดยไม่ต้องพึ่งวัคซีน (ภาพจาก CNA)
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 17 มิ.ย. คกก.การเกษตรจัดงานแถลงข่าว โดยมีนายเฉินจี๋จ้ง ประธาน คกก.การเกษตรเป็นประธาน พร้อมกล่าวชี้แจงถึงการพิจารณาและลงมติของ OIE ที่รับรองให้ทุกเขตพื้นที่ในไต้หวัน เกาะเผิงหูและมาจู่ ไม่รวมเกาะจินเหมิน เป็นเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบคู่ โดยไม่ต้องพึ่งวัคซีน (ภาพจาก CNA)

คกก.การเกษตร วันที่ 17 มิ.ย. 63

 

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. คณะกรรมการการเกษตร สภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (Office International des Epizooties, OIE) ได้ให้การรับรองว่า ทุกเขตพื้นที่ในไต้หวัน เกาะเผิงหูและมาจู่ เป็นเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบคู่ โดยไม่ต้องพึ่งวัคซีน ซึ่งถือเป็นหลักชัยที่สำคัญในการมุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจป้องกันโรคระบาดสัตว์ มาเป็นเวลากว่า 23 ปี นับตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา ที่ไต้หวันถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบคู่ ผลสัมฤทธิ์ดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือของภาครัฐและภาคประชาชนทุกคน และเป็นผลสัมฤทธิ์ที่ได้มาไม่ง่ายเลย


 

OIE เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทในการกำหนดมาตรฐานด้านสุขภาพของสัตว์โลก ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกรวม 182 ประเทศ ซึ่งไต้หวันนับรวมอยู่ในจำนวนดังกล่าวนี้ด้วย ในเดือนพฤษภาคมของทุกปี ไต้หวันจะส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสมัชชาประจำปีซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พร้อมทั้งผลักดันความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนในกิจการต่างๆ ของ OIE กับประเทศสมาชิกอย่างกระตือรือร้น


 

ต่อกรณีการยื่นขออนุมัติต่อ OIE ในการรับรองให้ทุกเขตพื้นที่ในไต้หวัน เกาะเผิงหูและมาจู่เป็นเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบคู่ โดยไม่มีการฉีดวัคซีน เดิมทีมีกำหนดการพิจารณาและลงมติในที่ประชุมสมัชชา ครั้งที่ 88 แต่เนื่องจากในขณะนี้ ทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) การประชุมดังกล่าวจึงจำเป็นต้องเลื่อนไปจัดขึ้นในปีหน้า ส่วนประเด็นสำคัญจะทำการลงมติผ่านทางออนไลน์ เพื่อคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพในการบริหารภารกิจขั้นพื้นฐานต่อไป


 

เพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ของการป้องกันโรคระบาดสัตว์ของไต้หวัน เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนชาวไต้หวันตามกำหนดการของปีนี้ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ไต้หวันได้ทำการเจรจากับ OIE แล้ว ได้รับอนุมัติให้กรณีข้างต้นเข้าสู่กระบวนการพิจารณารับรอง รอบพิเศษ (Adapted Procedure) โดยตัวแทนของทุกประเทศสมาชิกได้ร่วมลงมติ และในวันที่ 16 มิ.ย. OIE แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ไต้หวันว่า ทุกเขตพื้นที่ในไต้หวัน รวมถึงเกาะเผิงหูและมาจู่ ได้รับอนุมัติให้เป็นเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบคู่ โดยไม่มีการฉีดวัคซีน พร้อมประกาศลงในเว็บไซต์ทางการของ OIE และมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป และจะจัดพิธีมอบหนังสือรับรองอย่างยิ่งใหญ่และสมเกียรติ ในการประชุมประจำปีของ OIE ในปีหน้า


 

คกก.การเกษตรฯ ชี้แจงว่า หลังจากปี 1997 ที่ไต้หวันถูกจัดเป็นประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบคู่ ส่งผลกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมไต้หวันอย่างรุนแรง สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าสูงถึง 170,000 ล้านเหรียญไต้หวัน อีกทั้งยังถูกปิดช่องทางการส่งออกเนื้อสุกรไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ในเดือนมิถุนายน ปี 2016 สภาบริหารไต้หวันได้กำชับให้ คกก.การเกษตรเร่งหาหนทางแก้ไขวิกฤตนี้โดยเร็ว โดยกำหนดเป้าหมายหลักคือ ทำให้ไต้หวันเข้าสู่รายชื่อการเป็นประเทศปลอดโรคระบาดโดยเร็ว เมื่อได้รับมอบหมายแล้ว คกก.การเกษตรฯ ได้เร่งผนึกกำลังของภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ ภาควิชาการและการวิจัย ในการร่วมวางแผนและดำเนินการตามโครงการแก้ไขปัญหาอย่างไม่รีรอ


 

คกก.การเกษตรแถลงเพิ่มเติมว่า โรคปากและเท้าเปื่อยเป็นโรคระบาดรุนแรง ที่มักเกิดกับสัตว์กีบคู่อย่างวัวและสุกร ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยในการผลิตของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ในประเทศ การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคนอกจากจะเป็นการเพิ่มต้นทุนในการเลี้ยงสุกรแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการส่งออกเนื้อสุกรไปจำหน่ายยังตลาดการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย ขณะนี้ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสุกรของไต้หวันสามารถส่งออกไปจำหน่ายยังสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และมาเก๊าได้แล้ว โดยในอนาคต ภาครัฐมีแผนการที่จะยื่นขออนุมัติการส่งออกเนื้อสุกรสด ไปจำหน่ายยังต่างประเทศต่อไป


 

ความกดดันของไต้หวันที่มาจากโลกภายนอกไม่เคยสิ้นสุดลง โรคปากและเท้าเปื่อยนับเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวดแสนสาหัส และเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ที่ฝังใจแก่ทุกภาคส่วน ด้วยเหตุนี้ เมื่อเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever, ASF) ไต้หวันจึงได้ออกมาตรการป้องกันโรคระบาดแบบล่วงหน้าโดยทันที เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ ASFอย่างเข้มงวด ในปัจจุบันมี 12 ประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ประสบกับการแพร่ระบาดของ ASF ขณะที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก มีเพียงไต้หวันและญี่ปุ่นเท่านั้น ที่ยังไม่พบการแพร่ระบาดของ ASF ภายในประเทศ โดยในอนาคต คกก.การเกษตรฯ จะเร่งประสานความร่วมมือกับทุกแวดวงเพื่อเสริมสร้างมาตรการตรวจสอบที่รัดกุมต่อไป เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นต้นแบบของประเทศปลอดโรคระบาด ASF และรักษาไว้ซึ่งผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาดสัตว์ที่ได้มาไม่ง่าย ตลอดจนเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัย วางใจ และความผาสุกให้เกิดแก่ประชาชนชาวไต้หวันสืบไป