ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
Jane Goodall คว้ารางวัลถังไพรซ์สาขาการพัฒนาอย่างยั่งยืน
2020-06-19
New Southbound Policy。เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. มูลนิธิถังไพรซ์ได้จัดงานแถลงข่าวขึ้นที่กรุงไทเป โดยมีนายหวังเป่าก้วน (ในภาพ) ผู้อำนวยการสภาวิจัยแห่งชาติไต้หวัน (Academia Sinica) รับหน้าที่ทำการบรรยายเกี่ยวกับความสำเร็จของงานวิจัยและการอุทิศตนเพื่อประชาคมโลกของ Ms. Jane Goodall ซึ่งเป็นผู้คว้ารางวัลถังไพรซ์สาขาการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประจำปี 2020 มาครอง (ภาพจาก CNA)
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. มูลนิธิถังไพรซ์ได้จัดงานแถลงข่าวขึ้นที่กรุงไทเป โดยมีนายหวังเป่าก้วน (ในภาพ) ผู้อำนวยการสภาวิจัยแห่งชาติไต้หวัน (Academia Sinica) รับหน้าที่ทำการบรรยายเกี่ยวกับความสำเร็จของงานวิจัยและการอุทิศตนเพื่อประชาคมโลกของ Ms. Jane Goodall ซึ่งเป็นผู้คว้ารางวัลถังไพรซ์สาขาการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประจำปี 2020 มาครอง (ภาพจาก CNA)

สำนักข่าว CNA วันที่ 18 มิ.ย. 63

 

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. มูลนิธิถังไพรซ์ (Tang Prize Foundation) ได้ประกาศรายชื่อของผู้ที่ได้รับรางวัลถังไพรซ์ (Tang Prize) สาขาการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ประจำปี 2020 โดยในปีนี้ Ms. Jane Goodall นักสัตววิทยามานุษยวิทยาและวานรวิทยาชาวอังกฤษ ที่มีชื่อเสียงระดับโลก เป็นผู้ที่คว้ารางวัลถังไพรซ์สาขาการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาครองได้สำเร็จ โดยรางวัลถังไพรซ์เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ให้เห็นถึง การยอมรับต่อความสำเร็จของการวิจัยสิ่งใหม่ ที่สามารถนิยามความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงการอุทิศคุณประโยชน์ในภารกิจการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา โดยหนึ่งในโครงการวิจัยที่มีชื่อเสียงที่สุดของ Goodall คือ การใช้เวลาทั้งหมด 26 ปีในการสัมผัสใกล้ชิดและสังเกตพฤติกรรมทางสังคมของชิมแปนซีป่า ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่ากอมเบสตรีม (Gombe Stream Game Reserve) ของประเทศแทนซาเนียในภูมิภาคแอฟริกา พร้อมทั้งได้ทำการวิจัยในเชิงลึก


 

มูลนิธิถังไพรซ์ แถลงว่า รายงานการวิจัยของ Ms. Jane Goodall ในปี 1960 ที่เกี่ยวข้องกับการค้นพบเครื่องทุ่นแรงที่ผลิตและใช้งานโดยชิมแปนซี ได้สร้างความตื่นตะลึงให้กับวงการวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก ซึ่งได้ทำลายกรอบความคิดเดิมๆ ที่ว่า มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่สามารถคิดค้นและผลิตอุปกรณ์เครื่องทุ่นแรงมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งผลวิจัยครั้งนี้ถือเป็นการนิยามความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น Mr. Stephen Jay Gould นักบรรพชีวินวิทยาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แสดงความคิดเห็นว่า ผลการวิจัยจากการสังเกตการณ์ในภาคสนามครั้งนั้น ถือเป็น 1 ในผลงานทางวิชาการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20


 

มูลนิธิถังไพรซ์ ชี้แจงว่า เมื่อปี 1977 Ms. Jane Goodall ได้ก่อตั้งสถาบันเจน กูดดอลล์ (Jane Goodall Institute, JGI) ขึ้น เพื่อผลักดันภารกิจการอนุรักษ์สัตว์ป่าสงวนของโลกและทำการศึกษาด้านสภาพแวดล้อม Ms. Goodall ได้ทำความเข้าใจถึงภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่และถิ่นที่อยู่อาศัยของชิมแปนซี จึงได้เร่งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานพื้นที่ในชุมชน โดยสถาบัน JGI จะให้เงินอุดหนุนแก่ความต้องการที่หน่วยงานในพื้นที่ชุมชนนั้นๆ เสนอมา ขณะเดียวกัน ก็ได้มุ่งมั่นในภารกิจการอนุรักษ์สัตว์วงศ์ลิงใหญ่ ซึ่งรายละเอียดของภารกิจดังกล่าว ประกอบด้วย การสอนให้ชุมชนรู้จักการทำการเกษตรแบบยั่งยืน รวมทั้งให้ความสนับสนุนด้านโครงสร้างทางสาธารณสุขและสร้างเสริมโอกาสทางการศึกษา


 

ปัจจุบันนี้ สถาบัน JGI ได้จัดตั้งสำนักงานย่อยขึ้นใน 30 แห่งทั่วโลก โดยในจำนวนนี้ มีสำนักงานที่จัดตั้งขึ้นในไต้หวันด้วย