OCAC วันที่ 20 มิ.ย. 63
เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายจางฟงหาว คณะกรรมการที่ปรึกษากิจการชาวจีนโพ้นทะเลประจำประเทศไทย ได้นำผู้นำชาวจีนโพ้นทะเลในไทย เดินทางมาเยี่ยมเยือนคณะกรรมการกิจการชาวจีนโพ้นทะเล (Overseas Community Affairs Council, OCAC) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) โดยมีดร.ถงเจิ้นหยวน ประธาน OCAC และนางสวีเจียชิง รองประธาน OCAC ให้การต้อนรับด้วยตนเอง นี่เป็นครั้งแรกที่ดร.ถงฯ ให้การต้อนรับกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเล หลังจากที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งประธาน OCAC ในช่วงที่ผ่านมา โดยนอกจากดร.ถงฯ จะทำความเข้าใจกับความต้องการด้านเวชภัณฑ์การป้องกันโรคระบาด และการเตรียมพร้อมเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายหลังสถานการณ์โควิด – 19 ของบรรดานักธุรกิจไต้หวันในต่างประเทศแล้ว ยังได้กล่าวชี้แจงผู้ประกอบการได้ให้ทราบถึง เป้าหมายในภารกิจของคณะกรรมการกิจการชาวจีนโพ้นทะเลอีกด้วย
ดร.ถงฯ กล่าวขอบคุณบรรดาผู้ประกอบการชาวไต้หวันและชาวจีนโพ้นทะเลในทุกประเทศทั่วโลกที่ได้ร่วมสละเวลาอันมีค่า เดินทางมาเยี่ยมเยือน OCAC โดยดร.ถงฯ ให้คำมั่นว่าจะใช้ประสบการณ์การให้บริการในไทย มาเป็นพื้นฐานในการขยายการให้บริการแก่ผู้ประกอบการไต้หวันในทั่วโลก ดร.ถงฯ ชี้แจงว่า ผลสัมฤทธิ์ด้านความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนระหว่างไต้หวัน – ไทย ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ตนประจำการที่ไทย ไม่ว่าจะในด้านการท่องเที่ยว การศึกษา หรือการลงทุน ล้วนบังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดีเยี่ยม โดยเฉพาะด้านการลงทุน ในปี 2019 มูลค่าเงินลงทุนของนักลงทุนชาวไทยที่ได้รับอนุมัติให้เข้ามาลงทุนในไต้หวัน รวมเป็นจำนวนกว่า 70.73 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ทุบทำลายสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งตลอด 3 ปีทีผ่านมา มูลค่าการลงทุนในไต้หวันของนักลงทุนชาวไทยครองสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา โดยในอนาคตดร.ถงฯ จะผนึกกำลังของนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลในต่างประเทศ ให้รวมเป็นปึกแผ่น พร้อมดูแลผู้ประกอบการชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลกอย่างเต็มที่ เพื่อการบรรลุเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ดร.ถงฯ ชี้แจงว่า เป้าหมายระยะสั้นของ OCAC แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังต่อไปนี้ ส่วนแรกคือการเปิดใช้แพลตฟอร์มการให้บริการทางดิจิทัลสำหรับชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก ส่วนที่ 2 คือการรวบรวมจัดตั้ง 9 แพลตฟอร์มที่มีกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน อาทิ แพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนระหว่างตัวแทนชาวจีนโพ้นทะเลกิตติมศักดิ์ทั่วโลก แพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนระหว่างสมาคมนักธุรกิจไต้หวันในต่างประเทศทั่วโลก แพลตฟอร์มการให้บริการด้านการศึกษาและการเปิดรับสมัครนักศึกษาต่างชาติทั่วโลก เป็นต้น และส่วนสุดท้าย คือการจัดตั้งแพลตฟอร์มการเรียนรู้ทางดิจิทัลสำหรับชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก บัตรชาวจีนโพ้นทะเล 2.0 ในรูปแบบดิจิทัล และการผลักดันการให้บริการทางการแพทย์แก่ชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการประเมินและวางแผน
นายจางฯ กล่าวขอบคุณที่ประธาน OCAC ได้ให้การสนับสนุนนักธุรกิจไต้หวันและชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลกมาเป็นเวลานาน พร้อมชี้แจงว่า ขณะนี้นักธุรกิจไต้หวันและชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้อย่างอิสระ จึงส่งผลให้เกิดวิกฤตในการบริหารกิจการ นอกจากนี้ ยังมีผู้นำชาวจีนโพ้นทะเลกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดล่าสุดของประเทศที่พำนักอยู่ รวมไปถึงความต้องการทางเวชภัณฑ์ในการป้องกันโรคระบาด อาทิ หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ และชุดป้องกันส่วนบุคคล
สำหรับประเด็นนี้ รองประธานสวีฯ กล่าวว่า ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้ความใส่ใจกับความต้องการของมิตรสหายชาวไต้หวันและชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลกเป็นอย่างมาก โดยศูนย์บัญชาการกลางป้องกันโรคระบาด (Central Epidemic Command Center, CECC) ของไต้หวัน มีกำหนดการเปิดประเทศให้กับนักธุรกิจในประเทศ / เขตพื้นที่ ที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงระดับต่ำ – ปานกลาง ที่ประสงค์จะเดินทางมาไต้หวันในระยะสั้น สามารถยื่นขออนุมัติลดระยะเวลาในการกักกันตัวเอง ภายใต้เงื่อนไขที่ทางการไต้หวันได้กำหนดไว้ นับตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย. เป็นต้นไป เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจการค้า ให้กับเหล่านักธุรกิจไต้หวันและชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลกได้ไม่น้อย นอกจากนี้ สำหรับความต้องการด้านเวชภัณฑ์การป้องกันโรคระบาด นางสวีฯ กล่าวว่า OCAC ได้ให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลและสมาคมนักธุรกิจในต่างแดน จัดส่งหน้ากากอนามัยเพื่อการกุศล ซึ่งขณะนี้ได้ทยอยจัดส่งตามข้อมูลการจัดซื้อที่ได้รับในช่วงก่อนหน้านี้