MOFA วันที่ 13 ส.ค. 63
เมื่อวันที่ 12 ส.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์กับ Ms. Paula Hancocks ผู้สื่อข่าวของ CNN ที่ประจำอยู่ในกรุงโซล โดยหัวข้อสำคัญในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ ครอบคลุมถึงประเด็นที่เกี่ยวกับการนำคณะตัวแทนมาเยือนไต้หวันของ Mr. Alex Azar II รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ของสหรัฐฯ การข่มขู่ไต้หวันด้วยกำลังทางทหารของจีน สถานการณ์ในฮ่องกง และผลกระทบจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่อาจเกิดขึ้นต่อความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ เป็นต้น
ในช่วงแรก Ms. Paula Hancocks ได้สัมภาษณ์ในประเด็นเกี่ยวกับการเดินทางเยือนไต้หวันของ Mr. Alex รมว.กระทรวงสุขภาพฯ ของสหรัฐฯ ซึ่งรมว.อู๋ฯ กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่สหรัฐฯได้ส่งผ่านข้อความที่เป็นมิตรต่อไต้หวันอย่างชัดเจน นั่นก็คือการแสดงให้เห็นถึงพลังสนับสนุนอันหนักแน่นที่รัฐบาลสหรัฐฯ มีต่อไต้หวัน รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ถือเป็นพันธมิตรทางความร่วมมือที่มีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างกัน รัฐบาลสหรัฐฯ เข้าใจถึงสถานการณ์ความลำบากของไต้หวันที่ต้องตกอยู่ภายใต้การถูกคุกคามจากจีนทั้งในด้านการต่างประเทศและการทหาร การที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเต็มที่ มิใช่เนื่องจากความสำเร็จของไต้หวันในด้านการป้องกันโรคระบาดเพียงอย่างเดียว หากแต่สหรัฐฯ ยังต้องการสร้างความร่วมมือเชิงลึกกับไต้หวันในด้านต่างๆ อาทิ สาธารณสุข การค้าและเศรษฐกิจ ความมั่นคง และวัฒนธรรม เป็นต้น อีกด้วยเช่นกัน
ต่อประเด็นการซ้อมรบทางทหารของจีนที่ผู้สื่อข่าวได้ถามถึง สถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคนับวันยิ่งตึงเครียดมากขึ้น รมว.อู๋ฯ ระบุว่า ปัจจุบันสถานการณ์ต่างๆ ในภูมิภาคได้รับความสนใจจากประชาคมโลกเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เป็นผลอันเนื่องมาจากการรุกรานจากรัฐบาลจีนที่้มีต่อประเทศต่างๆ ในภูมิภาค อาทิ รัฐบาลจีนมักส่งเรือรบแล่นผ่านช่องแคบไต้หวัน และส่งเครื่องบินรบบินล้ำเส้นกึ่งกลางช่องแคบไต้หวันอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นก็ได้แสดงความไม่พอใจต่อการที่จีนส่งเรือรบเข้าลาดตระเวณในเขตแดนพิพาทในน่านน้ำทะเลจีนตะวันออก ส่งผลให้สถานการณ์ในทะเลจีนตะวันออกยิ่งทวีความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น ส่วนสถานการณ์ในฮ่องกงอย่าง “การประท้วงต่อต้านกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่จีน” และ “กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติสำหรับฮ่องกง” ต่างเป็นที่จับตามองของประชาคมโลก โดยมีหลายประเทศยื่นมือเข้าช่วยแล้ว นอกจากนี้ การที่จีนเร่งขยายแสนยานุภาพทางทหารในทะเลจีนใต้อย่างเต็มกำลัง ถือเป็นการสร้างความกดดันให้กับภูมิภาคเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ อีกทั้งในส่วนของปัญหาด้านพรมแดนระหว่างอินเดีย – จีน ได้ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางการทหารระหว่างจีน – อินเดียด้วย กล่าวโดยสรุป พฤติกรรมของจีนจึงถือเป็นการสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในภูมิภาค และเป็นสิ่งที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก
Ms. Hancocks ยังได้ถามต่อว่า ไต้หวันกังวลหรือไม่ที่จะกลายเป็นฮ่องกงแห่งที่ 2 รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า ขณะที่จีนเผชิญหน้ากับวิกฤตภายในประเทศ รัฐบาลจีนได้มุ่งแสวงหา “แพะรับบาป” จากภายนอก ด้วยเหตุนี้ จึงได้เร่งดันหลักการ “1 ประเทศ 2 ระบบ” เพื่อทำให้ไต้หวันกลายเป็นฮ่องกงแห่งที่ 2 โดยหวังจะใช้วิกฤตการเมืองภายนอกมากลบเกลื่อนความไม่พึงพอใจของประชาชนภายในประเทศ และเพื่อป้องกันตัวเองจากการรุกรานหรือการข่มขู่จากจีน ไต้หวันจึงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบในการจัดการกับความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบต่อไป