ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ลดขยะได้ด้วยการออกแบบแนวใหม่ ศักยภาพอันมหาศาลของเศรษฐกิจหมุนเวียนในไต้หวัน
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2020-10-12

ENRESTEC เป็นบริษัทเดียวในโลกที่ประสบความสำเร็จในการใช้สารเคมีมาทำให้เกิดการสลายตัวของยางรถยนต์ใช้แล้ว

ENRESTEC เป็นบริษัทเดียวในโลกที่ประสบความสำเร็จในการใช้สารเคมีมาทำให้เกิดการสลายตัวของยางรถยนต์ใช้แล้ว
 

เมื่อปีค.ศ.2016 ไต้หวันได้รับการยกย่องจากหนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลของสหรัฐอเมริกาว่าเป็น “อัจฉริยะแห่งการรีไซเคิลขยะ” ในปีถัดมารัฐบาลชุดใหม่ที่เพิ่งขึ้นบริหารประเทศได้ประกาศให้ไต้หวันเข้าสู่ “ยุคแห่งเศรษฐกิจหมุนเวียน” ขณะเดียวกันได้จัดให้เป็นหนึ่งในเป้าหมายของ “แผนอุตสาหกรรมนวัตกรรม 5+2” (5+2 industrial innovation plan) ส่งผลให้ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” กลายเป็นคำที่มีคนค้นหามากที่สุดในชั่วพริบตา แต่ยังมีคนจำนวนมากเข้าใจผิด คิดว่าคำๆ นี้มีความหมายเดียวกับคำว่า “รีไซเคิล” ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว “เศรษฐกิจหมุนเวียน” มีความหมายกว้างกว่าคำว่ารีไซเคิลและเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมทุกประเภท อีกทั้งเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่สามารถนำพาไต้หวันก้าวข้ามขีดจำกัดในการเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตสินค้า (OEM) ได้อีกด้วย

 

หากจะอธิบายความหมายของ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ด้วยประโยคง่ายๆ เพียงประโยคเดียว ก็น่าจะหมายถึง การใคร่ครวญว่า “ทำอย่างไรจึงจะไม่สร้างขยะขึ้นมา” ซึ่งตรงกันข้ามกับโมเดลธุรกิจในปัจจุบันที่เป็นลักษณะของเศรษฐกิจเส้นตรง (Linear Economy) อันประกอบด้วย 3 ขั้นตอนคือ นำมาใช้ ผลิต และทิ้ง (Take-Make-Dispose) โดยการนำมาใช้ (Take) หรือการดึงทรัพยากรจำนวนมหาศาลมาใช้ ก่อนจะนำมาผ่านกระบวนการผลิต (Make) จากนั้นขายให้ลูกค้านำไปบริโภคหรือใช้งาน และเมื่อผลิตภัณฑ์หมดประโยชน์ก็จะถูกนำไปทิ้ง (Dispose) ทรัพยากรที่มีคุณค่ากลายสภาพเป็นขยะและเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อยุติชะตากรรมของผลิตภัณฑ์ “จากอู่สู่สุสาน” (Cradle to Grave) ซึ่งหมายถึงเริ่มต้นด้วยการตักตวงทรัพยากรจากแหล่งกำเนิด (Cradle) แล้วไปจบที่สุสานกลายเป็นขยะกองโต (Grave) รวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความเคยชินในการผลิตสินค้าของผู้ประกอบการและการจับจ่ายของผู้บริโภค ภาคประชาชนในไต้หวันได้ร่วมกันสร้างกระแสและมุ่งมั่นผลักดันให้ไต้หวันกลายเป็น “เกาะแห่งการหมุนเวียนทรัพยากร” ในอนาคตโดยอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้กันโดยถ้วนหน้า

 

การออกแบบผลิตภัณฑ์จากอู่สู่อู่

การออกแบบผลิตภัณฑ์ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนถูกนำมาหารือกันในเวทีระหว่างประเทศเป็นครั้งแรก สืบเนื่องมาจาก Prof. Michael Braungart นักเคมีชาวเยอรมัน และ William McDonough สถาปนิกชาวอเมริกัน ได้เสนอแนวคิดเรื่อง การออกแบบผลิตภัณฑ์ “จากอู่สู่อู่” (Cradle to Cradle หรือ C2C) ซึ่งเห็นว่า ก่อนทำการผลิตควรต้องมีการออกแบบวงจรชีวิตของสินค้าโดยต้องคำนึงถึงแนวทางการแปรรูปสินค้าที่เมื่อเสร็จสิ้นการใช้งานแล้ว จะยังคงสามารถนำกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตใหม่หรือถูกปล่อยให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยคืนสู่ธรรมชาติ (Make-Use-Return)

Prof. Michael Braungart ได้ก่อตั้งบริษัท Environmental Protection Encouragement Agency (EPEA) ในประเทศเยอรมนี เมื่อปีค.ศ.1987 ต่อมาได้ขยายสาขาไปยังเนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ตุรกี และบราซิล และได้ตั้งสาขาในภูมิภาคเอเชียแห่งแรกที่ไต้หวันเมื่อปี 2010 โดยได้ร่วมกับทบวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของไต้หวันในการผลักดันจนนำไปสู่การจัดตั้ง “พันธมิตรเชิงกลยุทธ์จากอู่สู่อู่แห่งไต้หวัน” (Taiwan Cradle to Cradle Strategic Alliance, C2C Taiwan) เมื่อปีค.ศ.2012 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด C2C ให้แก่ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของ C2C Taiwan ตลอดจนผลักดันให้มีการนำเอาแนวคิดดังกล่าวไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต

ตัวอย่างสมาชิก C2C Taiwan ที่ประสบความสำเร็จคือ Nan Tai Color Printing กับ Melchers Taiwan ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Melchers Group จากเยอรมนี คุณหวงจวิ้นจาง (黃俊彰) ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของ Melchers Taiwan เปิดเผยว่า น้ำมันถั่วเหลืองที่ดูเหมือนจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ในความเป็นจริงแล้วมีส่วนผสมของน้ำมันแร่ ซึ่งนอกจากไม่เป็นผลดีต่อการรีไซเคิลกระดาษแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพของพนักงานในอุตสาหกรรมการพิมพ์ด้วย แต่หมึกพิมพ์ HUBER ที่ Melchers Taiwan เป็นตัวแทนจำหน่าย เป็นหมึกพิมพ์ที่ผลิตจากน้ำมันพืชร้อยเปอร์เซ็นต์ ตรงตามมาตรฐานการรับรองของ C2C ไม่ต้องกังวลว่าจะก่อให้เกิดปัญหาต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และหลังจากที่ Nan Tai Color Printing ได้รู้จักผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จึงเริ่มปรับปรุงเทคนิคด้านการพิมพ์ ด้วยการหันมาใช้หมึกพิมพ์ HUBER แทนหมึกพิมพ์ที่ผลิตจากน้ำมันถั่วเหลือง เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายตามแนวคิดขยะเป็นศูนย์

 

นิยามใหม่ ดีไซน์ใหม่
ออกแบบตามความต้องการ

“การแปรรูปวัสดุเหลือทิ้งให้กลับมาเป็นวัสดุใหม่เพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้า คือจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจหมุนเวียน” คุณหวง
อวี้เจิง (黃育徵) ประธานมูลนิธิ Taiwan Circular Economy Network กล่าวอย่างหนักแน่นและอธิบายต่อว่า เมื่อก่อนจะพูดถึงแนวคิด 3R (3Rs: Reduce, Reuse, Recycle) ซึ่งก็คือ การลดการใช้ (Reduce) การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นแนวคิด 2R (2Rs: Redefine, Redesign) ที่หมายถึง การให้นิยามใหม่ (Redefine) และการออกแบบใหม่ (Redesign)

 “ความจริงเราต้องการแค่ลมเย็นๆ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซื้อเครื่องปรับอากาศกันบ่อยๆ” คุณหวงอวี้เจิงชี้ให้เห็นถึงความเข้าใจผิดของผู้บริโภคในปัจจุบัน และยังย้ำว่า เมื่อผู้บริโภคให้นิยามความต้องการใหม่ ผู้ประกอบการก็จะต้องปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจและออกแบบสินค้าใหม่ จากเดิมที่เมื่อสินค้าเก่าชำรุดก็จะโละทิ้งไป เปลี่ยนมาเป็น “การให้บริการแก่ผู้บริโภค” และออกแบบสินค้าให้มีอายุใช้งานยืนยาวขึ้น แหล่งกำไรของผู้ประกอบการเปลี่ยนมาเป็นรายได้จากการซ่อมบำรุงตามกำหนดเวลา ซึ่งสามารถลดปริมาณขยะลงได้มาก

“ผมให้บริการแก่คุณ คุณเป็นลูกค้าผมตลอดชีวิต” ในอนาคตผลิตภัณฑ์ที่มีบริการหลังการจำหน่ายไม่เพียงทำให้ปริมาณขยะลดลง แต่ยังช่วยตอบโจทย์ความต้องการรักษาฐานผู้บริโภคให้แก่แบรนด์สินค้าอีกด้วย แท้ที่จริงแล้วในชีวิตประจำวันมีผลิตภัณฑ์มากมายเหลือคณานับที่ต้องให้นิยามใหม่ คุณหวงอวี้เจิงยกตัวอย่างโดยไม่ต้องเปลืองเวลาคิดว่า “คุณเคยถูกกระดาษบาดใช่ไหม? มีดโกนหนวดที่ทำจากกระดาษใช้แล้วก็สามารถโยนทิ้งได้ทันที มันจะย่อยสลายได้เองในธรรมชาติ” คุณหวงอวี้เจิงแบ่งปันแนวคิดการออกแบบเพื่อการหมุนเวียน (Circular design) ที่ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนแปรเปลี่ยนไปอย่างตื่นเต้น

คุณหวงอวี้เจิงซึ่งเคยร่วมการประชุมสัมมนาระดับนานาชาติมาหลายเวทีแสดงความเห็นว่า “ความจริงไต้หวันมีโอกาสที่จะกลายเป็นผู้นำในวงการนี้ (เศรษฐกิจหมุนเวียน)” พร้อมขยายความว่า จุดอ่อนของไต้หวันในอดีตได้กลายมาเป็นจุดแข็งในปัจจุบัน จากการที่ไต้หวันสวมบทบาทผู้รับจ้างผลิตสินค้ามาเป็นเวลายาวนาน สั่งสมประสบการณ์เรื่อยมาจนกลายเป็นศักยภาพด้านการผลิตที่แข็งแกร่ง ซึ่งประเทศในยุโรปไม่มีทางตามทัน และในความเป็นจริงก็มีประเทศในยุโรปที่ต้องการเลียนแบบการต่อยอดแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนของไต้หวัน

“ในที่สุดแล้วไต้หวันต้องก้าวไปสู่เส้นทางของเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างแน่นอน เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง” คุณหวงอวี้เจิงยังเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมของไต้หวันเน้นการรับจ้างผลิตเป็นหลัก แต่กลับอาศัยการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศแทบทั้งหมด ภายใต้ภาวการณ์เช่นนี้ จึงควรปรับเปลี่ยนเป้าหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจ ไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนที่เน้นการออกแบบเป็นหลักมากกว่า

 

REnato lab : ห้องปฏิบัติการเศรษฐกิจหมุนเวียน

การผงาดขึ้นของแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนนำไปสู่การก่อกำเนิดขึ้นของบริษัทที่ปรึกษาที่คอยให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจในการนำเอาแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ หนึ่งในนั้นก็คือ REnato lab ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คำว่า Renato มาจากคำว่า RE รวมกับ nato ในภาษาอิตาลีที่มีความหมายว่า คืนชีพและกำเนิด ชื่อ Renato จึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์แสดงถึงการเป็นบริษัทที่ต่อยอดแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการนำวัสดุเหลือทิ้งที่ดูเหมือนไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อีก มาแปรรูปเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่

คุณหวังเจียเสียง (王家祥) ผู้ก่อตั้ง REnato lab ในอดีตเคยทำงานที่ CTCI Foundation องค์กรที่มีหน้าที่ช่วยเหลือรัฐบาลในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน เขาพบว่าแม้นโยบายของรัฐบาลจะมีอิทธิพลต่อภาคอุตสาหกรรม แต่ไม่อาจโน้มน้าวใจประชาชนให้เปลี่ยนมาซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นเขาจึงใช้วิธีเข้าไปช่วยเหลือภาคธุรกิจในการตรวจสอบและให้ความรู้แก่ประชาชน โดยหวังว่าจะทำให้ทุกภาคส่วนมีความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และหันมาให้การสนับสนุนตลอดจนลงมือปฏิบัติ

ในช่วงแรก REnato lab มุ่งเน้นการนำวัสดุเหลือทิ้งมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิ นำยางรถยนต์ที่ใช้แล้วมาแปรรูปเป็นเก้าอี้ เป็นต้น แต่ต่อมาคุณหวังเจียเสียงพบว่าวัสดุเหลือทิ้งมีปริมาณมากมายเกินไป การแปรรูปวัสดุเหลือทิ้งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แนวทางที่ถูกต้องคือ เข้าไปให้ความช่วยเหลือภาคเอกชนค้นหาปัญหาและหาทางแก้ไขที่ต้นเหตุเพื่อลดการสร้างเศษวัสดุเหลือทิ้ง ซึ่งก็ทำให้ REnato lab ได้เปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจของตนมาเป็นบริษัทที่ปรึกษาในเวลาต่อมา

นอกจากช่วยภาคธุรกิจในการตรวจสอบและค้นหาสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดเศษวัสดุเหลือทิ้งแล้ว REnato lab ยังได้เชื่อมโยงกับธุรกิจอื่น ตั้งแต่ธุรกิจการจัดการขยะ การแปรรูปเป็นวัตถุดิบ แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการจัดจำหน่าย ซึ่งถือเป็นวงจรธุรกิจที่เชื่อมต่อกัน อันจะนำไปสู่การเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบเพื่อให้วัสดุที่เป็นองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์หมุนเวียนกลับมาสร้างคุณค่าใหม่ นอกจากผลิตภัณฑ์แล้ว การปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนก็เป็นหนึ่งในบริการของ REnato lab ยกตัวอย่างเช่น ช่วยบริษัทเอเซอร์ คอมพิวเตอร์ (Acer) จัดตั้งจุดรับแบตเตอรี่เก่าในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นทุกสาขาทั่วไต้หวัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคในการรีไซเคิลแบตเตอรี่

แม้ REnato lab ได้ผันตัวไปเป็นบริษัทที่ปรึกษาแล้ว แต่ก็ยังคงประกอบธุรกิจด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ ยิ่งไปกว่านั้นยังได้สร้างคลังวัตถุดิบขึ้นมา เพื่อช่วยให้เหล่าดีไซเนอร์เข้าใจถึงคุณสมบัติของวัตถุดิบแต่ละชนิดอย่างถ่องแท้ อันจะมีส่วนช่วยให้ดีไซเนอร์สามารถการออกแบบผลิตภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสม คุณหวังเจียเสียงกล่าวว่า “ห้องปฏิบัติการของเรา อยู่ในโรงงานของคนอื่น” เขากำหนดสถานะของ REnato lab ให้เป็น “ห้องปฏิบัติการเศรษฐกิจหมุนเวียน” ที่มีการทดลองนำวัตถุดิบของลูกค้ามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ หากลูกค้าพอใจผลิตภัณฑ์ที่ทำออกมา ก็จะถูกนำเข้าสู่สายการผลิตในวันถัดมาได้ทันที

นอกจากส่งผลต่อภาคธุรกิจแล้ว REnato lab ยังต้องการให้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนขยายผลไปยังประชาชนทั่วไปด้วย จึงได้มีการจัดนิทรรศการ Future is now ที่ Huashan 1914 Creative Park เมื่อปีที่แล้ว (ค.ศ.2019) ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนรู้ว่า ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ จะสามารถดำเนินชีวิตตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้โดยอาศัยทรัพยากรและช่องทางใดบ้าง อีกทั้งต้องการแก้ความเข้าใจผิดของมวลชนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบเพื่อให้หมุนเวียนกลับมาสร้างคุณค่าใหม่ ที่มักจะคิดกันไปเองว่า ไม่สวยงามและไม่ทนทาน โดยผ่านการทดลองสัมผัสกับผลิตภัณฑ์เหล่านั้นด้วยตนเอง

 

ความท้าทายของไต้หวัน : แบรนด์สินค้าและทรัพยากร

คุณหวงอวี้เจิงกับคุณหวังเจียเสียง ทั้งสองท่านที่ต่างเป็นผู้มีประสบการณ์โชกโชนในวงการเศรษฐกิจหมุนเวียน พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ณ ปัจจุบัน “แบรนด์สินค้า” กับ “การจัดสรรทรัพยากร” คือความท้าทาย 2 ประการใหญ่ของการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนในไต้หวัน

คุณหวังเจียเสียงเปิดเผยว่า ประชาชนในประเทศส่วนใหญ่ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบให้หมุนเวียนกลับมาใช้ได้ใหม่ว่า “ในเมื่อเป็นผลิตภัณฑ์รีไซเคิล แล้วทำไมราคายังแพง” ซึ่งต่างจากสภาพการณ์ในต่างประเทศโดยสิ้นเชิง ชาวต่างชาติยินดีจ่ายเงินเพิ่มเพื่ออุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ดี ในช่วงหลายปีมานี้ ชาวไต้หวันยอมรับผลิตภัณฑ์รีไซเคิลมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น รองเท้ากีฬายี่ห้ออาดิดาสและไนกี้ ที่ทำจากเส้นใยสังเคราะห์ของขยะพลาสติกในทะเลและขวดพลาสติก PET แต่แบรนด์สินค้าเหล่านี้ไม่ใช่แบรนด์ของไต้หวัน “หากเป็นแบรนด์ในประเทศ ก็ไม่แน่ว่าจะมีราคาระดับนี้” คุณหวังเจียเสียงกล่าว พร้อมแสดงความเห็นว่า แม้ผลงานการออกแบบของไต้หวันจะมีชื่อเสียงในเวทีสากล แต่แบรนด์สินค้ารีไซเคิลยังต้องมีการประชาสัมพันธ์มากกว่านี้

คุณหวงอวี้เจิงเปิดเผยว่า การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนของไต้หวันต้องอาศัยวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มาเป็นตัวขับเคลื่อนกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ถูกจำกัดจากขนาดของธุรกิจที่ใหญ่โตมโหฬาร จึงทำได้เพียงแค่ปรับปรุงเพียงบางส่วน ในทางตรงกันข้าม วิสาหกิจ SMEs มีความยืดหยุ่นสูงและคล่องตัว จึงอาจปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจโดยรวมได้ทั้งหมด ขณะที่คุณหวังเจียเสียงก็เผยว่า หากรัฐบาลปรับปรุงการจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้วิสาหกิจ SMEs มีโอกาสเข้าร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้นจะขยายผลในภาคอุตสาหกรรมการผลิตได้เร็วยิ่งขึ้น

เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นโมเดลธุรกิจอีกประเภทหนึ่ง ขณะเดียวกันก็เป็นการปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมในอีกแนวทางหนึ่ง เพื่อให้ทรัพยากรดำรงอยู่อย่างยั่งยืน และหมุนเวียนอยู่ในวัฏจักรโดยไม่หยุดนิ่ง เมื่อไต้หวันตกอยู่ในภาวะขาดแคลนน้ำ ไฟฟ้า และที่ดิน เศรษฐกิจหมุนเวียนอาจเป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับโจทย์ข้อนี้