ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ปธน.ไช่ฯ เข้าร่วมการประชุมใหญ่สามัญสมาชิกหอการค้าสหรัฐอเมริกาประจำกรุงไทเปประจำปี 2020
2020-11-19
New Southbound Policy。เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ปธน.ไช่ฯ เข้าร่วมการประชุมใหญ่สามัญสมาชิกหอการค้าสหรัฐอเมริกาประจำกรุงไทเปประจำปี 2020 พร้อมกล่าวปราศรัย (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ปธน.ไช่ฯ เข้าร่วมการประชุมใหญ่สามัญสมาชิกหอการค้าสหรัฐอเมริกาประจำกรุงไทเปประจำปี 2020 พร้อมกล่าวปราศรัย (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ “รายงานการสำรวจบรรยากาศทางธุรกิจ” (Business Climate Survey) และ “สมุดปกขาวสำหรับไต้หวัน” (Taiwan White Paper) ที่หอการค้าสหรัฐอเมริกาประจำกรุงไทเปได้ทำการเผยแพร่ในปีนี้ มีข้อความที่แสดงถึงการยกย่องความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของไต้หวัน โดยมีสมาชิกจำนวนกว่าร้อยละ 70 เล็งเห็นอนาคตในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวันในอีก 3 ปีข้างหน้า

♦ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ไต้หวัน – สหรัฐฯ ได้ร่วมลงนาม “กรอบความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างการลงทุนและการสร้างตลาดให้กับโครงสร้างพื้นฐาน” โดยกรอบความร่วมมือดังกล่าวได้ส่งเสริมให้ทั้งสองฝ่ายเกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างเทคโนโลยีและการแบ่งปันทรัพยากรข้อมูลในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น

♦ สหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญของไต้หวันมาเป็นระยะเวลานาน มูลค่าการค้าตลอดครึ่งแรกของปีนี้ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ แซงหน้าอินเดียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
-------------------------------------------
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 17 พ.ย. 63

 

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วมการประชุมใหญ่สามัญสมาชิกหอการค้าสหรัฐอเมริกาประจำกรุงไทเปประจำปี 2020 (2020 AmCham Annual General Meeting) พร้อมแสดงความคาดหวังที่จะเห็นทั้งสองประเทศร่วมลงนามความตกลงการค้าแบบทวิภาคี (Bilateral Trade Agreement, BTA) ในเร็ววัน เพื่อเอื้อประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ สร้างโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนเป็นการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้เกิดความแนบแน่นยิ่งขึ้น

 

ปธน.ไช่ฯ กล่าวขณะปราศรัยเป็นภาษาอังกฤษ โดยระบุว่า “รายงานการสำรวจบรรยากาศทางธุรกิจ” (Business Climate Survey) และ “สมุดปกขาวสำหรับไต้หวัน” (Taiwan White Paper) ที่หอการค้าสหรัฐอเมริกาประจำกรุงไทเป (American Chamber of Commerce in Taipei) ได้ทำการเผยแพร่ในปีนี้ มีข้อความที่แสดงถึงการยกย่องความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของไต้หวัน โดยมีสมาชิกจำนวนกว่าร้อยละ 70 เล็งเห็นอนาคตในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวันในอีก 3 ปีข้างหน้า

 

ปธนฯ.ไช่ฯ กล่าวว่า สหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญของไต้หวันมาเป็นระยะเวลานาน มูลค่าการค้าตลอดครึ่งแรกของปีนี้ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ แซงหน้าอินเดียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในปัจจุบัน ไต้หวันนับเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 9 ของสหรัฐฯ และเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของสหรัฐฯ ในด้านการลงทุนระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ก็เป็นไปอย่างแนบแน่นเช่นเดียวกัน

 

ทั้งนี้ ปธน.ไช่ฯ ได้ระบุกรณีตัวอย่าง โดยอ้างอิงถึงบริษัทกูเกิ้ล (Google) ที่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า ทางบริษัทฯ ได้วางแผนจัดตั้งศูนย์ข้อมูลแห่งที่ 3 ขึ้นในตำบลโต่วลิ่ว เมืองหยุนหลินในไต้หวันเร็วๆนี้ โดยนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในโครงการ “เทคโนโลยีอัจฉริยะในไต้หวัน” (Smart Taiwan) ของกูเกิ้ลเท่านั้น นอกจากนี้กูเกิ้ลยังได้เร่งวางแนวทางในการบ่มเพาะบุคลากรด้านการตลาดดิจิทัลและด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศให้แก่ธุรกิจของไต้หวัน ผ่านโครงการดังกล่าวอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างให้ไต้หวันกลายเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแบบเชื่อมต่อกันระหว่างในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก

 

ปธน.ไช่ฯ ระบุเพิ่มเติมว่า เมื่อเดือนที่แล้ว บริษัทไมโครซอฟท์ (Microsoft) ได้ประกาศแผนการลงทุนในไต้หวันที่ใหญ่ที่สุดตลอดระยะเวลา 31 ปีที่ผ่านมา โดยต้องการส่งเสริมให้ไต้หวันกลายเป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลในภูมิภาคเอเชีย โดยคาดว่าจะสามารถสร้างโอกาสงานที่มากกว่า 30,000 ตำแหน่งจากแผนการดังกล่าว นอกจากนี้ บริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตแผ่นเวเฟอร์ที่ใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดของโลก ก็ได้ประกาศแผนการลงทุนก่อตั้งโรงงานผลิตแผ่นเวเฟอร์ขึ้น ณ รัฐแอริโซนา สหรัฐฯ ด้วยเงินลงทุน 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้อุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีระดับสูงย้ายฐานธุรกิจไปยังสหรัฐฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นกรณีตัวอย่างการแลกเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจและการค้าที่เป็นไปอย่างใกล้ชิดระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ

 

ปธน.ไช่ฯ ชี้แจงว่า ขณะนี้ทางการไต้หวันกำลังเร่งวางแผน “การเจรจาหุ้นส่วนเพื่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ” โดยคาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับโอกาสทางความร่วมมือที่มากขึ้นในด้านการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน เทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน และพลังงาน เป็นต้น ผ่านแพลตฟอร์มใหม่นี้ และที่สร้างความประทับใจเป็นอย่างยิ่งให้แก่ไต้หวันคือ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ไต้หวัน – สหรัฐฯ ได้ร่วมลงนาม “กรอบความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างการลงทุนและการสร้างตลาดให้กับโครงสร้างพื้นฐาน” (Framework to Strengthen Infrastructure Finance and Market Building Cooperation) โดยกรอบความร่วมมือดังกล่าวได้ส่งเสริมให้ทั้งสองฝ่ายเกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างเทคโนโลยีและการแบ่งปันทรัพยากรข้อมูลในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น อันจะนำมาซึ่งเม็ดเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนเป็นการสร้างหลักประกันที่แข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานและการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

ในตอนท้าย ปธน.ไช่ฯ ยังได้ระบุว่า เมื่อเดือนที่แล้ว สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ จำนวน 50 คนได้ร่วมลงนามในการส่งหนังสือเรียกร้องต่อ Mr. Robert Lighthizer ผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้ Mr. Robert สนับสนุนการร่วมลงนามความตกลง BTA ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ปธน.ไช่ฯ จึงขอใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อ “หอการค้าสหรัฐอเมริกาประจำกรุงไทเป” และ “สภาธุรกิจสหรัฐฯ - ไต้หวัน” (U.S.-Taiwan Business Council) ที่ได้ร่วมจัดตั้ง “กลุ่มพันธมิตรว่าด้วยการส่งเสริมการลงนามความตกลงการค้าแบบทวิภาคี ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ” (US-Taiwan Bilateral Trade Agreement Coalition) และขอขอบคุณสมาชิกทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนไต้หวันอย่างเต็มกำลัง