สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ กต.ไต้หวันและ Taiwan ICDF ได้ร่วมกันจัดการสัมมนาแบบออนไลน์ในหัวข้อ “ค่ายฝึกอบรมการก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพสำหรับเยาวชนหญิง”
♦ วัตถุประสงค์ของการประชุมในครั้งนี้ คือการยกระดับศักยภาพด้านการก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพและการบริหารงานของเยาวชนหญิง ส่งเสริมให้บรรดาสตรีประยุกต์ใช้ทักษะที่ตนมีอยู่ หรือแสวงหาทรัพยากรจากภายนอกเพื่อบรรลุเป้าหมายในการก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพ
-------------------------------------------
MOFA วันที่ 19 พ.ย. 63
เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และกองทุนเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไต้หวัน (International Cooperation and Development Fund, Taiwan ICDF) ได้ร่วมกันจัดการสัมมนาแบบออนไลน์ในหัวข้อ “ค่ายฝึกอบรมการก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพสำหรับเยาวชนหญิง” (2020 Young Women Entrepreneurship) โดยได้ติดต่อเชิญ Ms. Kelley Currie เอกอัครราชทูตผู้แทนพิเศษของกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ดูแลกิจการที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิสตรีทั่วโลก และนางหลินจิ้งอี๋ เอกอัครราชทูตผู้แทนพิเศษด้านสิทธิสตรีของไต้หวัน มาเป็นผู้บรรยาย โดยการประชุมในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมได้หารือกันในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาพการณ์ปัจจุบัน โอกาส และอุปสรรคที่เกี่ยวกับการก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพของสตรี พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือประเทศพันธมิตรของไต้หวันในการกระตุ้นการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิด – 19 ผ่านการประชาสัมพันธ์ผลสัมฤทธิ์ด้านสิทธิทางเศรษฐกิจของเยาวชนหญิงในประเทศพันธมิตรไต้หวัน ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแถบทะเลแคริบเบียน ตามความร่วมมือระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ภายใต้กรอบ “โครงการความร่วมมือในการส่งเสริมความรุ่งเรืองและการพัฒนาศักยภาพสตรีทั่วโลก” (W-GDP)
โดยการประชุมในครั้งนี้ มีนางจางเหวยเหวิน ศาสตราจารย์ประจำคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระดับนานาชาติ มหาวิทยาลัยครุศาสตร์แห่งชาติไต้หวัน (NTNU) ทำหน้าที่เป็นพิธีกรของการประชุม พร้อมทั้งได้ติดต่อเชิญ Ms. Jennifer D.“DJ” Nordquist กรรมการบริหารซึ่งเป็นผู้แทนของสหรัฐฯ ประจำธนาคารโลก Ms. Barbara Langley หัวหน้าฝ่ายสิทธิทางเศรษฐกิจของสตรี ศูนย์องค์กรเอกชนนานาชาติ (Center for International Private Enterprise, CIPE) นายหลี่ปั๋วปั๋ว รองเลขาธิการ ICDF มาร่วมบรรยายเพื่อรายงานการสังเกตการณ์ที่เกี่ยวกับสภาพการณ์และทรัพยากรด้านสิทธิทางเศรษฐกิจของสตรี นอกจากนี้ ยังได้เชิญไช่เอินเจีย นักธุรกิจเยาวชนหญิงเข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์การก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพในที่ประชุมครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการประชุมในครั้งนี้ คือการยกระดับศักยภาพด้านการก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพและการบริหารงานของเยาวชนหญิง ส่งเสริมให้บรรดาสตรีประยุกต์ใช้ทักษะที่ตนมีอยู่ หรือแสวงหาทรัพยากรจากภายนอกเพื่อบรรลุเป้าหมายในการก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพ นอกจากนี้ การประชุมในครั้งนี้ยังได้บรรยายถึงกฎข้อระเบียบและการปฏิรูประบบ โดยหวังว่าจะสามารถลดอุปสรรคจากข้อกฎหมายและสังคม ที่มีต่อการเข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของสตรี โดยการประชุมในครั้งนี้ได้ดึงดูดผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังผ่านรูปแบบออนไลน์มากกว่า 257 คน โดยผู้เข้าร่วมต่างก็มีการซักถามข้อสงสัย ทำให้บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเป็นไปอย่างคึกคัก
กต.ไต้หวันให้ความสำคัญต่อแผนข้อเสนอไต้หวัน – สหรัฐฯ ในการผลักดันสิทธิทางเศรษฐกิจของสตรีเป็นอย่างมาก จึงเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า การสัมมนาแบบออนไลน์ในครั้งนี้ จะเป็นการกระตุ้นให้เยาวชนหญิงในประเทศพันธมิตร กล้าที่จะมุ่งมั่นในการก้าวไปสู่เป้าหมายของความมีอิสระในทางเศรษฐกิจและความเป็นตัวของตัวเอง อันจะเป็นการบรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมสิทธิสตรีทั่วโลกอย่างเป็นรูปธรรม