สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ Taiwan Business Bank (TBB) ธนาคารพาณิชย์ของไต้หวันได้จับตาแนวโน้มและทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของไต้หวันยุคหลังโควิด – 19 อย่างใกล้ชิด และได้ร่วมจัด “การประชุมสัมมนาเศรษฐกิจไทเป” ครั้งที่ 2 ขึ้นเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.
♦ เศรษฐกิจโลกในปีนี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) แต่ภายใต้ความพยายามร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของไต้หวัน ส่งผลให้ไต้หวันก้าวสู่การเป็นต้นแบบด้านการป้องกันโรคระบาด และเป็นเขตเศรษฐกิจเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่ยังคงสามารถรักษาการขยายตัวของ GDP ไว้ได้อย่างต่อเนื่อง
♦ จากรายงานสถิติที่จัดทำโดย TBB ตราบจนเดือนพฤศจิกายนในปีนี้ ทาง TBB ได้ทำการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งสิ้น 54,684 ราย รวมมูลค่ากว่า 607,800 ล้านเหรียญไต้หวัน
-------------------------------------------
หนังสือพิมพ์ Liberty Times วันที่ 14 ธ.ค. 63
ตลอดช่วงที่ผ่านมา Taiwan Business Bank (TBB) ซี่งเป็นธนาคารพาณิชย์ของไต้หวันได้จับตาแนวโน้มและทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของไต้หวันยุคหลังโควิด – 19 อย่างใกล้ชิด โดยได้ประสานความร่วมมือกับสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยไทเป (National Taipei University, NTPU) และสมาคมศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์ของ NTPU ในการจัด “การประชุมสัมมนาเศรษฐกิจไทเป” ครั้งที่ 2 ขึ้นเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ณ โรงแรม Grand Mayfull Hotel กรุงไทเป ซึ่งได้ดึงดูดตัวแทนผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และภาควิชาการ กว่า 400 คนเข้าร่วม เพื่อร่วมกันหารือในประเด็นแนวโน้มอุตสาหกรรมโลก โดยคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ไต้หวันจะสามารถคว้าโอกาสทางเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด – 19 ได้อย่างทันท่วงที
โดยการประชุมในครั้งนี้ได้เชิญนายอู๋หรงอี้ ที่ปรึกษาอาวุโสประจำทำเนียบประธานาธิบดี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) นายเซิ่นหรงจิน รองนายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) นายกงหมิงซิน ประธานคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ (National Development Council, NDC) ทำหน้าที่เป็นแขกกิตติมศักดิ์ในการกล่าวปราศรัย พร้อมชี้แจงถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจและแนวโน้มเศรษฐกิจหลังยุคโควิด – 19 ของไต้หวัน โดยนายเซี่ยจินเหอ ผู้อำนวยการสำนักพิมพ์ Wealth Group ได้ร่วมแบ่งปันรายงานการวิเคราะห์ความท้าทายทางเศรษฐกิจและกลยุทธ์ด้านการลงทุน ผ่านมุมมองการบริหารด้านการลงทุน
นายหวงปั๋วอี๋ ประธานกรรมการบริหาร TBB และนายกสมาคมศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์ของ NTPU กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) แต่ภายใต้ความพยายามร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของไต้หวัน ส่งผลให้ไต้หวันก้าวสู่การเป็นต้นแบบด้านการป้องกันโรคระบาด และเป็นเขตเศรษฐกิจเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่ยังคงสามารถรักษาการขยายตัวของ GDP ไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งประชาคมโลกต่างร่วมเป็นสักขีพยานในผลสัมฤทธิ์เหล่านี้ของไต้หวัน อย่างไรก็ตาม นายหวงฯ กล่าวว่า เนื่องด้วยปัจจัยความไม่แน่นอนหลายประการ อาทิ สถานการณ์ความมั่นคงระหว่างประเทศและภูมิรัฐศาสตร์ ประกอบกับสถานการณ์ที่ผกผันเช่นนี้ ไต้หวันจำเป็นต้องเร่งแสวงหาแนวทางการรับมือเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคภายใต้สถานการณ์วิกฤตโควิด – 19 ต่อไป ตลอดจนมุ่งเปิดบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจที่ตอบสนองต่อทิศทางการพัฒนาในอนาคตควบคู่ไปด้วย
นอกจากนี้ ในระหว่างการประชุม นายจางเจี้ยนอี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจไต้หวัน (Taiwan Institute of Economic Research) นายจางฉวนจาง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจจงหัว (Chung - Hua Institution for Economic Research) นายหวงฉงเจ๋อ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและฝึกอบรมด้านการเงินไต้หวัน (Taiwan Academy of Banking and Finance) และนายหวงปั๋วอี๋ ประธานกรรมการบริหาร TBB ได้ร่วมเสนอรายงานการสังเกตการณ์และให้คำชี้แนะ ภายใต้ช่วงเวลาสำคัญแห่งการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานโลก รวมถึงแนวโน้มการขยายตัวและหดตัวของภาคอุตสาหกรรมหลังยุคโควิด – 19 TBB มีวิธีการรับมือกับทิศทางการพัฒนาในอนาคตอย่างไร ทั้งนี้ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการร่วมกันวิเคราะห์ทิศทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไต้หวันในภายภาคหน้าต่อไป
นายหวงฯ เน้นย้ำว่า TBB เป็นธนาคารที่ให้บริการสำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพียงแห่งเดียวของไต้หวัน มีหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจแก่ผู้ประกอบการ SMEs จากรายงานสถิติที่จัดทำโดย TBB ตราบจนเดือนพฤศจิกายนในปีนี้ ทาง TBB ได้ทำการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งสิ้น 54,684 ราย รวมมูลค่ากว่า 607,800 ล้านเหรียญไต้หวัน
นายหวงฯ ชี้แจงว่า TBB มุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาแก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยมุ่งมั่นให้ความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาที่ผู้ประกอบการเผชิญหน้าอย่างกระตือรือร้น อีกทั้งยังมุ่งเน้นในหลักการ 3 มิติ ประกอบด้วย (1) ให้ความช่วยเหลือแก่เยาวชนในการสร้างธุรกิจและการทำงาน (2) ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้สูงอายุ และ (3) เงินทุนเพื่อการฟื้นฟูอาคารเก่าและมีสภาพทรุดโทรม รวมถึงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมด้านนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยยึดหลักกลยุทธ์ 3 in 1 ประกอบด้วย “การจัดหาเงินทุน การให้คำปรึกษา และการลงทุน” ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศทางการเงินที่สมบูรณ์ ให้บริการแก่กลุ่มผู้ประกอบการที่ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปไม่สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึง การประชุมสัมมนาเศรษฐกิจไทเปที่จัดขึ้นในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสที่ TBB สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญในภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และภาควิชาการ เดินทางมารวมตัวกันในการพูดคุยแลกเปลี่ยนและให้คำชี้แนะในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้ไต้หวันสามารถรักษาตำแหน่งประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิด – 19 ต่อไป