สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ “ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไต้หวัน – สหรัฐฯ” เป็นผลสัมฤทธิ์ประการแรกที่เกิดจากการจัด “การเจรจาหุ้นส่วนเพื่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ” ในช่วงที่ผ่านมา
♦ ในช่วงที่ผ่านมา ไต้หวัน - สหรัฐฯ ได้มีการจัดตั้งกลไกการเจรจาและความร่วมมือรูปแบบใหม่ระหว่างกัน ภายใต้ประเด็นที่หลากหลายและเป็นไปในเชิงกว้าง
-------------------------------------------
MOFA วันที่ 18 ธ.ค. 63
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) (Ministry of Foreign Affairs, MOFA) ได้จัดงานเลี้ยงน้ำชาเพื่อประกาศการลงนาม “ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ” (U.S. - Taiwan Science and Technological Cooperation Agreement ) โดยมีนายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ทำหน้าที่เป็นประธานในพิธี พร้อมนี้ ภายในงานยังได้ติดต่อเชิญนายอู๋เจิ้งจง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) นายเฉินเจิ้งฉี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และ Mr. William Brent Christensen ผู้อำนวยการใหญ่สถาบันอเมริกาในไต้หวัน สำนักงานไทเป (AIT- Taipei office) เข้าร่วมในงานครั้งนี้ด้วย
“ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไต้หวัน – สหรัฐฯ” เป็นผลสัมฤทธิ์ประการแรกที่เกิดจากการจัด “การเจรจาหุ้นส่วนเพื่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ” (Taiwan-US Economic Prosperity Partnership Dialogue) ที่เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 20 พ.ย. อย่างเป็นรูปธรรม โดยหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมดังกล่าวในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน ทั้งสองฝ่ายก็ได้ร่วมเจรจาและลงนามความตกลงระหว่างกันอย่างราบรื่น แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนที่มีความสัมพันธ์อันใกล้ชิด โดยจากการลงนามความตกลงในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ให้มีความแนบแน่นมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ความตกลงในครั้งนี้ได้ร่วมลงนามโดยนางเซียวเหม่ยฉิน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำสหรัฐอเมริกา และ Ms. Ingrid Larson กรรมการบริหารของสถาบันอเมริกาในไต้หวัน เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ณ กรุงวอชิงตันดี.ซี. โดยมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐของทั้งสองฝ่ายร่วมเป็นสักขีพยานผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยทางฝั่งไต้หวัน ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นายอู๋เจาเซี่ย รมว.ต่างประเทศ นายอู๋เจิ้งจง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ นายเฉินเจิ้งฉี รมช.เศรษฐการ และ Mr. William Brent Christensen ผอญ. AIT/T ส่วนทางฝั่งสหรัฐฯ ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย Mr. Keith Krach รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม Mr. David Stilwell ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชีย – แปซิฟิก Mr. Jonathan Moore รักษาการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการทางทะเล เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ และ Mr. Mung Chiang ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหรัฐฯ เป็นต้น
ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ นับวันยิ่งมีความแนบแน่นมากยิ่งขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้มีการจัดตั้งกลไกการเจรจาและความร่วมมือรูปแบบใหม่ระหว่างกัน ภายใต้ประเด็นที่หลากหลายและเป็นไปในเชิงกว้าง ประกอบด้วย การเจรจาหุ้นส่วนเพื่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ กรอบความร่วมมือว่าด้วยการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินและการตลาด แผนความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ และโครงการตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพสำหรับสตรี โดยในอนาคต กต.ไต้หวันจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ภายใต้พื้นฐานที่มีอยู่เดิม เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนอย่างครอบคลุมระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ สืบต่อไป