ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
การประชุมสัมมนาว่าด้วยการเรียนการสอนภาษาจีน กิจกรรมภายใต้แผนความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ
2021-01-18
New Southbound Policy。นายหลิวม่งฉี (นับจากซ้าย) รมช.ศึกษาธิการ นายสวีซือเจี่ยน รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ Mr. William Brent Christensen ผอญ. AIT นายอู๋เจาเซี่ย รมว.ต่างประเทศ และนายถงเจิ้นหยวน ประธาน OCAC ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ (ภาพจาก AIT)
นายหลิวม่งฉี (นับจากซ้าย) รมช.ศึกษาธิการ นายสวีซือเจี่ยน รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ Mr. William Brent Christensen ผอญ. AIT นายอู๋เจาเซี่ย รมว.ต่างประเทศ และนายถงเจิ้นหยวน ประธาน OCAC ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ (ภาพจาก AIT)

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ OCAC จะผนวกรวมทรัพยากรทางการศึกษาที่ทางหน่วยงานมุ่งมั่นบริหารในทั่วทุกพื้นที่ของสหรัฐฯ มาเป็นเวลานาน เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสรรค์สร้างเป็นฐานการเรียนการสอนภาษาจีนในต่างประเทศที่มีความเชื่อมโยงระหว่างกัน

♦ ในอนาคต OCAC จะเร่งผลักดันยุทธศาสตร์ 3 มิติอย่างเป็นรูปธรรม ประการแรกคือให้ความช่วยเหลือแก่โรงเรียนชาวจีนโพ้นทะเลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้สามารถเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ภาษาจีนในระดับชุมชน พร้อมเสริมสร้างความเชื่อมโยงกับอาจารย์สัญชาติไต้หวันในโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาของสหรัฐฯ จำนวน 600 กว่าคน ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการเรียนการสอนภาษาจีน และอุตสาหกรรมการศึกษาแบบอัจฉริยะ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่และรูปแบบใหม่ ในการผลักดันรูปแบบการเรียนการสอนภาษาจีนที่มีความหลากหลายและเปี่ยมด้วยความสนุกสนาน

♦ ในปัจจุบันสถาบันขงจื๊อหลายแห่งในสหรัฐฯ ได้ปิดตัวลงแล้ว ซึ่งนับเป็นโอกาสทองของไต้หวันในการเร่งฝีขยับเท้าเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาภาษาจีนในสหรัฐฯ ต่อไป
-------------------------------------------
คณะกรรมการกิจการชาวจีนโพ้นทะเล วันที่ 16 ม.ค. 64

 

เมื่อวันที่ 16 ม.ค. สถาบันอเมริกาในไต้หวัน (AIT) และมูลนิธิเพื่อการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ (Foundation for Scholarly Exchange (Fulbright Taiwan)) ได้ร่วมจัด “การประชุมสัมมนาว่าด้วยการเรียนการสอนภาษาจีน” ขึ้น ซึ่งเป็นการประชุมสัมมนาแบบเปิดเผยครั้งแรกที่ร่วมจัดขึ้นระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้เปิดฉากความร่วมมือภายใต้แผนความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกันไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยการประชุมในครั้งนี้ มีบุคคลสำคัญทางการเมืองระหว่างสองประเทศเข้าร่วมมากมาย ประกอบด้วย Mr. William Brent Christensen ผู้อำนวยการใหญ่สถาบันอเมริกาในไต้หวัน สำนักงานไทเป (AIT- Taipei office) นายสวีซือเจี่ยน รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (MOFA) นายถงเจิ้นหยวน ประธานคณะกรรมการกิจการชาวจีนโพ้นทะเล (OCAC) และนายหลิวม่งฉี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (MOE) เป็นต้น

 

นายถงฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า เพื่อบรรลุโครงการความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ อย่างเป็นรูปธรรม ในช่วงที่ผ่านมา OCAC ได้เร่งวางแนวทางและมาตรการที่เกี่ยวข้องอย่างกระตือรือร้น โดยทางหน่วยงานจะผนวกรวมทรัพยากรทางการศึกษาที่ OCAC มุ่งมั่นบริหารในทั่วทุกพื้นที่ของสหรัฐฯ มาเป็นเวลานาน เข้าไว้ด้วยกัน ประกอบด้วย โรงเรียนชาวจีนโพ้นทะเล 365 แห่ง อาจารย์สอนภาษาจีนจำนวน 7,155 คน และนักศึกษาจำนวน 78,000 คน เพื่อสรรค์สร้างเป็นฐานการเรียนการสอนภาษาจีนในต่างประเทศที่มีความเชื่อมโยงระหว่างกัน ทั้งนี้ เพื่อร่วมผลักดันโครงการข้างต้นให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนเป็นการร่วมแบ่งปันศักยภาพและประสบการณ์การเรียนการสอนภาษาจีนของไต้หวันให้กับมิตรสหายในสหรัฐฯ ต่อไป

 

นายถงฯ ชี้แจงว่า ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบภารกิจที่เกี่ยวข้องกับชาวจีนโพ้นทะเลโดยตรง ในอนาคต OCAC จะเร่งผลักดันยุทธศาสตร์ 3 มิติอย่างเป็นรูปธรรม ประการแรกคือให้ความช่วยเหลือแก่โรงเรียนชาวจีนโพ้นทะเลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้สามารถเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ภาษาจีนในระดับชุมชน พร้อมส่งเสริมให้อาจารย์ในโรงเรียนชาวจีนโพ้นทะเลที่มีอยู่ในปัจจุบัน จัดทำการเรียนการสอนภาษาจีนให้กับสาธารณชนในสังคมทั่วไป ประการที่ 2 เสริมสร้างความเชื่อมโยงกับอาจารย์สัญชาติไต้หวันในโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาของสหรัฐฯ จำนวน 600 กว่าคน พร้อมทั้งผลักดันให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาจีนที่เปี่ยมด้วยอัตลักษณ์ของไต้หวัน ขณะเดียวกันก็ให้ความช่วยเหลือแก่เหล่าอาจารย์ในโรงเรียนชาวจีนโพ้นทะเล เข้ารับการฝึกอบรมเพื่อยกระดับความเชี่ยวชาญด้านการเรียนการสอน ตลอดจนส่งเสริมให้บรรดาอาจารย์เข้าร่วมการทดสอบคุณสมบัติการเป็นอาจารย์สอนภาษาจีน เพื่อบรรจุเป็นอาจารย์สอนภาษาจีนในโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาต่อไป และประการสุดท้ายคือเสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการเรียนการสอนภาษาจีน และอุตสาหกรรมการศึกษาแบบอัจฉริยะ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่และรูปแบบใหม่ ในการผลักดันรูปแบบการเรียนการสอนภาษาจีนที่มีความหลากหลายและเปี่ยมด้วยความสนุกสนาน ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้มิตรสหายในสหรัฐฯ เกิดความสนใจและความต้องการในการเรียนรู้ภาษาจีนต่อไป

 

Mr. William Brent Christensen ผอญ. AIT กล่าวว่า เพื่อขยายความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ในปัจจุบันสถาบันขงจื๊อหลายแห่งในสหรัฐฯ ได้ปิดตัวลงแล้ว ซึ่งนับเป็นโอกาสทองของไต้หวันในการเร่งฝีขยับเท้าเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาภาษาจีนในสหรัฐฯ ซึ่งนอกเหนือจากการสอนภาษาจีน และเรียนภาษาอังกฤษควบคู่ไปในตัวแล้ว ยังต้องนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับไต้หวันที่แตกต่างจากสถาบันขงจื๊อให้กับนักศึกษาสหรัฐฯ ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาภาษาจีนให้เกิดความเข้าใจถึงความแตกต่างอีกด้วย

 

นายอู๋เจาเซี่ย รมว.ต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กล่าวขณะปราศรัยว่า ผลสัมฤทธิ์มากมายภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ล้วนแต่อาศัยการให้ความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากทุกแวดวงของสหรัฐฯ โดยบุคลากรด้านการสอนภาษาจีน นับเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ผลักดันให้ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ เป็นไปในเชิงลึก โดยรมว.อู๋ฯ เชื่อว่า จากการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีน จะเป็นการเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนภาคประชาชนระหว่างสองฝ่าย ตลอดจนเป็นการกระชับมิตรภาพของเยาวชนรุ่นใหม่ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ให้เกิดความแนบแน่นมากยิ่งขึ้น