ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
กต.ไต้หวันขอบคุณรัฐสภายุโรป ที่ผ่านญัตติแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ภายในไต้หวัน พร้อมยืนยันให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศต่อไป
2021-01-22
New Southbound Policy。เนื้อหาในรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงร่วมกันประจำปี (CFSP) ของรัฐสภายุโรป ที่มีการระบุถึงการให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมอย่างมีความหมายในองค์การระหว่างประเทศ (ภาพจาก MOFA)
เนื้อหาในรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงร่วมกันประจำปี (CFSP) ของรัฐสภายุโรป ที่มีการระบุถึงการให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมอย่างมีความหมายในองค์การระหว่างประเทศ (ภาพจาก MOFA)

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา รัฐสภายุโรปได้มีมติให้ผ่านญัตติรวม 2 ฉบับด้วยคะแนนเสียงที่เป็นเอกฉันท์ ประกอบด้วย รายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงร่วมกันประจำปี (CFSP) และรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายความมั่นคงและการป้องกันประเทศ (CSDP)

♦ สาระสำคัญในรายงานระบุว่า สหภาพยุโรป (EU) จะจับตาแนวโน้มสถานการณ์ในไต้หวันอย่างต่อเนื่อง พร้อมยกระดับความสัมพันธ์ด้านการเมืองและเศรษฐกิจระหว่าง EU - ไต้หวัน
 

♦ เนื้อหาของบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มสถานการณ์ในไต้หวันได้มีการถูกระบุไว้เพิ่มมากขึ้นจากปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่า บทบาทของไต้หวันในด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก ได้รับความสำคัญมากขึ้น
-------------------------------------------
MOFA วันที่ 21 ม.ค. 64

 

เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา รัฐสภายุโรปได้มีมติให้ผ่านญัตติรวม 2 ฉบับด้วยคะแนนเสียงที่เป็นเอกฉันท์ ประกอบด้วย รายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงร่วมกันประจำปี (Common Foreign and Security Policy, CFSP) และรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายความมั่นคงและการป้องกันประเทศ (Common Security and Defence Policy, CSDP) โดยสาระสำคัญในรายงานระบุว่า สหภาพยุโรป (EU) จะจับตาแนวโน้มสถานการณ์ในไต้หวันอย่างต่อเนื่อง พร้อมยกระดับความสัมพันธ์ด้านการเมืองและเศรษฐกิจระหว่าง EU - ไต้หวัน ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการระบุถึงการสถานการณ์อันคับขันในสองฝั่งช่องแคบไต้หวันตลอดช่วงที่ผ่านมา รวมถึงพฤติกรรมการข่มขู่ไต้หวันด้วยกำลังทางทหารของจีน อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกที่มีการเรียกร้องให้ EU และประเทศสมาชิกเร่งพิจารณานโยบายว่าด้วยการแลกเปลี่ยนไปมาหาสู่กับไต้หวัน ตลอดจนเน้นย้ำถึงการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาธิปไตยของไต้หวันถูกรุกรานจากภายนอก

 

ในปี 2020 รัฐสภายุโรปได้มีมติผ่านญัตติที่เป็นมิตรต่อไต้หวัน รวม 6 ฉบับ โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ยังได้มีการผ่านญัตติที่เป็นมิตรต่อไต้หวันเพิ่มเติมอีก 2 ฉบับ แสดงให้เห็นถึงการให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างหนักแน่นและเป็นรูปธรรม กระทรวงการต่างประเทศ (Ministry of Foreign Affairs, MOFA) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) รู้สึกยินดีและขอแสดงความขอบคุณด้วยใจจริง

 

นอกจากนี้ ญัตติทั้งสองฉบับนี้ได้แสดงจุดยืนในการเรียกร้องให้ EU และประเทศสมาชิกให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การอนามัยโลก (WHO) การประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) รวมถึงกิจกรรมและกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องขององค์การระหว่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งแสดงความชื่นชมต่อผลสำเร็จในการป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน รวมถึงแสดงความขอบคุณที่ไต้หวันให้ความช่วยเหลือในการสกัดกั้นโรคระบาดแก่ EU ตลอดจนแสดงความห่วงใยต่อพฤติกรรมที่ไม่หวังดีของประเทศที่ 3 ที่มีต่อไต้หวันและประเทศในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ซึ่งครอบคลุมไปถึงภัยคุกคามด้วยการเผยแพร่ข่าวปลอม เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการบ่อนทำลายมาตรการป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน

 

โดยญัตติทั้ง 2 ฉบับข้างต้นนี้เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายโดยภาพรวมของรัฐสภายุโรป ที่ปรากฎในรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบาย CFSP และ CSDP ประจำปี ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาแบบข้ามพรรคอย่างท่วมท้น โดยเนื้อหาของบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มสถานการณ์ในไต้หวันได้มีการถูกระบุไว้เพิ่มมากขึ้นจากปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่า บทบาทของไต้หวันในด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก ได้รับความสำคัญมากขึ้น

 

ไต้หวันในฐานะที่เป็นสมาชิกสำคัญในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก จะเร่งกระชับความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันในเชิงลึกต่อไป ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึง EU ด้วย เพื่อปกป้องคุณค่าแห่งประชาธิปไตยและเสรีภาพ ตลอดจนเสริมสร้างสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองให้เกิดแก่ภูมิภาคสืบไป