ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ไต้หวันก้าวขึ้นสู่การเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพทางเศรษฐกิจอันดับที่ 6 ของโลก
2021-03-05
New Southbound Policy。ไต้หวันก้าวขึ้นสู่การเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพทางเศรษฐกิจอันดับที่ 6 ของโลก (ภาพจากคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ)
ไต้หวันก้าวขึ้นสู่การเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพทางเศรษฐกิจอันดับที่ 6 ของโลก (ภาพจากคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ)

คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ วันที่ 4  มี.ค. 64
 
มูลนิธิเฮอริเทจ (Heritage Foundation) ซึ่งเป็นคลังสมองของสหรัฐฯ ประกาศ ดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจประจำปี 2021 (2021 Index of Economic Freedom) ผลปรากฏว่า ไต้หวันถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 6 ของ 184 ประเทศ/กลุ่มเศรษฐกิจ ซึ่งขยับขึ้นมาจากปีที่แล้วมากถึง 5 อันดับ ถือว่าสามารถทำผลงานได้ยอดเยี่ยมที่สุด ตั้งแต่มีการจัดทำและประกาศดัชนีดังกล่าวมาเป็นเวลา 27 ปี อันเป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ประชาคมโลกชื่นชมความพยายามของรัฐบาลไต้หวันในการผลักดันให้เปิดเสรีทางเศรษฐกิจจนประสบผลสำเร็จ รวมถึงการเพิ่มความซื่อตรงในภาครัฐ และประสิทธิภาพของกระบวนยุติธรรม
 
โดยเกณฑ์การจัดอันดับดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจวัดจากปัจจัยใน 4 มิติ (ระบบกฎหมาย ขนาดของรัฐบาล ประสิทธิภาพในการควบคุมดูแล และการเปิดเสรีของตลาด) และดัชนีอีก 12 ตัว (สิทธิในทรัพย์สิน ประสิทธิภาพกระบวนยุติธรรม และความซื่อตรงในภาครัฐ เป็นต้น)  ปีนี้ไต้หวันได้คะแนนรวม 78.6 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1.5 คะแนน สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยทั่วโลก และคะแนนเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งอยู่ที่ 61.6 และ 60.2 คะแนนตามลำดับ นอกจากนี้ในส่วนของดัชนีชี้วัดอีก 12 ตัว มี 8 ตัวที่ไต้หวันสามารถทำคะแนนได้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว
 
สำหรับคะแนนของดัชนีความซื่อตรงในภาครัฐ (Government integrity) นั้น คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ (National Development Council, NDC) เปิดเผยว่า ในระยะไม่กี่ปีมานี้ รัฐบาลได้ผลักดันให้มีการดำเนินงานที่เกี่ยวกับความซื่อตรงในภาครัฐ อาทิ การปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption, UNCAC)  โดยในปี 2018 ได้ประกาศรายงานสถานการณ์แห่งชาติเป็นครั้งแรก และได้จัดการประชุมนานาชาติเพื่อประเมินผล เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้ไต้หวันได้คะแนนจากดัชนีตัวนี้สูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว 5.6 คะแนน ในส่วนของดัชนีประสิทธิภาพกระบวนยุติธรรม (Judicial effectiveness) มูลนิธิเฮอริเทจได้แสดงความชื่นชมประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการบังคับใช้กฏหมายของไต้หวัน  ตลอดจนความเป็นเอกเทศของกระบวนการยุติธรรม และการที่องค์กรตุลาการไม่ถูกการเมืองเข้าแทรกแซง ทำให้ได้คะแนนจากดัชนีดังกล่าวเพิ่มขึ้น 2.8 คะแนน 
 
นอกจากนี้ จากการสำรวจของมูลนิธิเฮอริเทจพบว่า การขาดดุลงบประมาณ (Budget deficit) ของไต้หวัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.7 ของ GDP  ในขณะที่หนี้สาธารณะ (Public debt) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.2 ของ GDP ซึ่งเป็นผลงานที่ดีกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้ดัชนีความเข้มแข็งทางการเงิน (Fiscal health) มีคะแนนเพิ่มขึ้น 2.7 คะแนน