ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ยอดรวมผลประกอบการปี 2020 ของนิคมวิทยาศาสตร์ทะลุ 3 ล้านล้านเป็นครั้งแรก มูลค่าส่งออกและการจ้างงานก็สูงสุดในประวัติศาสตร์
2021-03-04
New Southbound Policy。ยอดรวมผลประกอบการปี 2020 ของนิคมวิทยาศาสตร์ทะลุ 3 ล้านล้านเป็นครั้งแรก มูลค่าส่งออกและการจ้างงานก็สูงสุดในประวัติศาสตร์ (ภาพจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)
ยอดรวมผลประกอบการปี 2020 ของนิคมวิทยาศาสตร์ทะลุ 3 ล้านล้านเป็นครั้งแรก มูลค่าส่งออกและการจ้างงานก็สูงสุดในประวัติศาสตร์ (ภาพจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  วันที่ 3 มี.ค. 64

เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ที่ผ่านมา นิคมวิทยาศาสตร์ 3 แห่งใหญ่ของไต้หวันในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ประกาศในงานแถลงข่าวว่า ยอดรวมผลประกอบการในปี 2020 ของนิคมวิทยาศาสตร์คิดเป็นมูลค่ารวม 3,027,625 ล้านเหรียญไต้หวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.03 จากปี 2019 ในขณะที่มูลค่าส่งออกคิดเป็นมูลค่า 2,401,606 ล้านเหรียญไต้หวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.19 จากปีก่อนหน้า โดยในส่วนของการจ้างงานก็มากถึง 288,237 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ร้อยละ 3 ซึ่งในส่วนของมูลค่าส่งออกและจำนวนการจ้างงานต่าง ล้วนเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา

โดยในด้านผลประกอบการรวม 3,276,250 ล้านเหรียญไต้หวันนั้น เป็นผลประกอบการของผู้ประกอบการในนิคมวิทยาศาสตร์ซินจู๋ 1,243,915 ล้านเหรียญไต้หวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.95 นิคมวิทยาศาสตร์ภาคกลาง มูลค่า 935,979 ล้านเหรียญไต้หวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.40 นิคมวิทยาศาสตร์ภาคใต้ มูลค่า 847,731 ล้านเหรียญไต้หวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.06 โดยในส่วนของนิคมวิทยาศาสตร์ซินจู๋ ได้รับแรงกระตุ้นจากผลประกอบการของผู้ออกแบบ IC และผู้ผลิตชิป ประกอบกับผลประกอบการของสินค้าอุปกรณ์สื่อสารและเครือข่ายก็พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ สำหรับนิคมวิทยาศาสตร์ภาคกลาง ได้รับอานิสงส์จากความต้องการในส่วนของการทำงานจากระยะไกล เทคโนโลยี 5G และชิปประมวลผลประสิทธิภาพสูง อีกทั้งแผ่นเวเฟอร์สำหรับผลิตชิปขนาด 7 นาโนก็มีความต้องการสูงเช่นกัน ด้านนิคมวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ได้รับประโยชน์จากการที่ทั่วโลกเกิดภาวะขาดแคลนชิป พร้อมนี้การผลิตชิประดับ 5 นาโนภายในนิคม ก็มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

สำหรับมูลค่าส่งออกรวมที่ 2,401,606 ล้านเหรียญไต้หวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.19 จากปี 2019 เนื่องจากมีการนำเอาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบ 5G , AIoT และเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้กับผลิตภัณฑ์มากขึ้น ทำให้ปริมาณความต้องการในตลาดโดยรวมของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ IC เพิ่มสูงขึ้น และการขยายตัวอย่างรวดเร็วของตลาดเซมิคอนดักเตอร์ ทั้งนี้ การส่งออกของนิคมวิทยาศาสตร์ซินจู๋ คิดเป็นมูลค่า 1,354,900 ล้านเหรียญไต้หวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.40 นิคมวิทยาศาสตร์ภาคกลาง มูลค่า 537,526 ล้านเหรียญไต้หวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.25 นิคมวิทยาศาสตร์ ภาคใต้ มูลค่า 509,180 ล้านเหรียญไต้หวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.79 นอกจากนี้ มูลค่านำเข้าก็เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มีการลงทุนเพื่อยกระดับการผลิตให้มีเทคโนโลยีสูงขึ้น จึงต้องจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ทำให้การนำเข้ารวมของนิคมวิทยาศาสตร์ทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 891,639 ล้านเหรียญไต้หวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.11