ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
กต.ไต้หวันขอบคุณประธานร่วม “สโมสรฟอร์โมซา” ของกลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรป ที่รวบรวมสมาชิกรัฐสภาพันกว่าคนให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมการประชุม WHA ผ่านการลงนามยื่นหนังสือเรียกร้องต่อผู้บริหาร WHO
2021-05-14
New Southbound Policy。กต.ไต้หวันขอบคุณประธานร่วม “สโมสรฟอร์โมซา” ของกลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรป ที่รวบรวมสมาชิกรัฐสภาพันกว่าคนให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมการประชุม WHA ผ่านการลงนามยื่นหนังสือเรียกร้องต่อผู้บริหาร WHO (ภาพจากเฟซบุ๊กของกระทรวงการต่างประเทศ)
กต.ไต้หวันขอบคุณประธานร่วม “สโมสรฟอร์โมซา” ของกลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรป ที่รวบรวมสมาชิกรัฐสภาพันกว่าคนให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมการประชุม WHA ผ่านการลงนามยื่นหนังสือเรียกร้องต่อผู้บริหาร WHO (ภาพจากเฟซบุ๊กของกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 13 พ.ค. 64
 
เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ประธานร่วม “สโมสรฟอร์โมซา”(Formosa Club) ของกลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรป ได้ทำหน้าที่เป็นแกนนำรวบรวมสมาชิกรัฐสภายุโรป และสมาชิกรัฐสภาของกลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรปกว่า 30 ประเทศ รวม 1,084 คน ร่วมลงนามยื่นหนังสือเรียกร้องต่อนายแพทย์ ทีโดรส อัดฮานอม กีเบรเยซุ (Tedros Adhanom Ghebreyesus) เลขาธิการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) พร้อมแจ้งความประสงค์ในการสนับสนุนไต้หวันในครั้งนี้ไปยัง Mr. Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรป (EU) และ Mr. Josep Borrell ผู้แทนระดับสูงของ EU ด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้ WHO ส่งจดหมายเชิญไต้หวันเข้าร่วมในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ประจำปี 2021 ที่มีกำหนดการจัดขึ้นในเดือนพ.ค. นี้ รวมไปถึงการประชุม กลไกและกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของ WHO ด้วย กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) รู้สึกยินดีและขอบคุณสำหรับพลังเสียงสนับสนุนอันแข็งแกร่งอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนของกลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรปที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน
 
เหล่าสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมลงนามในครั้งนี้ แถลงว่า นับตั้งแต่ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ได้ลุกลามไปทั่วโลก ไต้หวันนอกจากจะสำแดงให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาดที่ยอดเยี่ยมแล้ว ยังได้ยื่นมือให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศอื่นๆ อย่างกระตือรือร้น ตราบจนปัจจุบัน ไต้หวันได้บริจาคเวชภัณฑ์การป้องกันโรคระบาดและหน้ากากอนามัยจำนวน 54 ล้านชิ้นให้กับ 80 กว่าประเทศทั่วโลกแล้ว การกีดกันไม่ให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การอนามัยโลก ไม่เพียงแต่เป็นการลิดรอนสิทธิมนุษยชนของประชาชนชาวไต้หวัน ทั้งยังเป็นการขัดขวางไม่ให้ไต้หวันได้รับโอกาสในการสร้างคุณประโยชน์ให้กับประชาคมโลก ด้วยการแบ่งปันประสบการณ์ด้านการป้องกันโรคระบาด พร้อมนี้ เหล่าสมาชิกรัฐสภายังได้ให้การยืนยันว่า การเข้าร่วม WHO ของไต้หวันไม่ใช่เกมภูมิรัฐศาสตร์ แต่ควรเป็นประเด็นที่หลีกเลี่ยงการแทรกแซงจากปัจจัยทางการเมือง ด้วยเหตุนี้ บรรดาสมาชิกรัฐสภาจึงได้เรียกร้องให้ นพ. ทีโดรส เร่งส่งจดหมายเชิญให้ไต้หวันเข้าร่วมการประชุม WHA ในฐานะผู้สังเกตการณ์ โดยการประชุมมีกำหนดการจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 24 พ.ค. – 1 มิ.ย. พร้อมเปิดโอกาสให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในการประชุม กลไกและกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของ WHO
 
การยื่นหนังสือเรียกร้องต่อนพ. ทีโดรสในครั้งนี้ มีบุคคลสำคัญทางการเมืองหลายท่านร่วมให้การสนับสนุนลงนาม ประกอบด้วย รองประธานรัฐสภา EU รวม 3 คน ประกอบด้วย Ms. Nicola Beer สัญชาติเยอรมัน Ms. Heidi Hautala สัญชาติฟินแลนด์ และ Mr. Fabio Massimo Castaldo สัญชาติอิตาลี รวมถึง Ms. Nathalie Delattre และ Mr. Vincent Delahaye รองประธานรัฐสภาแห่งวุฒิสภาฝรั่งเศส และ Mr. Milan Laurencik และ Mr. Gabor Grendel รองประธานรัฐสภาแห่งสาธารณรัฐสโลวัก และสมาชิกรัฐสภาระดับอาวุโสอีกหลายท่าน แสดงให้เห็นว่า การให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วม WHO นับเป็นฉันทามติร่วมกันระหว่างรัฐสภาแบบข้ามพรรคของกลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรป
 
กต.ไต้หวันเรียกร้องให้ WHO ตระหนักถึงเสียงกระแสหลักของประชาคมโลก โดยเร่งเชิญให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในการประชุม WHA เพื่อให้ไต้หวันได้มีส่วนร่วมในการอุทิศคุณประโยชน์ด้านสุขภาพและสวัสดิการให้กับมวลมนุษยชาติสืบไป