ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกต.ไต้หวัน สหรัฐฯ และ EU เข้าร่วมการประชุมออนไลน์เชิงพหุภาคีที่จัดโดยกองทุน GMF ว่าด้วยการส่งเสริมให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศ
2021-05-28
New Southbound Policy。เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกต.ไต้หวัน สหรัฐฯ และ EU เข้าร่วมการประชุมออนไลน์เชิงพหุภาคีที่จัดโดยกองทุน GMF ว่าด้วยการส่งเสริมให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศ (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกต.ไต้หวัน สหรัฐฯ และ EU เข้าร่วมการประชุมออนไลน์เชิงพหุภาคีที่จัดโดยกองทุน GMF ว่าด้วยการส่งเสริมให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศ (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 27 พ.ค. 64
 
เมื่อวันที่ 26 พ.ค. นางสวีลี่เหวิน เลขาธิการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) Ms. Jennifer Hendrixson White ที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบายในกลุ่มผู้แทนสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ (UN) และ Mr. Filip Grzegorzewski ผู้แทนสหภาพยุโรปประจำไต้หวัน ได้เข้าร่วม “การประชุมออนไลน์เชิงพหุภาคี ว่าด้วยการส่งเสริมให้ไต้หวันเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศ” ที่จัดขึ้นโดยกองทุนเยอรมัน มาร์แชลล์ (German Marshall Fund of the United States, GMF) ซึ่งเป็นคลังสมองของสหรัฐอเมริกา โดยทั้ง 3 ฝ่ายได้ร่วมอภิปรายหารือกันถึงแนวทางการประสานความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อช่วยส่งเสริมให้ไต้หวันสามารถเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศ
 
นางสวีฯ กล่าวว่า ในปีนี้ เป็นครั้งแรกที่ที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนําระดับโลก 7 ประเทศ (Group of Seven, G7) ได้ประกาศสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วมองค์การอนามัยโลก (WHO) และการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) อย่างเปิดเผย โดยแผนผลักดันเพื่อเข้าร่วมการประชุม WHA ของไต้หวัน ก็ยังได้รับการสนับสนุนจากประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันเพิ่มมากขึ้น ทำให้ชาวไต้หวันมีกำลังใจเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ขณะนี้ไต้หวันถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมการประชุมด้านเทคนิคทางการแพทย์ของ WHO ในทุกทาง ซึ่งตราบจนปัจจุบันไต้หวันยังมิได้ถูกรับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ ทั้งนี้ ตามญัตติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UN) ฉบับที่ 2758 ในปี 1971 ได้มีการระบุถึงปัญหาเฉพาะในประเด็น “สิทธิ์อันชอบธรรมในการเป็นตัวแทนของจีนในเวทีสหประชาชาติ” เท่านั้น แต่ไม่ได้มีการระบุถึงไต้หวันเลยแม้แต่น้อย ประกอบกับ UN และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างตีความญัตติดังกล่าวอย่างไม่เหมาะสม และนำมาอ้างอิงเพื่อใช้กีดกันไม่ให้ไต้หวันเข้าร่วมมาเป็นระยะเวลานาน อีกทั้งยังปฏิเสธการยอมรับหนังสือเดินทางสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเข้าร่วมการประชุม UN ของกลุ่มเอกชนไต้หวัน จึงคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน จะร่วมกันกระตุ้นให้ระบบ UN ทำการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว
 
Ms. White กล่าวว่า สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมการประชุม WHA และการประชุมด้านเทคนิคทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องของ WHO มาเป็นระยะเวลานาน จึงรู้สึกยินดีที่ได้เห็นว่า มีประเทศที่ร่วมแสดงความห่วงใยต่อไต้หวันที่ได้รับการกีดกันอย่างไม่ยุติธรรมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกล่าวว่าสหรัฐฯ จะร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันต่อไป และจะส่งเสริมให้ประเทศพันธมิตรร่วมให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ Mr. Grzegorzewski ยังได้ระบุว่า EU และไต้หวันยึดมั่นในค่านิยมสากลร่วมกันในด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยไต้หวันนับเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือที่สำคัญของ EU ในหลายภาคส่วน ประเทศสมาชิก EU รวม 27 ประเทศต่างให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมอย่างเป็นรูปธรรมในองค์การระหว่างประเทศ ตลอดจนจะร่วมเสริมสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุขในเชิงลึกกับไต้หวันต่อไป
 
กองทุน GMF เป็นหน่วยงานที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญในประเด็นที่สหรัฐฯ และ EU ให้ความสนใจร่วมกัน ประกอบด้วย ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน  และความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นต้น โดยได้จัด “การประชุมแบบพหุภาคีระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ และ EU” ขึ้นเป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งได้ติดต่อเชิญตัวแทนจากภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาควิชาการจากไต้หวัน สหรัฐฯ และ EU เข้าร่วมการประชุม โดยการประชุมรูปแบบออนไลน์ในครั้งนี้ มี Mr. Bonnie Glaser หัวหน้าโครงการเอเชียแปซิฟิกดำเนินหน้าที่เป็นประธาน โดยมีผู้ติดตามรับชมเกือบ 120 คน