สภาตรวจสอบ วันที่ 23 มิ.ย. 64
เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา นางสาวเฉินจวี๋ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กล่าวว่า วันที่ 26 มิ.ย. ของทุกปีจะตรงกับวันต่อต้านการทรมานสากล (International Day in Support of Victims of Torture) โดย “อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน” ที่ประกาศโดยองค์การสหประชาชาติ นับเป็นหนึ่งในอนุสัญญาหลักในด้านสิทธิมนุษยชนที่ได้รับความสำคัญในระดับนานาชาติ โดยนส.เฉินฯ หวังว่าสภานิติบัญญัติ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จะเร่งลงมติผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยแนวทางการต่อต้านการทรมาน พร้อมทั้งจัดตั้งกลไกการป้องกันและปราบปรามบทลงโทษที่โหดร้ายและทรมาน เพื่อร่วมกัน SAY NO ต่อการลงโทษที่ทารุณและไร้ซึ่งมนุษยธรรม
นส. เฉินฯ กล่าวว่า แม้ว่าไต้หวันจะเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มุ่งมั่นในการเสริมสร้างหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชน และยกเลิกบทลงโทษที่ทารุณที่เคยมีในสมัยถูกปกครองด้วยอำนาจเผด็จการ แต่การทรมานในความหมายเชิงกว้าง ยังประกอบด้วย การถูกกระทำอันไร้ซึ่งมนุษยธรรม โดยเฉพาะกับแรงงานในภาคการประมงที่ต้องออกหาปลาในน้ำทะเลลึก มักจะประสบปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนอยู่บ่อยครั้ง ด้วยเหตุนี้ จึงหวังว่าการร่วมแบ่งปันประสบการณ์และการระดมความคิดในระดับนานาชาติของการสัมมนาครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยในการหาแนวทางป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เดิมที คกก.สิทธิมนุษยชนแห่งชาติไต้หวันได้เตรียมจัด “การสัมมนาด้านการป้องกันการลงโทษแบบทารุณและการปกป้องสิทธิมนุษยชนของแรงงานในภาคประมง” โดยจัดให้มีการประชุมรวม 3 รอบภายใต้หัวข้อที่แตกต่างกัน แต่เนื่องจากปัจจัยของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการจัดการประชุมนานาชาติผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แทน
เฉินฯ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งนิวซีแลนด์ ได้ตอบรับคำเชิญเพื่อมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแนวทางการบริหารกลไกการป้องกันและปราบปรามการทรมานของ The National Preventive Mechanism (NPM) แห่งนิวซีแลนด์ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับใช้ในการอ้างอิงในภายภาคหน้าต่อไป
นายหลัวปิ่งเฉิง รัฐมนตรีประจำสภาบริหารและโฆษกสภาบริหาร ได้รับเชิญให้ร่วมกล่าวปราศรัย โดยชี้ว่า สภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้มีมติผ่าน “ร่างกฎหมายว่าด้วยแนวทางการต่อต้านการทรมาน” เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ปี 2020 ซึ่งตรงกับวันสิทธิมนุษยชนสากล โดยสภาบริหารได้ยื่นเสนอญัตติดังกล่าว รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights, ICCPR) ไปยังสภานิติบัญญัติแล้ว ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติ
ต่อกรณีสิทธิมนุษยชนของแรงงานในภาคประมง รมว.หลัวฯ กล่าวว่า ไต้หวันถูกล้อมรอบด้วยทะเลทั้ง 4 ด้าน อุตสาหกรรมการประมงจึงนับเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของไต้หวัน ในช่วงที่ผ่านมา การว่าจ้างแรงงานต่างชาติในการทำประมงในเขตนอกน่านน้ำของไต้หวัน ประสบกับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนมากมาย ซึ่งรัฐบาลไต้หวันขอขอบคุณกลุ่มสิทธิมนุษยชนนานาชาติที่ได้ให้คำชี้แนะที่เป็นประโยชน์ โดยในวันสิทธิมนุษยชนสากลปีที่แล้ว สภาบริหารได้ลงมติผ่าน “แผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนและการประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ” โดยคาดหวังให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบในด้านหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรมด้วยเช่นกัน