ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รองปธน.ไล่ฯ กล่าวปราศรัยในการประชุม “2021 อาเซียนใหม่ นักธุรกิจไต้หวันใหม่ โอกาสใหม่” ผ่านการบันทึกวีดิทัศน์ล่วงหน้า
2021-09-09
New Southbound Policy。รองปธน.ไล่ฯ กล่าวปราศรัยในการประชุม “2021 อาเซียนใหม่ นักธุรกิจไต้หวันใหม่ โอกาสใหม่” ผ่านการบันทึกวีดิทัศน์ล่วงหน้า (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
รองปธน.ไล่ฯ กล่าวปราศรัยในการประชุม “2021 อาเซียนใหม่ นักธุรกิจไต้หวันใหม่ โอกาสใหม่” ผ่านการบันทึกวีดิทัศน์ล่วงหน้า (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 8 กันยายน 2564
 
เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา รองประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ แห่งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กล่าวปราศรัยผ่านการบันทึกวีดิทัศน์ล่วงหน้าในการประชุม “2021 อาเซียนใหม่ นักธุรกิจไต้หวันใหม่ โอกาสใหม่” โดยชี้ว่า เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการไต้หวันในการกระจายฐานการผลิตในต่างประเทศ อันจะเป็นการลดการพึ่งพาตลาดแห่งใดแห่งหนึ่งมากเกินไป รัฐบาลจึงได้ผลักดันนโยบายมุ่งใต้ใหม่อย่างเต็มที่ ในรูปแบบการสร้างความร่วมมือเพื่อจุดหมายในการสร้างประโยชน์ร่วมกันกับประเทศอาเซียน เอเชียใต้ และนิวซีแลนด์ ซึ่งรัฐบาลจะให้ความสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการไต้หวันอย่างเต็มกำลังในการวางกลยุทธ์เพื่อขยายตลาดไปทั่วโลก
 
คำปราศรัยของรองประธานาธิบดีสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ :
 
ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ทำให้หลายประเทศตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีฐานการผลิตในต่างประเทศแห่งที่ 2 นอกจากจีน ซึ่งทั้งประเทศอาเซียนและอินเดียได้กลายมาเป็นตัวเลือกแรกๆ ของเหล่าผู้ประกอบการของแต่ละชาติ อีกทั้งการคุกคามจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การลงทุนในภูมิภาคนี้ ทั้งรวดเร็วขึ้นและมีการขยายตัวมากขึ้น
 
หลังจากประธานาธิบดีไช่อิงเหวินขึ้นรับตำแหน่งในปี 2016 ได้ผลักดัน “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” อย่างเต็มกำลัง เพื่อสร้างความร่วมมือในแบบมีผลประโยชน์ร่วมกับเหล่าประเทศอาเซียน เอเชียใต้ และนิวซีแลนด์ พร้อมทั้งกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับประเทศโดยรอบให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น
 
นอกจากนี้ รัฐบาลก็พยายามอย่างเต็มที่ที่จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) โดยนอกจากจะทำการแก้ไขปรับปรุงข้อกฎหมายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่มต่างๆ ในประเทศอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจร่วมกับประเทศสมาชิกของ CPTPP และการประชุมระดับทวิภาคีที่มีอยู่ รวมถึงผ่านทาง APEC เพื่อให้สมาชิกของ CPTPP ให้ความสนับสนุนไต้หวัน
 
รัฐบาลยังได้พยายามให้ความช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมในการวางกลยุทธ์ทางการตลาดสำหรับยุคหลังโควิด-19 บนพื้นฐานของ “นโยบายอุตสาหกรรมนวัตกรรม 5+2” พร้อมทั้งพัฒนา “6 อุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์หลัก” เพื่อยกระดับความสำคัญของไต้หวันในระบบห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
 
ข้าพเจ้าขอใช้โอกาสนี้ในการเรียกร้องให้เหล่านักธุรกิจไต้หวันทั่วโลกหันมาฝังรากในไต้หวัน ซึ่งไม่เพียงถือเป็นการสร้างความเหนียวแน่นให้กับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมในประเทศ แต่ยังเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่เป็นแบรนด์ข้ามชาติทั้งหลายด้วย
 
ในช่วงเวลาสำคัญที่ทั่วโลกกำลังอยู่ระหว่างการจัดระเบียบของห่วงโซ่อุปทานขึ้นใหม่นี้ รัฐบาลจะระมัดระวังและพยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำให้เศรษฐกิจของไต้หวันมีการขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ และให้ความสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการไต้หวันอย่างเต็มกำลังในการวางกลยุทธ์เพื่อขยายตลาดไปทั่วโลก