ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ขุดค้นจินตนาการที่มีต่อบ้าน ไฮว๋เต๋อจวี โรงเรียนสอนงานไม้ที่สวยที่สุดของไต้หวัน
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2021-10-18

หลินตงหยางเห็นว่า แม้งานไม้จะเป็นศิลปะดั้งเดิม แต่ควรมีการสร้างคุณค่าใหม่เพิ่มขึ้น

หลินตงหยางเห็นว่า แม้งานไม้จะเป็นศิลปะดั้งเดิม แต่ควรมีการสร้างคุณค่าใหม่เพิ่มขึ้น
 

หากพิจารณาจากสภาพแวดล้อมของบ้านและการตกแต่งภายใน ก็จะรู้ได้ว่าเจ้าของบ้านมีความรู้สึกกับบ้านอย่างไร เก้าอี้ยาวจากไม้วอลนัทที่เป็นงานแฮนด์เมด แสดงให้เห็นถึงสุนทรียศาสตร์แบบเรียบง่ายและความประณีตบรรจงของช่างฝีมือ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์แบบแฮนด์เมดของไต้หวันที่กำลังค่อยๆ หมดไป กลับเฟื่องฟูรุ่งเรืองอีกครั้งอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน หลังการก่อตั้งของโรงเรียนงานไม้ไฮว๋เต๋อจวีเมื่อ 15 ปีก่อน ได้สร้างบุคลากรที่เป็นช่างไม้รุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นจำนวนไม่น้อย พวกเขาเหล่านี้ต่างก็มีภูมิหลังด้านการออกแบบและศิลปะที่ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของไต้หวัน สามารถฝ่าฟันอุปสรรคและก้าวสู่โอกาสแห่งอนาคตใหม่

 

วัดเส้าหลินแห่งงานไม้

นักเรียนบางคนของโรงเรียนไฮว๋เต๋อจวี (HDG Non-Profit Experimental Woodworking School : HDG-NEWS) เปรียบโรงเรียนแห่งนี้ว่าเป็น “วัดเส้าหลินแห่งงานไม้” ทุกครั้งที่เดินทางไปเข้าเรียนที่สาขาหลินโข่ว จะต้องเดินขึ้นภูเขา ผ่านเส้นทางคดเคี้ยว ก่อนจะไปถึงประตูโรงเรียนที่อยู่ใต้ดงไม้หนาทึบ เมื่อผลักประตูเปิดเข้าไป จะพบกับห้องเรียนอันโอ่โถง เฟอร์นิเจอร์แบบต่างๆ ที่เป็นผลงานของนักเรียน ถูกวางเรียงรายเอาไว้ นั่นคือภาพแห่งจินตนาการที่พวกเขาเหล่านั้นมีต่อบ้าน วัตถุประสงค์หลักของโรงเรียนแห่งนี้ คือการปล่อยให้นักเรียนได้สนุกกับการทำงานไม้ และสร้างสรรค์ไอเดียแห่งการใช้ชีวิตในแบบฉบับของตัวเอง

หลินตงหยาง (林東陽) ผู้ก่อตั้ง ได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มเพื่อนฝูงที่สนใจและอยากเรียนรู้เกี่ยวกับงานไม้ จึงดัดแปลงโรงเลี้ยงหมูในบ้านเดิมให้กลายมาเป็นโรงเรียนสอนงานไม้ และนำเอาชื่อของบ้านโบราณที่เรียกว่า “ไฮว๋เต๋อจวี” มาใช้เป็นชื่อโรงเรียน

หลินตงหยางยึดโรงเรียน St. Joseph Technical Senior High School ซึ่งเป็นโรงเรียนสายอาชีวะที่เมืองไถตงเป็นต้นแบบ โดยหวังจะสร้างโรงเรียนที่สอนเกี่ยวกับงานไม้ในรูปแบบลูกศิษย์ฝากตัวกับอาจารย์เพื่อเรียนวิชา ซึ่งนักเรียนแต่ละคนจะสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นของตัวเองและไม่เหมือนใครภายใต้การชี้แนะของอาจารย์ อันจะแตกต่างจากการทำงานฝีมือที่เป็นงานไม้ของโรงเรียนทั่วไป ที่นักเรียนทุกคนจะต้องทำผลงานตามที่กำหนดไว้เหมือนกันทั้งหมด

ในช่วงปลายปีค.ศ.2019 โรงเรียนไฮว๋เต๋อจวีได้ขยายเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานไม้มากขึ้น โดยมหาวิทยาลัยไทเปได้จัดเตรียมที่ดินไว้ให้ 550 ผิง (ประมาณ 1.15 ไร่) โดยหลินตงหยางได้ระดมเงินบริจาคจำนวน 35 ล้านเหรียญไต้หวัน มาใช้ในการสร้าง “ฐานทัพช่างไม้ (Woodworking Complex, HDG)” ขึ้น เบื้องหลังแห่งความพยายามของหลินตงหยาง นอกจากหวังว่าจะช่วยให้เหล่าช่างไม้ของไต้หวันหลุดพ้นจากวังวนความเป็นช่างซ่อมเฟอร์นิเจอร์ไปสู่ทางเดินใหม่แล้ว ยังหวังว่าอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์จะมีการถนอมวัสดุไม้ที่ได้มาอย่างยากลำบาก “ต้นไม้คือวัสดุจากธรรมชาติ ไม่ควรจะถูกปฏิบัติด้วยการผลิตออกมาในจำนวนมากตามวิถีทางของอุตสาหกรรม ต้นไม้ที่มีอายุนับร้อยปีต้นหนึ่ง ก็ควรจะได้รับการปฏิบัติที่ดี เอามาใช้ในการผลิตอย่างพิถีพิถัน เพื่อไม่ให้มันต้องชำรุดเสียหายในระยะเวลาอันสั้น”

 

Lo Lat Furniture and Objects:นักออกแบบผันชีวิตเข้าสู่การเป็นช่างไม้

เฉินอี้ฟู (陳奕夫) ผู้ก่อตั้ง Lo Lat Furniture and Objects ซึ่งตั้งอยู่ในนครไทจง เคยมาร่ำเรียนที่ไฮว๋เต๋อจวีเป็นเวลา 2 ปี เฉินอี้ฟูเรียนจบด้านการออกแบบในระดับปริญญาตรี หลังจบการศึกษาแล้วก็ทำงานเป็นนักออกแบบให้กับผลิตภัณฑ์ไฮเทค หากแต่ภายในใจก็ยังมีความรู้สึกโหยหาการทำงานไม้อยู่ตลอดเวลา มีอยู่ปีหนึ่ง ในระหว่างที่เดินทางไปท่องเที่ยวที่ญี่ปุ่น ได้เกิดความรู้สึกประทับใจในเก้าอี้ไม้ที่ผลิตขึ้นจากในท้องที่มาก หลังจากเดินทางกลับมาไต้หวันแล้ว จึงได้เริ่มเสาะหาว่าจะสามารถไปเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานไม้ได้กับหน่วยงานใด

เฉินอี้ฟูต้องไปทำงานในวันธรรมดา เขาจึงใช้เวลาในช่วงวันหยุดไปเข้าเรียนที่ไฮว๋เต๋อจวี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขาไม่ต้องข้องแวะกับคีย์บอร์ดและกระโดดออกจากกรอบของจอคอมพิวเตอร์ และได้ใช้ดวงตากับมือทั้งสองข้างในการสัมผัสกับไม้ แต่ละครั้งที่ลงมีดแกะสลักทำให้เข้าใจถึงเส้นบางๆ ของความแตกต่างระหว่างงานไม้กับการออกแบบ “แต่ก่อนขอเพียงใช้เมาส์ก็จะสามารถทำแบบจำลองออกมาได้ แต่หลังจากได้มาเรียนการทำงานไม้แล้ว ถึงได้รู้ว่าจะต้องเผื่อไม้เอาไว้ตรงบริเวณหัวมุมของชิ้นงานด้วย” เขาคิดว่าการได้มีโอกาสลงมือทำจริงๆ จะช่วยให้นักออกแบบมีความเข้าใจในปัญหาและความท้าทายของการทำเป็นผลิตภัณฑ์ออกมาจริงๆ

ภายใต้การชี้แนะของอาจารย์อาเซิน (阿森老師) ที่ไฮว๋เต๋อจวี ทำให้เฉินอี้ฟูค่อยๆ มีความเข้าใจในโครงสร้างของเฟอร์นิเจอร์ไม้ มีอยู่ครั้งหนึ่ง เขาได้มีโอกาสพบเห็น “เก้าอี้นกยูง” ที่บ้านของคุณยาย ซึ่งแม้ว่าโครงสร้างของมันจะถือได้ว่ามีความสมบูรณ์ หากแต่ในส่วนของน้ำหนักและรูปลักษณ์แล้ว เขารู้สึกว่ายังสามารถทำให้ดีกว่านี้ได้อีก หลังจากได้รับการชี้แนะจากหลินตงหยาง เขาจึงทำการดัดแปลงเก้าอี้นกยูงให้กลายเป็น “Hirundo Chair” หรือ “เก้าอี้นกนางแอ่น”

ในปีค.ศ.2013 เฉินอี้ฟูและสวี่เจียอวี้ (許家毓) แฟนสาวของเขา พร้อมกับเพื่อนๆ ที่เป็นนักออกแบบหลายคน ได้ร่วมกันจัดแสดงของใช้ในบ้านที่ออกแบบกันเองในสัปดาห์นักออกแบบ ผลตอบรับจากผู้ที่มาเข้าชมทำให้พวกเขามีความมั่นใจที่จะสร้างเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ไต้หวันขึ้น พอดีกับที่ในช่วงปลายปีนั้น มีสตูดิโองานไม้ของเพื่อนกำลังอยากจะขาย เฉินอี้ฟูจึงอาศัยโอกาสนี้ซื้อสตูดิโอแห่งนี้มา พร้อมทั้งลาออกจากงานเดิมในปีถัดมา เพื่อทุ่มเทอย่างเต็มที่ให้กับการก่อร่างสร้างตัวของ Lo Lat Furniture and Objects

ปัจจุบัน Lo Lat Furniture and Objects จะผลิตสินค้าตามความต้องการของลูกค้า โดยลูกค้าสามารถเลือกขนาดและวัสดุไม้ที่ต้องการได้ตามชอบใจ ทุกบ่ายวันเสาร์ผู้บริโภคก็สามารถไปที่โรงงานของบริษัทซึ่งอยู่ในนครไทจง เพื่อชมดูกระบวนการผลิตเฟอร์นิเจอร์และผลงานที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว “เมื่อผู้ซื้อกับผู้ขายมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ของที่จะซื้อจะขายจึงมีความหมายเป็นพิเศษ” สวี่เจียอวี้เห็นว่า เมื่อลูกค้าได้เห็นว่า เฟอร์นิเจอร์ค่อยๆ ถูกทำออกมาภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง จะทำให้เฟอร์นิเจอร์ชิ้นนี้ถูกประทับไว้ด้วยความทรงจำและความรู้สึก เมื่อพนักงานของ Lo Lat ได้เห็นหน้าค่าตาของลูกค้า ก็จะสามารถจินตนาการได้ถึงภาพของเฟอร์นิเจอร์ที่ถูกใช้งานอยู่ในบ้านของลูกค้า ทำให้เกิดความคาดหวังในขณะที่ทำเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนี้ ซึ่งจะเป็นความรู้สึกที่ไม่เหมือนกับเป็นหุ่นยนต์ที่ผลิตสินค้าออกมาอย่างไม่หยุดหย่อน

ในภาวะปัจจุบันของไต้หวัน ที่ให้ความสำคัญกับงานออกแบบแต่ไม่ใส่ใจงานไม้ เฉินอี้ฟูเห็นว่า “ทั้งสองฝ่ายต้องให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ควรจะอวดดี นักออกแบบที่อยากแสดงให้เห็นถึงความสามารถของตัวเอง ก็ต้องบอกกับช่างไม้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับแนวคิดในการออกแบบของตัวเอง และยังต้องเข้าใจในวัสดุไม้ชิ้นนั้นๆ ด้วยว่า ต้องใช้เทคนิคแบบใดหรือมีข้อจำกัดประการใด” เขาเห็นว่า ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของไต้หวัน ขาดความเข้าใจที่ดีระหว่างการออกแบบกับช่างไม้มาอย่างยาวนาน ทำให้ในการพูดคุยระหว่างนักออกแบบที่เป็นคนหนุ่มสาว กับช่างไม้ที่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่อายุมากกว่า มักจะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นเป็นประจำ และนี่ก็คือปัญหาและความท้าทายที่อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ในไต้หวันต้องพยายามเอาชนะและก้าวข้ามผ่านมันไปให้ได้

 

even studio : นำประสบการณ์ของชีวิตมาใช้ในการออกแบบ

อู๋อี๋เหวิน (吳宜紋) ผู้ก่อตั้ง even studio เคยชนะเลิศการประกวดงานหัตถศิลป์ไต้หวันในปีค.ศ.2010  จากผลงานที่มีชื่อว่า “Cookie Stool” หรือ “เก้าอี้คุกกี้” ผลงานที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองชิ้นนี้สะดุดตาผู้ชมเป็นอย่างมาก

อู๋อี๋เหวินมีความตระหนักต่อการใช้วัสดุไม้อย่างคุ้มค่า จึงชอบไปเสาะหาไม้เก่าๆ จากร้านขายไม้เก่า มาใช้ในการทำงาน มีอยู่วันหนึ่ง ในระหว่างที่กำลังไสหน้าไม้ของไม้เก่าออก เธอพบว่าเศษไม้ที่ปลิวออกมาดูแล้วเหมือนกับเศษคุกกี้ จึงทำให้เกิดเป็นไอเดียในการทำเก้าอี้คุกกี้ขึ้น ผลงานชิ้นนี้ได้นำเอาจุดตำหนิของไม้เก่ามาเป็นส่วนหนึ่งของชิ้นงาน รอยแหว่งบนเนื้อไม้ ก็เหมือนกับรอยกัดที่อยู่บนคุกกี้ ทำให้มีความเป็นธรรมชาติและมีชีวิตชีวาเป็นอย่างมาก

อู๋อี๋เหวินบอกว่า “ผลงานของดิฉันแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ: ความทรงจำในวัยเด็ก การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตัวหนังสือและผลงาน 3 มิติ แล้วก็วัฒนธรรมป็อป” ขณะที่อู๋อี๋
เหวินศึกษาอยู่ในระดับปริญญาโทของมหาวิทยาลัยศึกษาศาสตร์ไทเป (National Taipei University of Education) ในระหว่างการพูดคุยกับอาจารย์ทำให้เธอรู้อย่างชัดเจนถึงบริบทในการสร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง และการที่เธอมีภูมิหลังและมีความเข้าใจในศิลปะ ทำให้งานไม้ของเธอมีความหลากหลายเป็นอย่างมาก นอกจากในด้านโครงสร้างแล้ว ยังมีแนวคิดของการออกแบบที่แอบแฝงอยู่ด้วย

“เก้าอี้คุกกี้มีความเกี่ยวพันกับความทรงจำในวัยเด็กของดิฉัน ตอนเด็กๆ อยู่ที่บ้านก็จะไม่ได้กินคุกกี้ ก็เลยไปขอเพื่อนกินที่โรงเรียน นึกย้อนอดีตทีไร ก็รู้สึกเกลียดสภาพเช่นนั้น” อู๋อี๋เหวินใช้ผลงานของเธอในการบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง สำหรับผลงานอีกชิ้นหนึ่ง คือ “โทรทัศน์ของเด็กประถม” ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากความรู้สึกในวัยเด็กที่รู้สึกหลงใหลในโทรทัศน์เป็นอย่างมาก จนทำให้หลงลืมสิ่งที่คุณพ่อสั่งเอาไว้หลายต่อหลายครั้ง ดังนั้น บนตู้ที่ถูกออกแบบให้ดูเหมือนเครื่องรับโทรทัศน์ จึงมีกระดานดำเล็กๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถจดบันทึกสิ่งที่จะต้องทำเอาไว้บนนั้น ซึ่งก็เหมือนกับเป็นการแสดงให้เห็นถึงการแก้ปัญหาให้กับตัวเองเมื่อวัยเด็กของเธอเช่นกัน

เมื่อย้อนรำลึกถึงช่วงเวลา 8 ปี ที่ฝึกฝนตัวเองอยู่ที่ไฮว๋เต๋อจวี อู๋อี๋เหวินบอกว่า “ความรู้ของที่นั่น เรียนยังไงก็ไม่หมด” ตอนที่เธอเรียนจบจากมหาวิทยาลัย แม้จะมีพื้นฐานด้านงานไม้มาบ้างแล้ว หากแต่ในส่วนของเป้าหมายที่ตั้งไว้ในขณะที่สมัครเข้าเรียนต่อปริญญาโทที่ว่า จะสร้างแบรนด์งานไม้เป็นของตัวเอง เธอรู้ตัวดีว่ายังต้องพัฒนาด้านเทคนิคอีกมาก จึงขี่จักรยานยนต์มาที่หลินโข่ว เพื่อขอเรียนรู้จากไฮว๋เต๋อจวี ซึ่งหลังจากที่หลินตงหยางได้พบเด็กสาวที่มาขอฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อร่ำเรียนวิชา จึงรับเธอเป็นนักเรียนในทันที พร้อมส่งให้ไปเป็นลูกศิษย์ของอ.อาจื้อ (阿志老師) เพื่อฝึกฝนด้านงานไม้

อู๋อี๋เหวินเรียนรู้และฝึกฝนตัวเองอย่างไม่หยุดหย่อน ทำให้ในปัจจุบัน นอกจากจะรับงานผลิตสินค้าของตัวเองแล้ว ยังเป็นอาจารย์ประจำฐานทัพช่างไม้ของไฮว๋เต๋อจวีด้วย เริ่มตั้งแต่นำนักเรียนไปทำความรู้จักกับวัสดุ ก่อนจะค่อยๆ ทำความเข้าใจกับไม้ เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการนำมาทำเป็นชิ้นงาน เธอก็คิดแบบเดียวกับหลินตงหยางว่า ต้นไม้ต้องใช้เวลาหลายสิบปีในการเจริญเติบโต กว่าจะกลายมาเป็นวัสดุที่เหมาะสำหรับใช้งาน เมื่อต้องทำงานกับ “ชีวิตที่สูงวัย” เหล่านี้ จึงควรต้องมีความรู้สึกขอบคุณอยู่ภายในใจ ดังนั้น ทุกครั้งที่เธอทำงานจนเสร็จสมบูรณ์ ก็จะปลูกต้นไม้ต้นหนึ่งในบริเวณใกล้ๆ กับสตูดิโอของตัวเอง

ตลอดสองข้างทางบนเส้นทางที่ทอดไปยังไฮว๋เต๋อจวี มีแต่เงาไม้เขียวชอุ่มร่มรื่น นึกไม่ถึงเลยว่าในตอนแรก ต้นไม้เหล่านี้เกือบจะเหี่ยวเฉาและตายไปแล้ว ช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของไต้หวันได้รับพลังแห่งความสดใสและความมีชีวิตชีวาของคนหนุ่มสาว ถูกนำมาผสมผสานเข้ากับองค์ประกอบของศิลปะและการออกแบบ ทำให้เกิดเป็นเส้นทางใหม่ขึ้นมา เหล่าคนยุคใหม่เหล่านี้ก็พร้อมที่จะร่วมกันปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความเปลี่ยนแปลง ด้วยความหวังที่ว่าจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินแห่งนี้ได้ในอนาคตข้างหน้า