ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
วิถีชีวิตลดขยะเหลือศูนย์ เพลิดเพลินกับความสุขอย่างเรียบง่าย
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2021-12-20

วิถีชีวิตลดขยะเหลือศูนย์

 

บ้านของผู้เชี่ยวชาญด้านการลดขยะให้เหลือศูนย์ (Zero Waste) ไม่แตกต่างจากบ้านทั่วไป เพียงแต่พื้นที่ภายในบ้านมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและดูสบายตามากกว่า ซึ่งทัศนคติในการใช้ชีวิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเชื่อมั่นในตัวเอง ทำให้เราได้เห็นภาพของการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี

 

ช่วงเช้าวันศุกร์เราเดินทางมาถึงโรงแรมแมว Green Foot Cat Hotel ซึ่งบริหารงานโดยคุณหลวี่เจียหลิง (呂加零) กับคุณเซียวจวิ้นเยี่ยน (蕭俊彥) กิจวัตรของพวกเขาเริ่มขึ้นด้วยการหวีผม ล้างหน้า และแปรงฟัน ด้วยแปรงสีฟันไฟฟ้ากับเบกกิ้งโซดา เข้าห้องน้ำโดยใช้สายฉีดชำระกับผ้าสาลู ส่วนอาหารเช้าเป็นโยเกิร์ตโฮมเมดกับชาดำที่ต้มเอง ต่อจากนั้นก็ออกไปตลาดเพื่อซื้อวัตถุดิบ โดยของที่ซื้อทั้งหมดถูกบรรจุลงไปในภาชนะที่พกมาเอง มื้อกลางวันก็นำวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาปรุงเป็นอาหาร

โรงแรมแมวเปิดให้บริการแล้ว อาหารแมวของทางร้านจำหน่ายโดยไม่มีบรรจุภัณฑ์ ทรายแมวใช้ถังรีฟิลที่สามารถทำการเติมซ้ำได้ พอตกเย็นก็นำเหยือกแก้วไปใส่นมสดจากฟาร์ม รอเหล่าชาวเน็ตที่เลิกงานแล้วมารับสินค้า จากนั้นสองสามีภรรยาก็จะลงมือทำอาหารด้วยกัน และเพลิดเพลินไปกับช่วงเวลาของการรับประทานอาหารเย็น สุดท้ายคือการอาบน้ำด้วยสบู่เหลวจากมะนาวที่ทำขึ้นเอง เพื่อช่วยขจัดความรู้สึกเหนื่อยล้าจากทำงานมาทั้งวัน ไม่น่าเชื่อว่าตลอดวันได้สิ้นสุดลงไปโดยที่ไม่มีการสร้างขยะเลย

การผจญภัยครั้งใหญ่เพื่อทดสอบความกล้าหาญ

ก่อนที่จะฝึกใช้ชีวิตแบบไม่สร้างขยะ คุณหลวี่เจียหลิงถือเป็นนักช้อปตัวยง ก่อนเดินทางไปต่างประเทศทุกครั้ง ต้องสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าและให้ส่งไปไว้ที่โรงแรม ตลอดทริปจะซื้อของจนใส่ลงไปในกระเป๋าเดินทางได้ไม่หมด ถึงขั้นต้องซื้อกระเป๋าเดินทางใบใหม่

เธอที่เป็นแบบนี้ หลังจากได้สัมผัสการดำเนินชีวิตแบบลดขยะเป็นศูนย์ เรียกได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทั้งนี้ เมื่อปีค.ศ.2016 คุณหลวี่เจียหลิงได้เห็นเพื่อนโพสต์เฟซบุ๊กแชร์การซื้ออาหารเช้าใส่ภาชนะที่เตรียมไปเอง ในขณะที่เธอกำลังรับประทานอาหารเช้า จึงเกิดการเปรียบเทียบโต๊ะอาหารของตัวเองที่เต็มไปด้วยภาชนะแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ทำให้เธอรู้สึกตกใจและอดไม่ได้ที่จะสงสัยว่า ขยะเหล่านี้ไปอยู่ไหน? ด้วยเหตุนี้คุณหลวี่เจียหลิงจึงเดินทางไปที่ชายหาดเผิงหูและได้เห็นกับตาว่า ชายหาดเต็มไปด้วยขยะที่เก็บไม่หมด นั่นยิ่งทำให้เธอเกิดความตั้งใจแน่วแน่ว่า จะดำเนินชีวิตตามวิถีในการลดขยะเหลือศูนย์

ตอนแรกคู่สามีภรรยามักจะทะเลาะกันบ่อยๆ เพราะวิธีการของคุณหลวี่เจียหลิงคือ หากสามีอายที่จะต้องพกภาชนะไปเอง เธอจะเป็นคนไปซื้อ เวลาที่พาพ่อแม่ไปตลาด ก็จะช่วยพวกเขาเตรียมภาชนะและช่วยบรรจุของซื้อลงไป เพราะคนที่มีความคิดอยากลดขยะคือตัวเธอเอง ดังนั้นจะขอให้คนอื่นมาทำในสิ่งที่เธอต้องการไม่ได้

คุณเซียวจวิ้นเยี่ยนเคยได้รับคำชมจากเจ้าของร้านเนื่องจากนำหม้อไปซื้อไก่ทอด อีกทั้งยังได้ของแถมกลับมาหลายอย่าง เมื่อเห็นข้อดีที่แฝงอยู่ จึงทำให้เขามีความเต็มใจที่จะมีส่วนร่วมมากขึ้น คุณหลวี่เจียหลิงเตรียมเนื้อคุณภาพดีเป็นอาหารให้กับแมวที่เลี้ยงอยู่ ถือเป็นการลดบรรจุภัณฑ์ของอาหารแมว นอกจากนี้ ยังทำให้แมวได้กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพด้วย แมวจะขับถ่ายบนทรายที่ทำจากขี้เลื่อยซึ่งย่อยสลายได้ เมื่อเก็บทรายแมวที่ใช้แล้วมารวมกับขยะเศษอาหารก็จะนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก นำสิ่งของที่เป็นธรรมชาติกลับคืนสู่ผืนดิน หลีกเลี่ยงไม่ให้กลายเป็นขยะที่ต้องเผา คุณหลวี่เจียหลิงเคยคำนวณปริมาณขยะของที่บ้านซึ่งมี 2 คน บวกกับแมวอีก 7 ตัวว่า มีปริมาณขยะต่อเดือนเพียง 104 กรัม เมื่อเปรียบเทียบดูแล้วพบว่า มีน้ำหนักเบายิ่งกว่ากระดาษทิชชู 1 ห่อเสียอีก

เดินคนเดียวเดินได้เร็ว เดินเป็นกลุ่มเดินได้ไกล

วิถีชีวิตแบบลดขยะเหลือศูนย์ทำให้คุณหลวี่เจียหลิงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ทั้งหมด เธอชอบไปเดินตลาดสด ซื้อของที่ร้านขายของชำ ไม่เพียงได้ซื้อผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่น แต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการคมนาคมขนส่งด้วย ร้านผักผลไม้จั๋วสือ เป็นหนึ่งในบรรดาร้านค้าที่ขายเฉพาะผักผลไม้ออร์แกนิก ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากคุณหลวี่เจียหลิง จึงไม่ให้ถุงพลาสติกกับลูกค้า แม้ว่าจะหลีกเลี่ยงไม่ได้กับการถูกลูกค้าบ่น แต่คนที่มีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกันก็ยังคงมีอยู่

เพื่อให้คนจำนวนมากเห็นถึงการดำเนินชีวิตภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ไร้ซึ่งขยะ คุณหลวี่เจียหลิงจึงจัดตั้ง “กลุ่มใช้ชีวิตแบบไม่สร้างขยะ” ขึ้นบนอินเทอร์เน็ต การลดขยะเหลือศูนย์ไม่ใช่เป็นการมองว่าพลาสติกเป็นต้นตอของความเลวร้ายทั้งหมด การนำกลับมาใช้ซ้ำต่างหากถึงเป็นแก่นแท้ คุณหลวี่เจียหลิงมองว่า “หากนำมาใช้งานได้คือทรัพยากร แต่หากไม่ได้ถูกนำไปใช้งาน ต่อให้มีราคาแพงแค่ไหนก็ล้วนแต่เป็นขยะทั้งนั้น” ดังนั้นเธอจึงสนับสนุนให้สมาชิกในกลุ่มนำสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้านมาหมุนเวียนแลกเปลี่ยนกัน หากไม่ได้ใช้งานก็นำไปแจกจ่าย ใครมีความต้องการอะไรก็ไปแจ้งเอาไว้บนอินเทอร์เน็ต

นอกจากการลงมือทำด้วยตนเองแล้ว คุณหลวี่เจียหลิงยังจรดปากกาเขียนหนังสือชื่อว่า “Zero Waste ชีวิตที่ลงตัว” บันทึกกระบวนการลดขยะเหลือศูนย์ ซึ่งทำให้เธอได้ทำความรู้จักตัวเองใหม่ และกลับมาเป็นเจ้าของชีวิตของตัวเองอีกครั้ง คุณหลวี่เจียหลิงพูดไปหัวเราะไปว่า เมื่อก่อนคิดแต่ว่าทำอย่างไรถึงจะหาเงินได้เยอะๆ แต่หลังเริ่มดำเนินชีวิตแบบไม่สร้างขยะแล้ว พอลูกค้าเดินเข้ามาซื้อของในร้าน เธอก็จะแนะนำให้แยกแยะระหว่างความจำเป็นกับอาการอยากได้ แม้รายได้จะไม่มากเหมือนเมื่อก่อน แต่ไลฟ์สไตล์ในการลดขยะเหลือศูนย์ได้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ทำให้เธอมีเวลามากขึ้นในการเรียนรู้สิ่งที่เธอรัก ยิ่งไปกว่านั้นคือ มีความคล่องตัวในการใช้ชีวิตมากขึ้นด้วย
 

การลดขยะเหลือศูนย์ทำให้คุณซั่งเจี๋ยและคุณหยางหันเสวี่ยนเข้าใจถึงการรับฟังเสียงของตัวเอง ละทิ้งการไล่ตามวัตถุนิยม และร่วมกันสร้างไลฟ์สไตล์ที่ต้องการด้วยมือของเราเอง

การลดขยะเหลือศูนย์ทำให้คุณซั่งเจี๋ยและคุณหยางหันเสวี่ยนเข้าใจถึงการรับฟังเสียงของตัวเอง ละทิ้งการไล่ตามวัตถุนิยม และร่วมกันสร้างไลฟ์สไตล์ที่ต้องการด้วยมือของเราเอง
 

เป็นตัวเองในแบบที่คุณต้องการ

เราเปลี่ยนฉากมาที่ห้องสตูดิโอขนาดพื้นที่ 9 ผิง หรือประมาณ 29.9 ตร.ม. (ผิงหรือ 坪 คือหน่วยวัดพื้นที่ของไต้หวัน 1 ผิงเท่ากับ 3.33 ตารางเมตร) เมื่อยืนอยู่ตรงทางเดินห้องโถงก็จะมองเห็นได้ทั้งห้องครัว ห้องรับแขก และห้องนอน ห้องเล็กๆ ที่ไม่มีฉากกั้น มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและดูปลอดโปร่งโล่งสบาย ต้นไม้ที่ปลูกได้รับการดูแลใส่ใจอย่างดี ตรงกำแพงบ้านมีภาพถ่ายที่บันทึกเรื่องราวในทุกช่วงเวลาของชีวิต...นี่คือคอนโดไร้ขยะ ที่สร้างขึ้นโดยคู่สามีภรรยาที่เป็นแพทย์ คือ คุณซั่งเจี๋ย (尚潔) และคุณหยางหันเสวี่ยน (楊翰選)

ก่อนได้มาสัมผัสกับไลฟ์สไตล์ในการลดขยะเหลือศูนย์ คุณซั่งเจี๋ยมีตำแหน่งเป็นแพทย์ฝึกหัดทั่วไป การเกิดแก่เจ็บตายภายในห้องผู้ป่วย เป็นสัจธรรมชีวิตซึ่งปรากฏอยู่บนรายงานทางการแพทย์ที่อ่านไม่เคยจบ ชีวิตในแต่ละวันที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายนั้น ไม่อาจเติมเต็มความว่างเปล่าที่อยู่ในหัวใจได้ จนกระทั่งเธอได้ค้นพบวิถีชีวิตลดขยะเหลือศูนย์ของคุณ Bea Johnson บนอินเทอร์เน็ต การที่เธอได้อ่านหนังสือ “บ้านที่ลดขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste Home)” ของคุณ Bea Johnson ทำให้มองเห็นความหมายที่ซ่อนอยู่ภายใต้วิถีชีวิตแบบไม่สร้างขยะ คุณซั่งเจี๋ย อธิบายว่า “การเปลี่ยนโฟกัสในอดีตจากรูปแบบของวัตถุมาเป็นประสบการณ์ ถือเป็นความสุขที่ยั่งยืนกว่าการแสวงหาจากวัตถุสิ่งของ” เดิมทีคิดว่าการลดขยะเหลือศูนย์ ก็เพียงแค่เพื่อช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่คิดไม่ถึงว่าจะได้เจอโอกาสที่ดีขึ้นและกลายเป็นคนที่มีความสุขมากขึ้น คุณซั่งเจี๋ยรู้สึกว่ามีความกระตือรือร้นมากขึ้น เธอเริ่มส่งจดหมายไปถึงผู้เขียนเพื่อสอบถามเรื่องลิขสิทธิ์ จากนั้นก็พาตัวเองไปแนะนำกับสำนักพิมพ์ต่างๆ ในที่สุด ผู้หญิงคนนี้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการแปลมาก่อน ก็สามารถแปลหนังสือ Zero Waste Home เป็นฉบับภาษาจีนได้สำเร็จ และเริ่มต้นฝึกฝนการเดินทางบนวิถีชีวิตในการลดขยะให้เหลือศูนย์

คุณซั่งเจียทำการแปลหนังสือไปพร้อมๆ กับพยายามดำเนินชีวิตแบบไม่สร้างขยะ ตั้งแต่เตรียมภาชนะไปเอง พกถุงผ้า ไปจนถึงการนำของใช้ในชีวิตประจำวันกลับมาใช้ซ้ำ ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากความเคยชินเดิมๆ คุณหยางหันเสวี่ยนกล่าวว่า วิธีการของเราคือเลือกสิ่งที่สามารถทำได้ตอนนี้ อย่างเช่น เมื่อเราอยากดื่มกาแฟ เพียงเปลี่ยนวิธีการมาเป็นพกแก้วน้ำไปเอง ก็จะสามารถลดการทิ้งขยะลงได้ การเดินตามเส้นทางอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หากทำการเปลี่ยนปัจจัยสี่ทุกอย่างพร้อมกันทั้งหมดในทีเดียว กลับจะยิ่งทำให้เกิดความเครียดและแรงกดดันที่ส่งผลในทางตรงกันข้าม

ปล่อยให้ทุกสิ่งกลับคืนสู่ความต้องการ

ตั้งแต่ปีค.ศ.2016 ที่เริ่มดำเนินการลดขยะเหลือศูนย์ คุณซั่งเจี๋ยและคุณหยางหันเสวี่ยนต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ท้าทาย การไม่สร้างขยะของทั้งคู่ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงาน การย้ายบ้าน การเสียชีวิตของคนที่รัก การตั้งครรภ์คลอดบุตร และการเลี้ยงลูก เป็นต้น อย่างตอนแต่งงาน คุณซั่งเจียก็สวมชุดแต่งงานสีขาวเพียงชุดเดียวตลอดจนจบพิธี ส่วนคุณหยางหัน เสวี่ยนก็สวมสูทชุดเก่าที่จ่ายค่าแก้ไป 250 เหรียญไต้หวัน ทั้งยังขอให้แขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานพกภาชนะมาเอง เมื่อรับประทานไม่หมดก็สามารถห่อกลับไปได้เลย หรือแม้แต่ของชำร่วยก็ยังใช้ถุงตาข่ายที่สานด้วยเชือกป่านมาใส่ผลไม้ที่เพาะปลูกในท้องถิ่น ความเฉลียวฉลาดของทั้งคู่ทำให้งานวิวาห์จบลงไปโดยปราศจากขยะ

ทั้งสองไม่ได้ทำแค่ไม่สร้างขยะ แต่ยังหวนกลับไปสู่แก่นแท้เดิมที่ต้องการ คือการค้นหาวิธีการลดขยะ อาทิ การเลือกทำคลอดเองที่บ้านและนำผ้าขนหนูจำนวนมากมาใช้เพื่อลดการใช้แผ่นรองคลอด การพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบถึงจำนวนผลิตภัณฑ์เด็กที่ต้องการใช้ เลือกผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ และเลือกซื้อสินค้ามือสองก่อน หรือใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการลงมือทำเอง ซึ่งสามารถช่วยโลกประหยัดทรัพยากรได้เป็นจำนวนมาก

แท้จริงแล้วความสุขนั้นง่ายมาก

สามีภรรยาคู่นี้ คนหนึ่งเป็นแพทย์แผนตะวันตก อีกคนหนึ่งเป็นแพทย์แผนจีน พวกเขาไม่ได้เลือกอาศัยอยู่ในคฤหาสน์ราคาหลายสิบล้าน แต่เลือกเช่าบ้านในพื้นที่ใช้สอยตามความต้องการ และความสะดวกในการเดินทาง เนื่องจากต้องหาตู้เสื้อผ้าที่มีขนาดเหมาะสม ทั้งคู่จึงใช้เวลาประมาณสองเดือนในการพิจารณาความต้องการอย่างสุขุม ในที่สุด พวกเขาเลือกชั้นวางกับราวแขวนเสื้อผ้ามาประกอบเข้าด้วยกัน กลายเป็นตู้เสื้อผ้าแบบเปิดตามอุดมคติ กิ่งไม้ที่เก็บได้จากริมถนนเมื่อนำมาจัดระเบียบใหม่ก็กลายเป็นของประดับตกแต่งห้องนั่งเล่นที่สวยงาม ค่อยๆ ทำทีละเล็กทีละน้อยจนได้เป็นบ้านที่แสนสบายน่าอยู่ ให้ความรู้สึกเพลิดเพลินไปกับความสำเร็จและความสุขในขั้นตอนต่างๆ ที่ได้ลงมือปฏิบัติ

คุณซั่งเจี๋ยที่ทำงานในคลินิกแพทย์แผนจีนเลือกที่จะไม่ให้รับนัดกับผู้ป่วยจนเต็มเวลา เพื่อให้ตนเองมีเวลาว่างในการเขียนบทความ และได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือออกมาในปีนี้ชื่อว่า “ชีวิตในคอนโดที่ไร้ขยะ” ที่แชร์เรื่องราวของทั้งคู่ การฝึกฝนชีวิตบนเส้นทางลดขยะเหลือศูนย์ ผ้าเช็ดมือ อุปกรณ์รับประทานอาหาร แก้วน้ำ ภาชนะ และถุงหิ้วที่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ เป็นสิ่งของมีประโยชน์สำหรับไลฟ์สไตล์ลดขยะเหลือศูนย์ที่คุณซั่งเจี๋ยแบ่งปันให้ทราบ เขาสนับสนุนให้ทุกคนยอมรับความท้าทายโดยเริ่มต้นจากการใช้สิ่งของ 5 อย่างดังกล่าวตลอดทั้งวัน หากรอบตัวไม่มีสิ่งของดังกล่าว ก็อย่าเพิ่งรีบซื้อ ลองสอบถามกับญาติพี่น้องเพื่อนฝูงก่อนเพราะบางทีคุณอาจได้รับมันมาอย่างไม่คาดคิดก็เป็นได้

คุณซั่งเจี๋ยกล่าวว่า “วิถีชีวิตลดขยะเหลือศูนย์สามารถเริ่มต้นได้ตลอดเวลา ทีละขั้น ทีละตอน โดยเริ่มจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ จนเมื่อคุณทำได้นานขึ้น คุณจะยิ่งมีความเชื่อมั่นและมีความกล้ามากขึ้น” ไลฟ์สไตล์ลดขยะเหลือศูนย์ไม่จำเป็นต้องทำเพื่อดำเนินภารกิจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นการทำเพื่อให้ตัวเองมีชีวิตที่ดีขึ้น และเพลิดเพลินไปกับความสุขบนวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เท่านี้ก็ถือว่าคุ้มค่าที่จะลองแล้ว