ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
กต.ไต้หวันจัดละครเวทีเรื่อง “แม่ของผมคือ Eny ?” ซึ่งเป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิด “ให้คนเป็นศูนย์กลาง” ของนโยบายมุ่งใต้ใหม่
2022-02-25
New Southbound Policy。กต.ไต้หวันจัดละครเวทีเรื่อง “แม่ของผมคือ Eny ?” ซึ่งเป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิด “ให้คนเป็นศูนย์กลาง” ของนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
กต.ไต้หวันจัดละครเวทีเรื่อง “แม่ของผมคือ Eny ?” ซึ่งเป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิด “ให้คนเป็นศูนย์กลาง” ของนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 24 ก.พ. 65
 
เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จัดการแสดงละครเวทีเรื่อง “แม่ของผมคือ Eny ?” ขึ้น ณ “ศูนย์วัฒนธรรมสถาบันภาพยนตร์และโสตทัศนูปกรณ์ไต้หวัน” (TFAI) โดยมีนายเถียนจงกวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นประธานในกิจกรรม นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูงเข้าร่วมมากมาย อาทิ นายเติ้งเจิ้นจง รัฐมนตรีประจำสภาบริหาร นายหวังซ่างจื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน นางสวีเจียชิง รองประธานคณะกรรมการกิจการชาวจีนโพ้นทะเล นายเหลียงกั๋วฮุย รองผู้อำนวยการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกสภานิติบัญญัติเข้าร่วมด้วย อาทิ นางหลัวเหม่ยหลิง นางถังฮุ่ยเจิน นายเหอจื้อเหว่ย อีกทั้งยังมีตัวแทนจากหน่วยงานของกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก รวมไปถึงเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์วัฒนธรรม TFAI ตลอดจนเจ้าหน้าที่จากองค์การนอกภาครัฐ และตัวแทนเจ้าหน้าที่กลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ซึ่งภายในกิจกรรม มีผู้เข้าร่วมรวมกว่า 150 คน
  
รมช.เถียนฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า ไต้หวันเป็นสังคมที่เปิดรับชาวต่างชาติที่อพยพย้ายถิ่นมาพำนักอาศัย โดยบรรดาแรงงาน นักเรียนนักศึกษา และคู่สมรสของประชาชนชาวไต้หวัน ที่มาจากกลุ่มประเทศเอเชียอาคเนย์ ที่มาพำนักอาศัยและใช้ชีวิตบนผืนแผ่นดินแห่งนี้ ได้ส่งเสริมให้วัฒนธรรมในไต้หวันและการพัฒนาทางสังคมมีความหลากหลายมากขึ้น อีกทั้งเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไต้หวัน ตลอดจนเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในเชิงลึกระหว่างภาคประชาชนของไต้หวันและกลุ่มประเทศเอเชียอาคเนย์ด้วย เนื่องจากชาวไต้หวันมีนิสัยใจคอที่เปิดกว้างในการยอมรับซึ่งกันและกันอย่างเป็นมิตร ส่งผลให้ไต้หวันได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับ 1 ของประเทศที่มีความเป็นมิตรมากที่สุดในโลก ซึ่งไต้หวันไม่เพียงแต่เป็นประเทศเป้าหมายที่ประชาชนในกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ต้องการมุ่งหน้ามาพำนักอาศัย ประกอบธุรกิจหรือเดินทางมาเข้ารับการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นบ้านหลังที่ 2 (home away from home) สำหรับทุกคนอีกด้วย
 
ละครเวทีเรื่อง “แม่ของผมคือ Eny?” นำเสนอให้เห็นถึงเรื่องราวของแรงงานชาวอินโดนีเซีย ที่ก้าวเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวชาวไต้หวัน เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ โดยเริ่มแรก สมาชิกในครอบครัวต่างรู้สึกเป็นกังวล เกิดความสงสัยและไม่เชื่อใจต่อแรงงานผู้นี้ จนค่อยๆ แปรเปลี่ยนมาเป็นการยอมรับ ห่วงใย และให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในท้ายที่สุด โดยละครเวทีเรื่องนี้สร้างขึ้นและจัดการแสดงโดยบริษัท AMCreative ซึ่งเป็นคณะละครที่มีคุณภาพของไต้หวัน ซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงโดยตรงและลึกซึ้งที่สุด ระหว่างชาวไต้หวันและชาวอาเซียนแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นทางสังคมเกี่ยวกับการที่สมาชิกครอบครัว 3 รุ่นพักอาศัยอยู่ร่วมกันอีกด้วย
 
Mr. Budi Santoso ผู้แทนรัฐบาลอินโดนีเซียประจำกรุงไทเป กล่าวย้ำขณะปราศรัยว่า “ผู้ดูแลผู้สูงอายุ” มีนัยยะที่พิเศษกว่าการเป็นเพียงแรงงานทั่วไป นับเป็นการเชื่อมประสานและสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน โดยละครเวทีเรื่องนี้ถ่ายทอดให้เห็นถึงบทบาทของผู้ดูแลผู้สูงอายุชาวอินโดนีเซียในสังคมไต้หวัน ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ระหว่างชาวไต้หวันและอินโดนีเซียด้วย
 
นางหลัวเหม่ยหลิง สมาชิกสภานิติบัญญัติ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ที่เป็นชาวจีนโพ้นทะเลจากมาเลเซีย ก็ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ โดยได้พบปะกับนางเอกของละครเวทีเรื่องนี้ ซึ่งเป็นชนเผ่าไท่หย่า (Atayal) ที่มีชื่อและแซ่เช่นเดียวกันกับตนเอง โดยนาง “หลัวเหม่ยหลิง” ทั้ง 2 ท่านนี้ ท่านหนึ่งเป็นกลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ส่วนอีกท่านเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองของไต้หวัน ได้ทยอยกล่าวขอบคุณแรงงานจากอาเซียนที่อาสาเดินทางมาช่วยดูแลผู้สูงวัยในครอบครัวชาวไต้หวัน พร้อมคาดหวังว่า สังคมไต้หวันจะให้การต้อนรับและยอมรับแรงงานต่างชาติเหล่านี้ เข้าเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งในครอบครัว และเชื่อว่าจะเป็นการสะสมพลังแห่งความดีให้กับไต้หวันเพิ่มมากขึ้น
 
รัฐบาลไต้หวันได้ผลักดัน “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา และยึดมั่นในแนวคิด “ให้คนเป็นศูนย์กลาง” เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างไต้หวันกับกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ โดยกิจกรรมในครั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ตั้งใจเลือกหัวข้อที่เกี่ยวกับ “แรงงาน” มาถ่ายทอดโดยใช้ละครเวทีเป็นสื่อกลาง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องตามแนวคิดของ “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” ผ่านวิธีการที่นุ่มนวลและเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงพลังแห่งความอบอุ่นในด้านสิทธิมนุษยชน การยอมรับซึ่งกันและกัน และค่านิยมที่หลากหลายแล้ว ยังยึดถือ “คน” เป็นศูนย์กลาง ในการเชื่อมโยงจิตใจของชาวไต้หวันและชาวอาเซียนเข้าไว้ด้วยกัน